วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (8) khaosod

จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (8)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ใน การศึกษา คนทั่วไปมักแยกไม่ออกระหว่างความอยาก 2 ประเภทนี้ แล้วก็พูดกราดไปว่าความอยากเป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ความอยากประเภทที่ 2 คือ ฉันทะนี้ เป็นความอยากที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำชีวิตไปสู่จุดหมายที่ดีงาม เป็นองค์ธรรมสำคัญมาก

ในการที่จะบำเพ็ญไตรสิกขา หรือทำสิ่งต่างๆ จะต้องมีฉันทะ ถ้าขาดฉันทะไปก็สำเร็จได้ยาก แต่ฉันทะต้องอาศัยปัญญา รู้ว่าอะไรดีมีคุณค่าเป็นประโยชน์แท้จริง ฉันทะ ก็อยากทำให้เกิดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีปัญญาคือไม่รู้ฉันทะก็เกิดไม่ได้ ต่างจากตัณหาที่ไม่ต้องอาศัยปัญญา อะไรถูกตา ถูกหู ถูกลิ้น ถูกใจ ตัณหาก็อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น ตัณหาจึงอยู่ด้วยกันกับอวิชชา แต่พอปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่าสิ่งที่ถูกใจนั้นเป็นโทษเป็นอันตรายต่อชีวิตตัณหา ก็หายไป ปัญญารู้ว่าอะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริง

ฉันทะก็เกิด ขึ้นในสิ่งนั้น ดังนั้นปัญญาพัฒนาไป ฉันทะก็พัฒนาควบคู่ไปด้วย ในทางการศึกษา ถ้าจับจุดนี้ไม่ได้ ก็พูดได้เลยว่า การศึกษานั้นพลาด เสียหลักไปแล้วตั้งแต่ต้นทาง จึงยากจะสำเร็จผลด้วยดี

เพื่อให้ รู้จักแยกระหว่างความอยาก 2 ประเภทนี้ อาจให้ความหมายอย่างง่ายๆ ว่า 1.ตัณหา คือ ความอยากในรสชาติ ที่เวทนาบอกเสนอ (=ความอยากที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา) 2. ฉันทะ คือ ความอยากในคุณค่าที่ปัญญาบอกเสนอ (=ความอยากที่เกิดจากการศึกษา) คนเกิดมา ไม่ต้องมีการศึกษา ไม่ต้องมีความรู้ไม่ต้องพัฒนาเลย ก็มีตัณหา สามารถอยากเสพรสสุขเวทนา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ แต่พฤติกรรม ที่เป็นไปตามบงการของตัณหา จะมีผลในทางเพิ่มทุกข์ ก่อปัญหาไม่คุ้มกับความสุขที่ได้

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการศึกษาเพื่อ พัฒนาให้ไม่เป็นอยู่อย่างมืดบอดด้วยอวิชชา และวิ่งพล่านไปด้วยตัณหา เมื่อคนมีการศึกษาได้พัฒนาขึ้น เกิดปัญญารู้ว่าอะไรดีแท้จริง ก็เกิดฉันทะอยากใน สิ่งนั้น แล้วทำไปตามฉันทะนั้น ก็ทำให้ปัญหาไม่เกิดขึ้น หรือถ้ามีปัญหาก็แก้ปัญหานั้นได้ เรียกว่า ไร้ทุกข์ หรือปลอดทุกข์ (นิยมใช้กันมาว่าดับทุกข์) จากที่กล่าวมา จึงสรุปกระบวนการแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ได้เป็น 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 (ไร้การศึกษา): อวิชชา + ตัณหา -------------' พฤติกรรมสร้างทุกข์ (ก่อปัญหา)

แบบที่ 2 (มีการศึกษา): ปัญญา + ฉันทะ --------------' พฤติกรรมสลายทุกข์ (แก้ปัญหา)

กระบวน การแบบที่สองเป็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์ คือทันทีที่มนุษย์รู้จักคิดเขาก็เริ่มมีการศึกษา และเมื่อนั้นปัญญาก็เกิดขึ้น ตัวแกนสำคัญของการพัฒนาก็คือปัญญา เพราะทำให้รู้จักสิ่งทั้งหลายและรู้ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร แต่พร้อมกับที่ปัญญาเกิดขึ้นนั้นก็มีการปรับตัวเกิดขึ้นทั้งองคาพยพ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพครบทั่วองค์รวม คือมิใช่พัฒนาแต่ปัญญา พฤติกรรมก็พัฒนาด้วย พฤติกรรมจะเปลี่ยนไป แล้วจิตใจก็พัฒนาด้วย คือจิตใจเปลี่ยนไป

เช่นเปลี่ยนจากความอยากด้วยตัณหามาเป็นความอยาก ด้วยฉันทะเป็นต้น และมีความสุขความพอใจอย่างใหม่เกิดขึ้น นั่นคือพอใจเมื่อได้ทำตามที่ปัญญาบอก ได้ทำตามเหตุตามผลที่ดี เกิดความสุขความพอใจด้วยฉันทะ เป็นการพัฒนาจิตใจ เพราะฉะนั้น การพัฒนาจะเป็นไปพร้อมกันทั้ง 3 ด้าน คือ พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา

การพัฒนาทั้ง 3 อย่างนี้จะต้องอิงอาศัยและเสริมซึ่งกัน และกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ถึงตอนนี้ เราสามารถให้ความหมายของการศึกษาได้ในระดับหนึ่งว่า การศึกษา คือการพัฒนาคนให้พ้นจากการมีชีวิตภายใต้บงการของตัณหาที่จะดิ้นรนแสวงหาสุข เวทนาและหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา บนฐานของความไม่รู้คืออวิชชา ที่ทำให้เวียนวนอยู่ในตาข่ายของการก่อปัญหาเพิ่มทุกข์ ไปสู่การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งทำให้เกิดมีฉันทะ ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง

ทำให้เกิดความเป็นอิสระไร้ทุกข์ปราศจากปัญหา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น