วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สุขเพราะประพฤติธรรม khaosod

สุขเพราะประพฤติธรรม


คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


"ผู้ใดมีปกติประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา และใจ เทวดาและปวงชน ย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้ ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสุคติโลกสวรรค์"

คำ ว่า ธรรม หมายถึง สภาพที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติ แยกเป็นสภาพที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ 5 และสภาพที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ พระนิพพาน

หลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปประพฤติ เพื่อให้เกิดความสุข ความเจริญในชีวิต คือ หลักธรรม 10 ประการ อันได้แก่

1.ทาน คือ การสละทรัพย์สิ่งของ เพื่อแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อสังคมส่วนรวมตลอดถึงประเทศชาติ

2.ศีล คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย การควบคุมพฤติกรรมของตนให้เป็นปกติ และการรักษาความสุจริตแห่งตนให้บริสุทธิ์

3.ปริ จจาคะ คือ การบริจาค การเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม การบำเพ็ญกิจด้วยความเสียสละและการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้เกิดขึ้น

4.อาชชวะ คือ ความซื่อตรง ความจริงใจต่อกัน มีจิตใจที่ซื่อสัตย์สุจริต ช่วยเหลือกันด้วยความจริงใจและซื่อตรง ไม่มีมายาหลอกลวง

5.มัท ทวะ คือ ความอ่อนโยน ความมีอัธยาศัยและพฤติกรรม ที่สุภาพ นุ่มนวล น่ารัก ไม่มีทิฐิมานะ ถือตัว ความเป็นผู้มีกิริยามารยาทอ่อนโยนอยู่เสมอ

6.ตบะ คือ การเผากิเลส ตัดอกุศล บำเพ็ญเพียร เพื่อแผดเผากิเลสตัณหา ไม่ให้เข้ามาย่ำยีจิตใจ ตลอดถึงการตั้งใจบำเพ็ญเพียร เพื่อทำภารกิจของตนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

7.อักโกธะ คือ ความไม่โกรธเคือง มีเมตตาธรรมเป็นเครื่อง กั้น ไม่ลุอำนาจแก่โทสะ จนเป็นเหตุให้ปราศจากสติและปัญญา มีความยั้งคิดในการกระทำต่างๆ

8.อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน มีความกรุณาเป็นเครื่องกำจัด ไม่บีบคั้นกดขี่กันและกัน หรือใช้แรงงานเกินควร โดยไม่มีความกรุณาปรานีต่อกัน

9.ขันติ คือ ความอดทน กล่าวคือ อดทนต่อกิจทั้งปวงที่จะต้องทำด้วยความยากลำบาก อดทนต่อความเป็นไปของโลกธรรม ที่หมุนเวียนไปตามโลกอยู่ตลอดเวลา คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์

10.อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดจากธรรม ความไม่ยินดี ยินร้าย กล่าวคือการดำรงตนให้ตั้งอยู่ในอุเบกขาธรรม ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนา หรืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา

หลักธรรม 10 ประการดังกล่าวมานี้ เมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติเป็นประจำ ย่อมนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้แก่ผู้นั้นตลอดกาลนาน

การงานที่ไม่มีโทษ khaosod

การงานที่ไม่มีโทษ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com


วันนี้ เป็นวันพระ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันธัมมัสสวนะ คือวันฟังพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นกิจที่พุทธบริษัทควรประกอบให้เกิดมีในตน เพื่อความมีจิตใจที่บริสุทธิ์และเป็นการสร้างสมคุณความดีต่อไป

การ งานที่ไม่มีโทษ เป็นอาชีพที่คนทุกคนจะพึงทำ มีมากมายหลายประการ การงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิตและร่างกาย เบียดเบียนความสุขของผู้อื่น การงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์ น้อมนำความสุขกายสบายใจมาให้แก่ตนเองและผู้อื่น รวมแล้วมีอยู่ 2 ประเภท คือ

1. การงานที่มีโทษ เช่น การฆ่า การทำร้ายผู้อื่น การยักยอก ฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น การพยาบาทจองเวรผู้อื่น เป็นต้น การงานที่กล่าวมานี้ เป็นความชั่ว เป็นบาป

2. การงานที่ไม่มีโทษ เช่น การงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเมตตากรุณา ให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

การทำความดี เป็นการงานที่คนทุกคนควรทำ ควรประพฤติปฏิบัติ ส่วนการทำความชั่ว เป็นการงานที่ไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ

ผู้ทำการงานที่มีโทษ ย่อมได้รับโทษ 5 ประการ คือ

ประการที่ 1 แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองได้

ประการที่ 2 ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมติเตียน

ประการที่ 3 ชื่อเสียงที่ไม่ดี ย่อมกระฉ่อนไป

ประการที่ 4 ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้ขาดสติ

ประการที่ 5 เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงนรก อันเป็นสถานที่หาความเจริญไม่ได้

ส่วนผู้ทำการงานที่ไม่มีโทษ ย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

ประการที่ 1 แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองไม่ได้

ประการที่ 2 ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมสรรเสริญ

ประการที่ 3 ชื่อเสียงอันดี ย่อมขจรขจายไป

ประการที่ 4 ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้มีสติ ความรู้ตัว

ประการที่ 5 เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงสวรรค์ อันเป็นที่ที่มีแต่ความเจริญ

เมื่อจะทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรใคร่ครวญ พิจารณาการงานเช่นนั้นเสียก่อนแล้วจึงกระทำในภายหลัง

