วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ฟังธรรม khasod

ฟังธรรม

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


วันนี้ เป็นวันพระหรือวันฟังธรรม ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ยังอยู่ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ ไม่จาริกไปที่ไหนๆ เพื่อปฏิบัติธรรมและศึกษาเล่าเรียนและให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปสั่งสมบุญกุศล และทำบุญได้อย่างเต็มที่

การบำเพ็ญบุญกุศล คุณงามความดี ในทางพระพุทธศาสนา ท่านแยกไว้หลายประการ แต่สรุปแล้ว มีอยู่ 3 อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา

ทาน ได้แก่ การบริจาค แบ่งปันเสียสละ เมื่อได้บำเพ็ญ ให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลส คือความโลภให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้

ศีล ได้แก่ การปฏิบัติกาย วาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม ในความสงบเรียบร้อย ตามกฎระเบียบ ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม และเมื่อได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลสคือความโกรธให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้

ภาวนา ได้แก่ การทำจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นการเจริญปัญญาหรือจิตใจ พัฒนาจิตใจเพื่อให้เข้าถึงทางแห่งชีวิตตามความเป็นจริง ให้รู้จักการดำเนินชีวิต ตลอดถึงปฏิบัติต่อตนและคนอื่นด้วยความถูกต้อง และเมื่อได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลสคือความหลงให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้

การฟังธรรม นอกจากจะเป็นการส่งเสริมคุณธรรมในส่วนแห่งทานและศีล อันเป็นบุญกุศลขั้นพื้นฐานและขั้นกลาง ที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลในส่วนแห่งภาวนา อันเป็นบุญกุศลขั้นสูงสุด ที่ทำให้มีผลไพบูลย์ยิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะการฟังธรรมนั้น เป็นการพัฒนาปัญญา หรือพัฒนาจิตใจ อันเป็นการพัฒนาในส่วนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้ 5 ประการ คือ

1. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

2. ทำสิ่งที่ฟังแล้วไม่เข้าใจให้เข้าใจชัดขึ้น

3. บรรเทาความสงสัยเสียได้

4. ทำความเห็นให้ถูกต้อง

5. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

ดัง นั้น การฟังธรรม จึงมีอุปการะแก่ผู้ที่มุ่งบำเพ็ญคุณงามความดีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเกื้อกูลแก่การพัฒนาความเป็นอยู่ของตน ครอบครัว ตลอดถึงสังคม ไม่ให้หลงทาง แต่ให้ดำเนินไปถูกทางอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและทรงไว้ ซึ่งคุณธรรม

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น