คุณบิดามารดา (4) สุดพรรณนามหาศาล
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ใน กรณีของสามีภรรยา ถ้ามีความรักแบบแรกที่จะเอาแต่ใจฝ่ายตัวเอง ก็คือ ตัวเองต้องการเขามาเพื่อบำเรอความสุขของตน ถ้าอย่างนี้ก็ต้องตามใจตัว ไม่ช้าก็จะต้องเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือเบื่อหน่าย แล้วก็อยู่กันไม่ได้ ไม่ยั่งยืน แต่ถ้ามีความรักแบบที่สอง คือ อยากให้เขาเป็นสุข เราก็จะมีน้ำใจ พยายามทำให้เขาเป็นสุข
ถ้ามีความรักแบบที่สองอยู่ ความรักก็จะยั่งยืนแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างก็คิดว่า ทำอย่างไรจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข สามีก็คิดว่าทำอย่างไรจะให้ภรรยามีความสุข ภรรยาก็คิดแต่ว่า จะทำอย่างไรให้สามีมีความสุข คิดกันอย่างนี้ก็คือมีน้ำใจและมีแต่จะเกื้อกูลกัน ทำให้ครอบครัวอยู่ยั่งยืน ชีวิตก็มีความสุขได้
ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า เราจะต้องพัฒนาคนในเรื่องความรักให้รู้จักความรักทั้ง 2 อย่าง อย่างน้อยก็ให้มีดุลยภาพในเรื่องความรัก 2 ข้อนี้ แล้วพัฒนายิ่งขึ้น จนกระทั่งให้คนเราอยู่กันด้วยความรักประเภทที่สอง
ลักษณะของความรัก มีอยู่อย่างหนึ่ง คือมันนำความสุขมาให้ด้วย ความรักแบบที่หนึ่งก็ทำให้เกิดความสุข เมื่อได้สนองความต้องการที่ตัวจะได้ ส่วนความรักประเภทที่สอง ก็ทำให้เกิดความสุข เมื่อได้สนองความต้องการที่จะให้เขามีความสุข
ฉะนั้น คนที่ทำจิตให้มีเมตตาต่อเพื่อมนุษย์ได้หมด ก็จะมีความสุขได้มากเหลือเกิน คือเวลาเห็นเพื่อนมนุษย์มีความสุข หรือเราทำให้เขามีความสุขได้ ตัวเราเองก็มีความสุขด้วย คนประเภทนี้ก็เลยมีโอกาสที่จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น คนที่พัฒนามาถึงระดับนี้ก็เช่น พระโสดาบัน เป็นต้น พระโสดาบันนั้นไม่มีมัจฉริยะ ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีความหวงแหน มีความพร้อมที่จะให้ เพราะฉะนั้น คุณธรรมคือเมตตาก็เจริญมากขึ้นด้วย และท่านก็มีความสุขยิ่งขึ้นมากมาย จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ก็มีแต่สุข ไม่มีทุกข์เหลืออยู่เลย
ความรักของพ่อแม่ถึงแม้จะจำกัดอยู่กับลูกก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เป็นการหวงแหนอย่างความรักแบบที่หนึ่ง คือพ่อแม่รักลูก ความหวงนั้นจะมีแต่ในแง่ที่อยากให้ลูกมีความสุข ไม่ยอมให้ใครมาทำให้ลูกทุกข์ แต่ไม่ได้หวงแหนที่ว่าต้องการครอบครองเอาไว้เป็นของตัว เพื่อบำเรอความสุขของตัว ไม่มีความหึง คือไม่ได้หวงผัสสะไว้เพื่อตัว และไม่ได้หวงใจ แต่ตรงกันข้าม ถ้าลูกมีคู่ครองที่ดีมีความสุข พ่อแม่ก็พลอยมีความสุขไปด้วย
ทุกคนต้องเป็นพรหม เพื่ออภิบาลสังคมให้ยั่งยืน
พระคุณของพ่อแม่มากมายหลายอย่างที่พูดมานี้ รวมแล้วก็มาจากพรหมวิหาร 4 นั่นเอง เนื่องจากพรหมวิหาร 4 นี้ มีความสำคัญมาก ไม่เฉพาะพ่อแม่จะมีต่อลูกเท่านั้น แต่จะต้องขยายออกไปให้ทุกคนมีต่อเพื่อนมนุษย์ หรือเพื่อนร่วมโลกทั่วทุกตัวคน เพราะฉะนั้นจึงขอถือโอกาสอธิบายให้ละเอียดกว่าที่พูดไว้ข้างต้นนั้นอีกหน่อย
เราทุกคนอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เริ่มตั้งแต่พ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาในครอบครัวเป็นต้นไป ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์นั้นมีหลักธรรมประจำใจอยู่หมวดหนึ่ง สำหรับเป็นหลักในการที่จะวางใจหรือมีท่าทีแห่งจิตใจต่อผู้คนรอบด้าน ธรรมชุดนี้ที่จริงก็เป็นหลักธรรมง่ายๆ แต่บางทีเราก็ใช้ไม่เป็น นี่ก็คือ พรหมวิหาร 4 ที่พูดไว้แล้วข้างต้นนั่นเอง ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บางทีที่เราดำเนินชีวิตกันมาจนบัดนี้ เราก็ยังเข้าใจและใช้ธรรมชุดนี้ได้ไม่สมบูรณ์
พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม พรหมนั้น ศาสนาพราหมณ์เขาถือว่า เป็นผู้สร้างโลก เป็นเทพเจ้าผู้ดลบันดาลสิ่งทั้งหลาย เป็นผู้สร้างสรรค์และอภิบาลโลก แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเราไม่ต้องไปรอพระพรหมให้มาสร้างโลก อภิบาลโลก เราทุกคนควรจะเป็นผู้มีส่วนรวมสร้างสรรค์อภิบาลโลกด้วยกันทุกคน เพราะฉะนั้นจึงมาทำตัวให้เป็นพรหมกันเถิด แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงพรหมวิหารไว้ให้เราทุกคนปฏิบัติ เพื่อให้เราทุกคนเป็นพระพรหม คือเป็นผู้สร้างสรรค์และอภิบาลสังคม ดังนั้น เราจะเป็นพระพรหมโดยสมบูรณ์ ก็ต้องมีธรรมทั้ง 4 ข้อ คือมี
1.เมตตา รัก ปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข
2.กรุณา สงสาร อยากช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์
3.มุทิตา พลอยยินดีด้วย เมื่อเขาสุขสำเร็จทำได้ดี
4.อุเบกขา วางทีเฉยเป็นกลาง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น