เมื่อ ได้ทราบถึงการงานที่มีโทษอันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และการงานที่ไม่มีโทษ อันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แล้ว ควรหลีกเลี่ยง การงานอันเป็นโทษทุจริต ประกอบแต่การงานที่ปราศจากโทษ อันสุจริต ย่อมจะอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่นตามความเหมาะสมแก่กาละ เทศะ และความสามารถของตนเอง นับว่าได้ดำเนินชีวิตโดยถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปากพล่อย พลอยล่มจม LOOSE LIPS SINK SHIPS เก็บจากมติฃนออนไลน์

ปากพล่อย พลอยล่มจม LOOSE LIPS SINK SHIPS

โดย ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช

คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง มติชน 24 ก.ค.2554

ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ นักการเมืองบางคนเก็บปากเก็บคำอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ในขณะที่บางคนก็พูดจาเปิดเผยเรื่องราวในพรรคอย่างไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกัน

ประเภทหลังทำให้คนพรรคเดียวกันไม่ค่อยพอใจ วิจารณ์ตรงๆ ว่ามีอะไรควรพูดกันในพรรค

ไม่น่าจะให้ "คนนอก" ได้รับรู้

"คนนอก" ที่ว่าคือประชาชน ซึ่งหากเป็นไปได้ก็ไม่ควรจะให้รับรู้ไส้ในของพรรค เพราะอาจจะหมดศรัทธาหรือจะทำให้การสร้างภาพยากเย็นขึ้นเปล่าๆ ปลี้ๆ

ว่ากันตรงๆ คือ หากปากพล่อย จะพลอยทำให้พรรคล่มจม

ฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกถึงสำนวนของเหล่านาวีสหรัฐในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง...

Loose lips sink ships

สำนวนง่ายๆ นี้แปลง่ายๆ เหมือนกันว่า "ปากพล่อย (ทำให้) เรือจม"

เคยเล่าให้ฟังตรงนี้ว่า ในยามสงครามนั้น บ้านเมืองไหนก็ต้องขอร้องประชาชนให้สงวนปากสงวนคำกันทั้งนั้น เพราะอาจจะมีสปาย-สายลับ หรือที่คนไทยรุ่นคุณปู่คุณทวดเรียกว่า "แนวที่ห้า" บ้าง "จารบุรุษ" บ้าง พยายามทำจารกรรม หากความลับต่างๆ ไปให้ฝ่ายศัตรู

ก่อนที่โลกจะเข้าสู่ยุคไซเบอร์ ความลับกระจายได้เชื่องช้าเต็มที สปีดเร็วระดับพี่หอยทาก แค่ปากต่อปาก ไม่ใช่สองสามคลิกก็รู้กันทั้งโลกเหมือนที่เป็นอยู่

หลายคนอาจเคยผ่านตา รูปโปสเตอร์ที่พิมพ์โดยรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีข้อความเตือนใจว่า "ระวัง...กำแพงมีหู ประตูมีช่อง จารบุรุษกำลังฟังอยู่ตลอดเวลา อย่าพูดความลับของทางราชการ"

ช่วงเดียวกัน สหรัฐเพิ่งโดนญี่ปุ่นส่งเครื่องบินไปถล่มอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ รัฐบาลอเมริกัน ซึ่งเคยพยายามถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองไม่ใช่ธุระของตน ก็เจ็บแค้นจนตัดสินใจกระโจนเข้าร่วมสงคราม และเดินหน้าสร้างอาวุธเต็มกำลัง

พร้อมๆ กัน รัฐบาลก็เตือนประชาชนว่าต้องไม่พูด-ไม่บอกต่อ ไม่เล่าสิ่งที่ตัวเห็นหรือได้ยินให้ใครฟัง โดยเฉพาะพวกที่ทำงานโรงงานผลิตอาวุธ หรือทำงานในค่ายทหาร ต้องปิดปากให้สนิท ไม่ปากโป้งว่าทำอะไร ที่ไหน ผลิตอะไร จำนวนเท่าไหร่ เพราะไม่รู้ว่าใครรอบๆ ตัวเป็นสปายให้นาซีเยอรมันบ้าง

ขนาดบริษัทขายหมากฝรั่งยังโหนกระแสกับเขาด้วย เพราะโฆษณาว่า Don′t talk, chum. Chew gum. อย่าพูดเลย, เกลอ เคี้ยวหมากฝรั่งเหอะ

สำนวน Loose lips sink ships ที่มาจากเหตุการณ์อ่าวเพิร์ล เป็นแรงบันดาลใจให้ Duke Ellington อัครบุรุษแห่งโลกแจ๊ซใช้เป็นชื่อเพลง A Slip of the Lip (Can Sink a Ship)

การใช้เพลงเป็นเครื่องเตือนใจนี้ ดียิ่งกว่าติดโปสเตอร์เสียด้วยซ้ำ

เพลง A Slip of the Lip จึงกลายเป็นเพลงโดนใจนักฟังสมัยสงครามโลกครั้งที่สองไปในทันที

เสียงชู้วววว...เบาๆ ในตอนขึ้นต้นของเพลง ฟังเหมือนใครคนหนึ่งกำลังบอกให้เงียบไว้ เบาไว้ เสียงชู้วววว...ของฝรั่งมีความหมายแบบเดียวกันกับที่คนไทยเราทำเสียง "จุ๊ๆๆๆ" เตือนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่กำลังจะพูดอะไรที่ไม่สมควร

เนื้อเพลงตอนต้นบอกว่า

Don′t talk too much / Don′t know too much / Don′t be too hip / "Cause a slip of the lip can sink a ship.

