วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความยินดี khaosod

ความยินดี

ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหารwww.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting



ปัจจุบัน การดำรงชีวิตอยู่ของประชาชนถูกกระทบด้วยเหตุปัจจัยหลายหลากซึ่งล้วนแต่มีผล ให้ความอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ใน สภาวะเช่นนี้ ควรที่ทุกคนจะต้องหันกลับมาทบทวนถึงแนวทางแห่งการปฏิบัติของตน เพื่อประคับประคองตนให้แคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง มีความร่มเย็นเป็นสุขตามสมควร ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรม คือ ความสันโดษ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในธรรมบทขุททกนิกาย พร้อมทั้งทรงรับรองผลว่าสามารถจะบันดาลความสุขความเจริญแก่ผู้ปฏิบัติได้

ความ สันโดษ แปลว่า ความยินดี พอใจในสิ่งที่ตนเองมีหรือเป็นอยู่ ถือเป็นเชื้อสายประเพณีดั้งเดิมของท่านผู้ประเสริฐ เรียกว่า วงศ์อริยะ ดังความตอนหนึ่งว่า "ผู้ถือสันโดษด้วยเสื้อผ้า อาหาร และที่อยู่อาศัยตามมีตามได้ มีปกติสรรเสริญคุณแห่งสันโดษ ถือว่าเป็นผู้สถิตอยู่ในวงศ์แห่งอริยะอันเป็นประเพณีเก่าดั้งเดิม" สันโดษโดยทั่วไปมี 3 ประการ คือ

1. ยถาลาภสันโดษยินดีตามได้

2. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง

3. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร


ประการ ที่ 1 ยถาลาภสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามที่ตนได้มา โดยในเบื้องต้น มีความพอใจในงานที่กำลังทำ พอใจในศิลป วิทยาที่กำลังศึกษาและพอใจในคุณธรรมที่กำลังปฏิบัติอยู่ มีความมุ่งมั่นทำจริง ศึกษาจริง ปฏิบัติจริง เมื่อได้ทรัพย์สิน คุณวุฒิ คุณสมบัติมาเป็นของตนเองแล้วก็ยินดีในทรัพย์สิน คุณวุฒิ และคุณสมบัติที่ตนมีอยู่ รู้จักใช้ทรัพย์อย่างประหยัด ประพฤติตนสมกับคุณวุฒิและคุณ สมบัติที่มีอยู่

ประการที่ 2 ยถาพลสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามกำลัง คือ มีความพอใจในการจัดสรรหน้าที่การงาน จัดสรรการศึกษาศิลป วิทยา และจัดสรรคุณธรรมเพื่อปฏิบัติให้สมกับกำลังสติปัญญาของตนเอง เลือกทำในสิ่งที่ตนเองถนัดแล้วตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปตามกำลังแต่ละ อย่างด้วยความขยันหมั่นเพียร อดทนสู้กับอุปสรรคต่างๆ โดยไม่ถอยหลัง

ประการ ที่ 3 ยถาสารุปปสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามสมควร หรือพอเหมาะกับฐานะของตนเอง ไม่หวนหาคิดให้ได้ทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าเกินฐานะของตนเอง บางครั้งแม้จะได้สิ่งที่เกินฐานะของตนเองมาก็ไม่ลุ่มหลงว่าเป็นสิทธิ์ที่ควร จะได้ กลับเห็นว่าสิ่งที่ได้มานั้นล้ำค่า ควรให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาหรือบริโภคใช้สอยด้วย โดยการทำให้เกิดประโยชน์แก่ตน เองและแก่สังคมรอบข้าง

ผู้มีความ สันโดษ มีความสันโดษเป็นยาวิเศษ บำรุงใจให้เอิบอิ่ม เบิกบาน และชูใจให้แข็งกล้าอยู่เสมอ ย่อมไม่เกียจคร้าน ผู้มีความสันโดษย่อมมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มาแม้เล็กน้อย อันเป็นสิ่งที่ตนได้มาโดยชอบธรรม ทั้งนี้ เพราะจิตใจมากไปด้วยคำว่า ยินดี หรือ พอใจ นั่นเอง

ถ้าทุกคนต่างมีความสันโดษ พอใจยินดีใช้สอยวัตถุสิ่งของที่ผลิตได้ภายในประเทศโดยเงินทุนก็จะหมุนเวียน อยู่แต่ภายในประเทศ เท่านั้น เป็นการอุดหนุนให้ประเทศชาติได้พัฒนาสร้างความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้น โดยอาศัยความรัก ความสามัคคีร่วมใจกันประหยัด มีความพากเพียรพยายามประกอบกิจด้วยความอดทน ก็เป็นเหตุให้เกิดสุข

ดังนั้น ความสันโดษ ความยินดี พอใจจึงเป็นคุณธรรมที่ทุกคนควรพินิจพิจารณา น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นนิสัยติดตัวโดยแท้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น