วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (11) khaosod

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (11)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)


นอก จากปรโตโฆษะและโยนิโสมนสิการแล้ว อันที่จริงยังมีองค์ประกอบแทรกที่มาช่วยหนุนอีก 5 ตัว ซึ่งอยู่ในกระบวนการฝึกขั้นก่อนที่จะเข้าสู่มรรคด้วย จึงรวมกันมีทั้งหมด 7 ตัว คือ 1.กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร) ได้แก่ ปรโตโฆษะที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ที่ได้กล่าวไปแล้ว 2.ศีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) คือ ความเป็นผู้มีวินัย หรือชีวิตที่มีระเบียบ หรือมีพฤติกรรมเคยชินที่ดี ซึ่งเกิดจากการใช้วินัยมาฝึกให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี ด้วยการจัดระเบียบชีวิต และจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้มีสภาพซึ่งเอื้อโอกาสต่อการที่จะดำเนินการพัฒนาต่อๆ ไป

3.ฉันท สัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ) คือ มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ได้แก่ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ต้องการเข้าถึงความจริง และทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงามเป็นเลิศ ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่แทนตัณหา 4.อัตตสัมปทา (ความทำตนให้ถึงพร้อม) คือการทำตนให้ถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ โดยมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ 5.ทิฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยหลักการแห่งความเชื่อถือ) คือเชื่อถือในหลักการแห่งเหตุผลหรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมองอะไรก็มองตามเหตุปัจจัย ซึ่งทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้น เพราะเป็นผู้ที่คิดหาเหตุผลอยู่ตลอดเวลา

6.อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท) คือ ความกระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา มีสติ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่พลาดโอกาส โดยเฉพาะความมีจิตสำนึกตระหนักในความเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เห็นคุณค่า ของกาลเวลา และรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนทำงานและพัฒนาชีวิตแข่งกับเวลา 7.โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ) การรู้จักมนสิการ หรือรู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง ไม่มองอะไรข้ามๆ พร่าๆ คลุมๆ แต่รู้จักคิดสืบสาวหาเหตุปัจจัย แยกแยะให้เห็นองค์ประกอบ จับแง่ดีมาใช้ประโยชน์ได้ และรู้จักโยงให้เห็นองค์รวมหรือสร้างองค์ความรู้ความคิดใหม่ได้ ทำให้เกิดปัญญาที่เข้าถึงความจริง ได้ประโยชน์ และทำการสำเร็จ สนองความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ได้โดยสมบูรณ์

องค์ประกอบหรือ ปัจจัยฝึกทั้ง 7 ตัวที่กล่าวมานั้น รวมเรียกว่าบุพนิมิตของมรรค เป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าถึงการมาของมรรค เป็นจุดเริ่มที่จะนำเข้าสู่มรรค คือวิถีชีวิตที่ดีงามของผู้มีการศึกษา ในการศึกษานั้นเราเอาปัจจัยตัวแรกคือ กัลยาณมิตร มาช่วยชักนำ หรือกระตุ้นให้เกิดปัจจัยตัวอื่น ตั้งแต่ตัวที่ 2 จนถึงตัวที่ 7 การที่จะมีกัลยาณมิตรนั้น

จัดแยกได้เป็นการพัฒนา 2 ขั้นตอน ขั้นแรก กัลยาณมิตรนั้นเกิดจากผู้อื่นหรือสังคมจัดให้ ซึ่งจะทำให้เด็กอยู่ในภาวะที่เป็นผู้รับและยังมีการพึ่งพามาก แต่เมื่อเด็กพัฒนามากขึ้นก็จะเข้าสู่ขั้นที่สอง คือเด็กเกิดมีโยนิโสมนสิการ แล้วเขารู้จักเลือกหากัลยาณมิตรเอง โดยที่เขามองเห็นคุณค่าของแบบอย่างหรือแหล่งความรู้ที่ดี เขาจะนิยมแบบอย่างที่ดี รู้จักปรึกษาไต่ถาม เขาจะเลือกสรรหาคนที่จะเข้าไปปรึกษา รู้จักหาแหล่งความรู้ รู้จักเลือกอ่านหนังสือที่ดี รู้จักเลือกชมรายการโทรทัศน์ที่ดีมีประโยชน์ พัฒนาการในขั้นที่เขาเป็นฝ่ายเลือกหาและเข้าหากัลยาณมิตรเองนี้ เป็นความหมายของความมีกัลยาณมิตรที่ต้องการในที่นี้ และเมื่อถึงขั้นนี้แล้วเขาจะสามารถทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้ ด้วย ซึ่งเป็นจุดต่อสู่การมีส่วนร่วมใน การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามและการพัฒนาสังคม

ถ้าบุคคลมีปัจจัย 7 ข้อนี้แล้วก็เชื่อมั่นได้เลยว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีงามและกระบวนการศึกษาจะ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนขยายของมรรค หรือของไตรสิกขานั้นเอง ที่ยื่นออกมาเชื่อมต่อเพื่อรับหรือดึงเอาคนเข้าสู่กระบวนการฝึกฝนพัฒนา มันเป็นตัวเร่ง เป็นตัวเสริมประสิทธิภาพ ที่จะนำเข้าสู่ไตรสิกขา และคอยเสริมให้การฝึกในไตรสิกขาได้ผลดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น