อย่าพูดมากไป อย่า (ทำ) รู้มากไป อย่าซ่ามากไป ปากพล่อยจะพลอยให้เรือ (ชาติล่ม) จม

เนื้อเพลงยังบอกด้วยว่า "Walls have ears / Night has eyes / So let′s be wise? กำแพงมีหู ราตรีมีตา เราต้องสุขุมรอบคอบ...

เดาเอาว่าเราคงได้สำนวน "กำแพงมีหู" มาจากฝรั่ง แต่เติม "ประตูมีช่อง" ให้คล้องจองน่าฟังแบบไทยๆ บางครั้งก็ใช้ว่า "กำแพงมีหู ประตูมีตา" ส่วน "หน้าต่างมีหู ประตูมีตา" ก็มีคนใช้บ้างเหมือนกัน

ใน YouTube มี "ครูทูบ" http://www.krutubechannel.com/?page=video_view&vid_id=1684 ที่น่ารัก เล่าเรื่องราวของสำนวนนี้ให้ฟัง ใครสนใจก็เปิดเข้าไปดูได้

แต่คนปากโป้งหรือเก็บความลับไม่เป็น ไม่ใช่ประชาชนเสมอไป ช่วงรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ 2549 มีนายทหารใหญ่ๆ ออกมาพูดจาในเรื่องที่ไม่ควรพูดไม่น้อย

ยังจำได้ว่า มีพลเอกรายหนึ่งพลั้งปากเรื่องยุทธศาสตร์การแก้วิกฤตภาคใต้ออกมาจนหมด แล้วออกมายอมรับภายหลังว่า เรื่องที่พูดไปไม่ควรนำมาเปิดเผยผ่านสื่อ เพราะไม่ถูกต้อง แถมยังเจื้อยแจ้วต่อไปด้วยว่า ตัวเองเป็นคน "พูดตรงๆ" หลอกนักข่าวไม่เป็น เมื่อโดนซักก็หลุดปากพูดจนได้

แต่ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องพูดตรงหรือพูดโกหก ไม่ใช่เรื่องว่าจะ "พูดอย่างไร" แต่เป็นเรื่องว่า "ต้องไม่พูด"

ทำนองเดียวกับที่พลเอก โอมาร์ แบรดลีย์ หนึ่งในผู้บัญชาการทหารอเมริกัน เคยให้ข้อคิดพวกทหารไว้ว่า

"It′s NOT HOW to say it - it′s HOW NOT to say it ! "

ตรองดูดีๆ ข้อคิดของคนพูดน้อยอย่างนายพล แบรดลีย์ ไม่ได้มีประโยชน์แก่ทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ด้วย

แปลกแท้ๆ พูดน่ะง่าย ไม่พูดกลับยาก

ยิ่งเป็นนักการเมือง หากไม่พูด จะมีคนยกป้าย "ดีแต่ไม่พูด" ใส่ไหมนี่ ฮึ?

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฤกษ์งามยามดี khaosod

ฤกษ์งามยามดี

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา


ความเชื่อเรื่องฤกษ์งามยามดีของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตายาย ในการจะดำเนินการงานสิ่งใด จะต้องมีการดูฤกษ์ก่อนทุกครั้งไป

คำ ว่า "ฤกษ์" แปลว่า การมองดู การตรวจการพิจารณาดูคราวที่เหมาะ เวลาที่เหมาะ จังหวะที่เหมาะแก่การประกอบการงานที่เป็นมงคลนั้นๆ หมายความว่า ก่อนที่คนเราจะประกอบการงานที่เป็นมงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง สมควรจะต้องพินิจพิจารณาเลือกหากำหนดวันเวลาที่เหมาะแก่การประกอบพิธีมงคล โดยไม่รีบด่วนจนเกินไป

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2546 ให้คำนิยามไว้ว่า "การกำหนดวัน ยาม ฤกษ์ ราศี ดิถี ของแต่ละปีเป็นธงชัย อธิบดี อุบาทว์ โลกาวินาศ หมายถึง การกำหนดว่า วันไหน ช่วงเวลาใดเป็นเวลาที่ดีและร้ายสำหรับกระทำการมงคลต่างๆ "

ระเบียบปฏิบัติการหาฤกษ์งามยามดี แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1.ฤกษ์ งามยามดีทางคดีโลก สังคมมนุษย์ส่วนมากนิยมปฏิบัติสืบกันมาว่าวัน เวลาใดประกอบด้วย ส่วนดี คือ เป็นเดช เป็นศรี เป็นมูละ เป็นอุตสาหะ เป็นมนตรี เป็นราชาฤกษ์ เป็นเทวีฤกษ์ เป็นมหัทธโนฤกษ์ เป็นต้น ส่วนดีเหล่านี้มีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ส่วนเสีย คือ เป็นอุบาทว์เป็นโลกาวินาศ เป็นกาลกรรณี เป็นอริ เป็นมรณะ เป็นวินาศ เป็นต้น เหล่านี้ ให้มีน้อยที่สุด เท่าที่จะหลีกเลี่ยงได้ พร้อมทั้งท่านอาจารย์ผู้ให้ฤกษ์นั้น ก็เป็นผู้ทรงวิทยาคุณทางโหราศาสตร์ มีชื่อเสียงปรากฏเป็นที่ยอมรับนับถือของมหาชนทั่วไปในท้องถิ่นนั้น

