วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (10) khaosod

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (10)

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


กระบวน การของการศึกษา หรือระบบการพัฒนาบุคคล กระบวนการที่จะพัฒนาบุคคลนั้นแยกได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนการพัฒนา และขั้นตอนในกระบวนการพัฒนา แต่ละขั้นตอนมีหลักการสำคัญดังนี้

1.ขั้นนำสู่สิกขา คือขั้นก่อนที่จะเข้าสู่ไตรสิกขา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขั้นก่อนมรรค เพราะมรรคหรือเรียกให้เต็มว่ามรรค มีองค์ 8 นั้น ก็คือ ไตรสิกขาที่มองในแง่เป็นวิถีชีวิตนั่นเอง หมายความว่า สิกขา คือการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนา มรรค คือวิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตที่ดี ไตรสิกขา เป็นการศึกษาที่ฝึกฝนพัฒนาคน พัฒนาอย่างไร ก็เพื่อให้เขาดำเนินชีวิตได้อย่างนั้นนั่นเอง

เมื่อมองในแง่ของ มรรค ก็เริ่มจากสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบซึ่งเป็นปัญญาในระดับหนึ่ง ปัญญาในขั้นนี้เป็นความเชื่อและความเข้าใจในหลักการทั่วๆ ไป โดยเฉพาะความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือการถือหลักการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นความเชื่อถือที่เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา ทำให้มีการพัฒนาต่อไปได้ ในทางตรงข้าม ถ้ามีความเชื่อมีทิฐิที่ผิด ก็จะตัดหนทางการพัฒนาไปเลย

เช่น ถ้าเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปเองแล้วแต่โชค หรือเป็นเพราะการดลบันดาล ความเชื่ออย่างนี้ไม่เป็นสัมมาทิฐิ และถ้าเชื่ออย่างนี้แล้วก็ทำให้พัฒนาไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปทำไม ดังนั้น ในกระบวนการฝึกฝนพัฒนาบุคคลเมื่อเริ่มต้นจึงต้องมีปัญญาอยู่บ้าง นั่นคือปัญญาในระดับของความเชื่อในหลักการที่ถูกต้อง

คราวนี้สิ่ง ที่น่าพิจารณาต่อไป ก็คือว่า สัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานหรือเป็นจุดเริ่มให้คนมีการฝึกฝนพัฒนาต่อไปได้นี้ จะเกิดขึ้นในตัวบุคคลได้อย่างไร คือมีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้บุคคลเกิดมีสัมมาทิฐิ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิ 2 ประการ 1.ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆษะ 2.ปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ

หลัก การนี้หมายความว่า การมีสัมมาทิฐิอาจจะเริ่มจากปัจจัยภายนอก เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ หรือวัฒนธรรม ซึ่งทำให้บุคคลนั้นได้รับอิทธิพลจากความเชื่อ ความคิดนึก ความเข้าใจ ภูมิธรรมภูมิปัญญา และพฤติกรรมที่ถ่ายทอดต่อกันมา ถ้าสิ่งที่ได้รับจากการแนะนำสั่งสอนถ่ายทอดมานั้นเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง อยู่ในแนวทางของเหตุผล ก็เป็นจุดเริ่มของสัมมาทิฐิ ที่จะนำเข้าสู่กระแสการพัฒนาหรือกระบวนการฝึก

ในกรณีอย่างนี้ สัมมาทิฐิเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เรียกว่า ปรโตโฆษะ

ถ้า ไม่เช่นนั้น บุคคลอาจจะเข้าสู่กระแสการพัฒนาโดยเกิดปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฐินั้นด้วย การใช้โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณาด้วยตนเอง แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าสู่กระแสการพัฒนาด้วยปรโตโฆษะ เพราะคนที่มีโยนิโสมนสิการแต่แรกเริ่มนั้นหาได้ยาก

คำว่า ปรโตโฆษะ ต่างระหว่างบุคคล ดังเช่นในหลักบุคคล 4 ประเภท และขึ้นอยู่แปลว่า เสียงจากผู้อื่น คืออิทธิพลจากภายนอก เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ คืออาจจะดีหรือชั่ว ถูกหรือผิดก็ได้ ถ้าปรโตโฆษะนั้นเป็นบุคคลที่ดี เราเรียกว่า กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปรโตโฆษะชนิดที่กลั่นกรองแล้ว และเราได้เลือกสรรที่จะนำมาใช้งานจริงๆ ในการศึกษา ปรโตโฆษะโดยทั่วๆ ไปก็ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง ครูอาจารย์ สื่อมวลชน และการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในสังคม ถ้าบุคคลและสถาบันเหล่านี้เป็นปรโตโฆษะที่ดีก็จะนำเด็กไปสู่สัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ดีต่อไป

อย่างไรก็ตาม คนที่พัฒนาดีแล้วจะมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ พึ่งตนเองได้โดยมีอิสรภาพ แต่คุณสมบัตินี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเขารู้จักใช้ปัจจัยภายใน เพราะถ้าเขายังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ก็คือ การที่ยังต้องพึ่งพา ยังไม่มีอิสรภาพ จึงยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น จุดเน้นจึงอยู่ที่ปัจจัยภายใน แต่เรานำเอาปัจจัยภายนอกมาเป็นตัวสื่อในเบื้องต้น เพื่อช่วยชักนำให้คนสามารถใช้โยนิโสมนสิการ จนมีปัจจัยภายในของตัวเขาเอง เมื่อเรารู้หลักนี้แล้วเราก็นำเอากัลยาณมิตรมาช่วยสร้างโยนิโสมนสิการให้คน นั่นคือเป็นการอาศัยปรโตโฆษะ โดยเฉพาะกัลยาณมิตรเป็นตัวนำให้เข้าถึง โยนิโสมนสิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น