วันเวลาฤกษ์เช่นนี้ สังคมมนุษย์เรานิยมยอมรับนับถือ เชื่อได้ด้วยความแน่ใจว่า เป็นฤกษ์งามยามดี สำหรับประกอบพิธีมงคลนั้นๆ

2.ฤกษ์ งามยามดีทางคดีธรรม ในทางคดีธรรม คือ ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนพุทธบริษัทเรื่องฤกษ์งามยามดี ตามความเป็นจริงไว้ในสุปุพพัณหสูตร โดยมีใจความว่า

คนเราประพฤติกาย สุจริต (คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ประพฤติวจีสุจริต (คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูด เพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สารประโยชน์) ประพฤติมโนสุจริต (คือไม่โลภอยากได้ของเขาในทางทุจริต ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ไม่เป็นมิจฉาทิฐิเห็นผิดเป็นชอบ)

กล่าวคือ กระทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น เวลาค่ำคืน หรือ เวลาใดก็ตาม เวลานั้นเชื่อว่า "เป็นฤกษ์งามยามดี" สำหรับผู้ทำความดีนั้น

ดังนั้น ควรพิจารณาการดูฤกษ์ให้เหมาะสม

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประโยชน์ในปัจจุบัน from khaosod

ประโยชน์ในปัจจุบัน

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


บุคคลผู้หวังจะก่อร่างสร้างตัว ปรับปรุงตนให้เป็นคนมีฐานะ มั่นคงเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันทันตาเห็น เป็นคนที่มีวิชาความรู้ เป็นคนมีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นคนมีความสุขความเจริญ ตามปรารถนาต้องอาศัยหลักธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบันเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ จึงจะสำเร็จผลได้ ซึ่งหลักธรรมที่ว่านั้นคือ ธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบัน มี 4 ประการ

ประการที่ 1 ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร คือ บรรดาภารกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน การประกอบอาชีพทุกชนิด จำต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ความบากบั่น ความพยายามเข้าสนับสนุนจิตใจของบุคคล ให้อาจหาญ ไม่ย่อท้อ

ประการที่ 2 ความถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ บรรดาภารกิจหน้าที่การงานก็ดี วิชาความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วก็ดี ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรก็ดี คนผู้เป็นเจ้าของต้องคอยเอาใจใส่ดูแลรักษาไว้ให้ดี อย่าให้เสื่อมสูญเสียหายไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร โดยให้รู้จักค่าของวิชาความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมา และทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร

ประการที่ 3 ความมีมิตรสหายที่ดีงาม คือ คนเราแม้จะมีคุณธรรมสองประการดังกล่าวมา คือมีความขยันหมั่นเพียรประกอบภารกิจหน้าที่การงานดี ศึกษาเล่าเรียนดี มีความเอาใจใส่ดูแลรักษาภารกิจหน้าที่การงานและวิชาความรู้ไม่ให้เสื่อมสูญหายไป บำเพ็ญไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าขาดคุณธรรมประการที่สาม คือไม่รู้จักคบหาสมาคมกับมิตรสหายที่ดี เพราะคนเป็นจำนวนไม่น้อยต้องเสียคนเพราะเพื่อน และต้องเสียใจเพราะเพื่อน การคบหามิตรสหายเป็นภารกิจสำคัญของมนุษย์ ผู้ใดไม่มีมิตรสหายเสียเลยแสดงว่าเป็นคนใจแคบ มีมิตรสหายไม่ดีก็พาเสียคน เสียความประพฤติ ถ้ามีสหายที่ดีก็พาให้เจริญรุ่งเรืองได้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า บรรดาเหตุปัจจัยในภายนอกทุกชนิดที่จะทำให้คนเสื่อมเสียได้ ก็ไม่มีอะไรเท่าเทียมกับการคบมิตรที่เลว เพราะการคบคนเลวเป็นมิตรเขาอาจชักนำไปในทางเสียหายได้นานาประการ

ประการที่ 4 ความเป็นคนมีความอยู่พอเหมาะพอดี คือ คนเราถึงจะมีอะไรๆ ทุกประการตามที่กล่าวมาแล้ว คือ มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักรักษาดี มีมิตรสหายดีก็ล้วนแต่เป็นคนดีๆ ทั้งนั้น แต่ตนเองวางตัวไม่เหมาะแก่ภาวะที่ตนเป็นและฐานะที่ตนมี ก็เป็นคนเอาดีไม่ได้

เพราะฉะนั้นบุคคลผู้หวังจะได้รับประโยชน์ในปัจจุบัน มีความสุขความเจริญต่อไปในภายหน้า พึงยึดถือหลักธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบัน 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว คือ ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ความถึงพร้อมด้วยการดูแลรักษา ความมีมิตรสหายที่ดีงาม ความเป็นคนมีความเป็นอยู่พอเหมาะพอดี รวมข้อธรรม 4 ประการ เป็นหลักแห่งการประพฤติดีประพฤติชอบสำหรับตน เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในสิ่งที่ตนมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ

พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com

การรับประเคน from khaosod

การรับประเคน

คอลัมน์ ศาลาวัด


การรับประเคนภัตตาหารของพระภิกษุ ต้องประกอบพร้อมด้วยลักษณะการรับประเคน 5 ประการ คือ

1.สิ่งของที่รับประเคนนั้น ต้องไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป ขนาดคนปานกลางยกคนเดียวไหว และต้องยกสิ่งของนั้นให้ขึ้นพ้นจากพื้นที่สิ่งของนั้นตั้งอยู่

2.ผู้ประเคนต้องเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือ ผู้ประเคนต้อง อยู่ห่างจากพระผู้รับประเคนประมาณ 1 ศอก

3.ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้ามาให้ ด้วยอาการแสดงความเคารพอ่อนน้อม

4.กิริยาอาการที่น้อมสิ่งของเข้ามาให้นั้น จะส่งให้ด้วยมือก็ได้ หรือจะส่งให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ใช้ทัพพีตักถวายก็ได้

5.พระภิกษุผู้รับประเคน จะรับด้วยมือก็ได้ จะใช้ผ้าทอดรับก็ได้ หรือจะใช้ภาชนะรับ เช่น ใช้บาตรหรือจานรับสิ่งของที่เขาตักถวายก็ได้

ลักษณะการรับประเคนที่ไม่ถูกต้อง คือ สิ่งของที่จะประเคนนั้นใหญ่โตหรือหนักเกินไป ยกคนเดียวไม่ไหว ต้องช่วยกัน ยกถวาย เช่น ช่วยกันยกโต๊ะอาหารถวายทั้งโต๊ะ เป็นต้น

ผู้ประเคนอยู่นอกหัตถบาส คือ ผู้ประเคนอยู่ห่างจากพระผู้รับประเคน จนพระไม่สามารถจะรับประเคนด้วยมือถึง

ผู้ประเคนไม่ยกสิ่งของที่จะประเคนนั้นให้พ้นจากพื้น เช่น การประเคนด้วยวิธีเสือกไสให้เคลื่อนไปตามพื้น การประเคนด้วยวิธีเอามือแตะสิ่งของ เป็นต้น

ผู้ประเคนสิ่งของให้พระ ส่งให้ด้วยกิริยาอาการที่แสดงความไม่เคารพ

พระภิกษุผู้รับประเคนยังไม่ได้รับสิ่งของนั้น ผู้ประเคนรีบวางสิ่งของนั้นเสียก่อน เช่น การทอดผ้ารับประเคนจากสุภาพสตรี พระภิกษุยังมิได้จับผ้า สุภาพสตรีวางสิ่งของที่ผ้านั้นเสียก่อน

สิ่งของที่ประเคน เป็นของไม่ควรแก่สมณะ เช่น เงิน ทอง หรือภาชนะที่ทำด้วยเงิน ทอง เป็นต้น

พระภิกษุเอื้อมตัวออกไปรับประเคนแสดงกิริยาอาการเป็นคนมักมาก

พระภิกษุช่วยหยิบสิ่งของส่งให้เขาประเคนตน ซึ่งทาง พระวินัย เรียกว่า "อุคคหิต" คือ สิ่งของที่พระภิกษุจับต้อง ยกแล้ว รับประเคนไม่ขึ้น ขืนฉันสิ่งของนั้น เป็นอาบัติ

การรับประเคนเครื่องไทยธรรม ไม่นิยมรับประเคนสิ่งของประเภทอาหารที่ยาวกาลิกในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เวลาเที่ยงไปแล้ว

ไม่นิยมใช้ผ้าเช็ดหน้าทอดรับประเคน เพราะผ้าเช็ดหน้า โดยมากมักไม่สะอาด ถือกันว่าการทอดผ้าเช็ดหน้ารับประเคนนั้น เป็นการไม่ให้เกียรติแก่เจ้าภาพผู้ถวายด้วย

กิริยาอาการรับประเคน นิยมรับด้วยมือทั้งสอง เป็นการแสดงว่ามีความเต็มใจรับหรือรับด้วยความพอใจ ไม่ใช่รับด้วยความ ไม่เต็มใจ

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทศกาลเข้าพรรษา from Khaosod

เทศกาลเข้าพรรษา

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


ธรรมเนียม ปฏิบัติ ของพระภิกษุสามเณร การอธิษฐานใจอยู่ประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง โดยไม่ไปพักที่อื่นตลอด 3 เดือนในฤดูฝน ตามที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต เรียกว่า การเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษากำหนดเวลาเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 9 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

ใกล้เข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย นิยมให้บุตรหลานของตน เข้ามาบรรพชาอุปสมบท ประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดเวลา 3 เดือน เพื่อตอบแทนคุณของบิดามารดา และเปิดโอกาสให้บุตรหลานของตนได้ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นประเพณีที่สืบ ทอดกันมาถึงปัจจุบัน

มูลเหตุ การเข้าพรรษา ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุถูกตำหนิ ติเตียนจากชาวบ้าน ถึงฤดูฝนแล้ว ไม่ยอมหยุดพัก เที่ยวจาริกสั่งสอนธรรมไปยังสถานที่ต่างๆ เหยียบย่ำข้าวกล้าในนาจนเสียหาย ไม่เหมือนกับนักบวชในศาสนาอื่น ที่หยุดพักตลอดฤดูฝน พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่ง โดยไม่ไปพักที่อื่น ตลอด 3 เดือน หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปที่อื่น ควรกลับมาในวันนั้น เว้นแต่จะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่จำเป็น ต้องกลับมาภายใน 7 วัน

กิจจำเป็นนั้น คือ

1. ไปเพื่อรักษาพยาบาล สหธรรมิก หรือมารดาบิดาที่เจ็บไข้

2. ไปเพื่อระงับสหธรรมิกที่ต้องการจะสึก

3. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เป็นต้นว่า วิหารชำรุดในเวลานั้น ไปเพื่อหาอุปกรณ์มาปฏิสังขรณ์

4. ทายกต้องการจะทำบุญ ไปเพื่อรักษาศรัทธาของเขา สามารถทำได้

อีก ทั้งเป็นโอกาสดี พระภิกษุสามเณรจะได้สะสมความดี โดยเฉพาะความตั้งใจอยู่ประจำวัด ตลอด 3 เดือน เมื่อสามารถทำได้ตามที่อธิษฐานใจไว้ เรียกว่าได้บำเพ็ญอธิษฐานบารมี พร้อมกันนี้ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจปฏิบัติศาสนกิจ เช่น ทำวัตรสวดมนต์ ปฏิบัติกิจวัตรหน้าที่ของพระภิกษุสามเณร มิให้ขาดตกบกพร่อง เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ นับว่าเป็นผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ น่าเคารพกราบไหว้บูชา ช่วยสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนาน เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก

พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เช่นเดียวกัน ควรพร้อมใจกันสร้างความดี อบรมบ่มนิสัย ให้ละความชั่ว ประพฤติแต่ความดี ประกอบตนไว้ในทางที่ถูกต้อง

ในเทศกาลเข้าพรรษา การบำเพ็ญบุญอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การบริจาคทาน รักษาศีล การเจริญภาวนา หลีกเลี่ยงจากอบายมุข ที่เป็นเหตุให้ชีวิตตกต่ำ เช่น งดเว้นสิ่งเสพติดให้โทษ การเที่ยวกลางคืน และเล่นการพนัน เป็นต้น



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com

การรับบิณฑบาต from Khaosod

การรับบิณฑบาต

คอลัมน์ ศาลาวัด


การบิณฑบาต ถือเป็นกิจวัตรของพระภิกษุ-สามเณรในพระพุทธศาสนา ในการออกเดินถือบาตร รับการถวายภัตตาหารหรือสิ่งของจากชาวบ้านในเวลาเช้า

สำหรับระเบียบปฏิบัติการรับบิณฑบาตของพระสงฆ์ มีดังนี้

การ อุ้มบาตร นิยมอุ้มบาตรประคองด้วยมือทั้งสอง ให้บาตรอยู่ระดับท้อง สูงกว่าประคดเอวขึ้นมา แต่ไม่นิยมอุ้มชูสูงขึ้นมาจนถึงอก และนิยมถือบาตรภายในจีวร โดยดึงจีวรด้านขวามือมาปิดบาตร นำออกมาเฉพาะเมื่อจะรับบิณฑบาตเท่านั้น

ขณะรับบิณฑบาต นิยมยืนตรง ห่างจากผู้ใส่บาตรประมาณ 1 ก้าว มือซ้ายรองรับบาตร มือขวาแหวกจีวรออกและเปิดฝาบาตร ประคองฝาบาตรเข้ากับข้างบาตร

การสะพายบาตร นิยมสะพายให้บาตรห้อยอยู่ข้างตัวด้านขวา มือขวาคอยประคองบาตรไว้ไม่ให้ส่ายไปส่ายมาขณะเดิน

ไม่นิยมไพล่หลังบาตรมาข้างหน้า เพราะจะทำให้เดินไม่สะดวก และไม่นิยมไพล่บาตรไปข้างหลัง ด้วยจะทำให้คล้ายคนหลังโกง

ขณะ รับบิณฑบาต นิยมยืนตรง ห่างจากผู้ใส่บาตรประมาณ 1 ก้าว มือซ้ายช่วยยกชายจีวรขึ้นแล้วจับสายโยกบาตร มือขวาเปิดฝาบาตรแล้วประคองฝาบาตรเข้ากับข้างบาตร

ส่วนวิธีการรับ บิณฑบาต ประคองบาตรด้วยมือทั้งสอง ยื่นออกไปเล็กน้อย ตาทอดมองในบาตร สำรวมจิตพิจารณาด้วยธาตุปฏิกูลปัจจเวกขณปาฐะ ว่า "ยถาปัจจยัง ปวัตตมานัง ธาตุมัตตเมเวตัง ยทิทัง ปิณฑปาโต ฯเปฯ" จนจบบท ไม่ส่งใจไปอื่น ไม่แสดงกิริยาอาการรีบร้อนจะจากไป ไม่นิยมมองดูหน้าผู้ใส่บาตรหรือชวนผู้ใส่บาตรสนทนาขณะที่กำลังรับบิณฑบาต

เมื่อ รับบิณฑบาตเสร็จแล้ว นิยมถอยหลังออกห่าง 1 ก้าว แล้วยืนตรงขณะที่ผู้ใส่บาตรยกมือไหว้ ตั้งจิตอธิษฐานให้พรว่า "เอวัง โหตุ ขอจงสำเร็จตามที่ปรารถนาเถิด" หรืออธิษฐานว่า "ขอจงมีความสุข ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด" ดังนี้ เป็นต้น แล้วจึงเดิน จากไป

นิยม รับอาหารบิณฑบาตไปตามลำดับผู้รอคอยใส่บาตร และนิยมเข้ารับบิณฑบาตตามลำดับของพระภิกษุสามเณรที่มาถึงก่อนและหลัง ไม่นิยมลัดคิวตัดหน้าพระภิกษุสามเณรอื่นที่มารออยู่ก่อน

ขณะเดินไป บิณฑบาต นิยมมีสมณสารูปสำรวมกิริยาเรียบร้อย สำรวมกาย สำรวมตา สำรวมปาก ไม่เดินเร็ว หรือเชื่องช้าเกินไป ไม่เหลียวซ้ายแลขวาลอกแลก ไม่เที่ยวทักคนนี้คนนั้นอันแสดงถึงความไม่สำรวม

หรือไม่นิยมเดินพูดคุยกันระหว่างพระภิกษุสามเณรด้วยกัน

อังคุลิมาลปริตร from Khaosod

อังคุลิมาลปริตร

คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา


พระพุทธมนต์ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดป้องอันตรายต่างๆ ได้ จึงเรียกอีกอย่างว่า "พระปริตร"

คำ ว่า "ปริตร" มีความหมายว่า คุ้มครองรักษา หรือเครื่องคุ้มครองป้องกัน ซึ่งบทพระพุทธมนต์ที่นิยมว่าศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ปรากฏรวบรวมไว้มี 7 บท จึงเรียกว่า เจ็ดตำนาน

มีอยู่ด้วยกัน 7 พระสูตรคือ 1.มงคลสูตร 2.รัตนสูตร 3.กรณียเมตตสูตร 4.ขันธปริตร 5.ธชัคคสูตร 6.อาฏานาฏิยปริตร และ 7.อังคุลิมาลปริตร

สำหรับ อังคุลิมาลปริตร มี 2 ปริตรรวมกัน คือ อังคุลิมาลปริตร และ โพชฌงคปริตร โดยได้เล่าเรื่องขององคุลิมาล ซึ่งเดิมเป็นบุตรปุโรหิตนามว่า อหิงสกกุมาร ไปร่ำเรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ด้วยความเก่งและปัญญาดี จนเป็นที่อิจฉาริษยาของศิษย์อื่น แล้วก็ไปยุยงอาจารย์จนหลงเชื่อ จะหาทางกำจัดอหิงสก โดยหลอกให้ไปฆ่าคนมาพันคน แล้วจะบอกวิชาให้

อหิ งสกอยากได้วิชาก็ทำตามอาจารย์แนะ เที่ยวไล่ฆ่าคนไปทั่ว ฆ่าเสร็จก็ตัดนิ้วมาร้อยห้อยเป็นพวงมาลัย จนเป็นที่หวั่นกลัวของมหาชน และถูกขนานนามใหม่ว่า "องคุลิมาล" อันหมายถึงโจรที่ตัดนิ้วนั่นเอง

องคุ ลิมาลฆ่าคนไปได้ถึง 999 คน ขาดอีกหนึ่งเดียว วันหนึ่งพระพุทธองค์ทรงทราบและหยั่งรู้ด้วยญาณว่าโจรนี้ยังมีทางจะโปรดได้ ก็เลยเสด็จบิณฑบาตผ่านหน้าองคุลิมาล องคุลิมาลเห็นก็ดีใจคิดว่าคราวนี้ได้นิ้วครบพันแล้ว แต่ปรากฏว่าเดินตามพระพุทธเจ้าเท่าไรก็ไม่ทัน ในที่สุดพระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนและองคุลิมาลก็ได้บวชเป็นสาวก แต่เนื่องจากฆ่าคนไว้มาก พอไปบิณฑบาตที่ไหนคนก็วิ่งหนีหวาดกลัว ทำให้องคุลิมาลไม่ได้ข้าวแม้ทัพพีเดียว

วันหนึ่งมีหญิงท้องแก่ใกล้ คลอดเห็นองคุลิมาลก็วิ่งหนีไปลอดรั้วด้วยความกลัว ทำให้ต่อมาเกิดความลำบากในการคลอดลูก บรรดาญาติจึงต่างปรึกษากันและเห็นว่าองคุลิมาลคงไม่ฆ่าใครแล้ว และเป็นสาเหตุให้หญิงนี้คลอดยาก

จึงนิมนต์พระองคุลิมาล เล่าสาเหตุให้ฟัง ท่านฟังแล้วก็ตั้งสัตย์อธิษฐาน ความว่า ตนเองเกิดมาไม่เคยคิดฆ่าสัตว์โดยเจตนา ด้วยความสัตย์นี้ขอให้ความสวัสดิ์จงมีแก่ครรภ์หญิงนั้น ก็ปรากฏว่าทำให้นางคลอดลูกได้โดยสะดวก

พระปริตรบทนี้ ถือว่าสวดแล้วจะมีความสวัสดีและคลอดลูกง่าย นิยมสวดในพิธีมงคลสมรสด้วย

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไม่อยู่กับคน จะอยู่กับใคร khaosod

ไม่อยู่กับคน จะอยู่กับใคร

นิทานปรัชญาเต๋า



ครั้งหนึ่ง จื๊อลู่ ศิษย์ของขงจื๊อ พบกับนักพรต ผู้ถอนตนจากโลกมาใช้ชีวิตอย่างวิเวกคนหนึ่ง นักพรตผู้นั้น กล่าวแก่จื๊อลู่ว่า

"โลก ทั้งโลก ปั่นป่วนยุ่งเหยิง เหมือนทะเลบ้าขงจื๊ออาจารย์ท่านเก่งกาจมาจากไหน ถึงจะมาคิดเปลี่ยนแปลงโลกได้ ตัวท่านเองกำลังติดสอยห้อยตามคนพเนจร ร่อนเร่จากรัฐนี้ไปรัฐนั้นอยู่เรื่อยๆ ท่านถอนตนจากโลก มาใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอย่างข้าพเจ้าจะมิดีกว่าหรือ"

จื๊อลู่กล่าวตอบว่า

"การ ปฏิเสธการรับใช้ประชาชน ไม่ใช่สิ่งถูกต้องมนุษย์ทั้งแก่และหนุ่ม ทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง จะต้องมีความสัมพันธ์กัน ถ้าปรารถนาจะสร้างความบริสุทธิ์แก่ตน บุคคลจะต้องไม่ละเลยความสัมพันธ์เกี่ยวกับมนุษย์ อภิบุคคลจะต้องรับใช้บ้านเมือง ถึงแม้ว่า ในการรับใช้บ้านเมืองนั้น เขาจะต้องประสบความล้มเหลวก็ตาม"

เมื่อจื๊อลู่นำเรื่องนี้มาเล่าให้ขงจื๊อฟัง ขงจื๊อตอบสั้นๆ ว่า

"เราไม่อาจอยู่ร่วมกับนกและสัตว์ทั้งหลาย ได้ ถ้าไม่อยู่กับคนแล้ว เราจะอยู่กับใครเล่า"

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บุญ10ประการ 2 khaosod

บุญ10ประการ (จบ)

คอลัมน์ ศาลาวัด


"บุญกิริยาวัตถุ 10" หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ คราวที่แล้ว กล่าวไป 5 ข้อมาดูอีก 5 ข้อที่เหลือกัน --6.การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย ไม่ขี้เหนียวหรืองกบุญเพราะอยากได้บุญใหญ่ไว้คนเดียว นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำงาน ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ถือเป็นการทำบุญในข้อนี้ด้วย ผลบุญดังกล่าวจะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้างและปราศจากอคติ พร้อมเปิดใจรับผู้อื่น

7.การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น การไม่คิดในแง่ร้ายจะทำให้เรามีจิตใจไม่เศร้าหมอง แต่จะแช่มชื่นอยู่เสมอเพราะได้ยินดีกับกุศลผลบุญต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แม้จะมิได้ทำเองโดยตรงก็ตาม

8.การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การฟังธรรมจะทำให้เราได้ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต ซึ่งการฟังธรรมในที่นี้ก็มิได้หมายถึงแต่เฉพาะหลักธรรมในทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องจริง เรื่องดีๆ ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น

9.การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย คือ การให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้ แนะหลักธรรมที่ดีที่เราได้ยินได้ฟังมาและปฏิบัติได้ผลแก่เพื่อนๆ เป็นต้น ผลบุญในข้อนี้นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้บอกกล่าวได้รับการยกย่องสรรเสริญอีกด้วย

10.การทำความเห็นให้ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับ ปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ หรือจะพูดง่ายๆ ว่า ให้คิดและประพฤติตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมก็ได้ ซึ่งข้อนี้แม้จะเป็นข้อสุดท้ายแต่ก็สำคัญยิ่ง เพราะไม่ว่าจะทำบุญใดทั้ง 9 ข้อที่กล่าวมา หากมิได้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม การทำบุญนั้นก็ไม่บริสุทธิ์และให้ผลได้ไม่เต็มที่

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บุญ10ประการ (1) khaosod

บุญ10ประการ (1)

คอลัมน์ ศาลาวัด


'บุญ' หมายถึง การกระทำความดี มาจากภาษาบาลีว่า 'ปุญญะ' แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์

ในทางพระพุทธศาสนา การทำบุญมีด้วยกัน 10 วิธี เรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ 10" หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ ได้แก่

1.ให้ทาน หรือ ทานมัย อันหมายถึง การให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น เพราะการให้ทานเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ความคับแคบในจิตใจให้น้อยลง ทำให้เราไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ ผลการให้ทานดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความปีติอิ่มเอิบใจ

2.รักษาศีล หรือ สีลมัย คำว่า ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา เช่น ศีล 5 ศีล 8 หรืออาจจะหมายถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาศีลเป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการลด ละ เลิกความชั่ว มุ่งให้กระทำความดี อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตมิให้ตกต่ำลง ผลบุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็นสุขุม

3.เจริญภาวนา หรือ ภาวนามัย เป็นการทำบุญอีกรูปแบบที่มุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อนี้หลายคนอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา แต่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกำลัง ดังนั้น อาจจะทำง่ายๆ ด้วยวิธีการสวดมนต์เป็นคาถาสั้นๆ บูชาพระที่เราเคารพบูชาก่อนนอนทุกคืน ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติ

4.การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย การอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยประพฤติต่อผู้ใหญ่ และการที่ผู้ใหญ่แสดงตอบด้วยความเมตตา หรือการอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติบุคคลหรือสังคมอื่นที่แตกต่างจากเรานั้น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเรา ช่วยให้สังคมทุกระดับเกิดความเข้าใจต่อกัน และช่วยให้ชาติบ้านเมืองเกิดความสงบสุข ถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดความเมตตาต่อกัน

5.การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ หรือ ไวยาวัจมัย เป็น การให้ความช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้างในการทำกิจกรรมความดีต่างๆ เช่น ช่วยงานเพื่อนที่ทำงานให้แล้วเสร็จทันเวลา ให้กำลังใจแก่เพื่อนที่มีความทุกข์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบุญอีกแบบหนึ่ง ผลบุญในข้อนี้ก็จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นด้วย

ยังเหลืออีก 5 ข้อ ไว้ต่อตอนหน้า