คุณบิดามารดา (5) สุดพรรณนามหาศาล
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
เมตตา กับ กรุณา นี่เมืองไทยใช้มาก พูดกันอยู่เสมอจนเป็นคำไทยสามัญ แต่แยกความหมายกันไม่ค่อยออก เพราะฉะนั้นตอนแรกจะต้องแยกความหมายระหว่าง เมตตา กับ กรุณา ให้ชัดเจนว่าต่างกันอย่างไร
วิธีแยกให้ชัดง่ายๆ ก็คือ ธรรมหมวดนี้เป็นท่าทีของจิตใจ สำหรับแสดงต่อผู้อื่น เมื่อเป็นธรรมสำหรับแสดงต่อผู้อื่น ความหมายของมันจะซัดด้วยการพิจารณาดูสถานการณ์ที่ผู้อื่นเขาประสบว่า เขาอยู่ในสถานการณ์ใดแล้วเราจะใช้ธรรมข้อไหน
สถานการณ์ที่ 1 คน อื่นเขาอยู่ดีเป็นปกติ ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเป็นพิเศษ ในกรณีนี้เราจะต้องมีเมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดี ความเป็นมิตร
เมตตาก็มาจากต้นศัพท์เดียวกับคำ ว่ามิตร มิตตะ แปลง อิ เป็น เอ ก็เป็น เมตตะ เติมสระอาเข้าไปเป็นเมตตา รากศัพท์เดียวกัน เมตตาจึงแปลว่า น้ำใจมิตร คุณสมบัติของมิตร หรือความเป็นมิตร ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไมตรี เป็นอันว่า สำหรับคนที่อยู่เป็นปกติ เราก็มีความเป็นมิตร มีไมตรี มีเมตตา มีความรัก ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข
สถานการณ์ที่ 2 คนอื่นเขาตกต่ำเดือดร้อน พอเขาทรุดต่ำตกลงไปจากสถานะเดิม คือ ประสบความเดือดร้อน เราก็ย้ายไปสู่คุณธรรมข้อที่ 2 คือ กรุณา ซึ่งได้แก่ความมีใจพลอยหวั่นไหวเมื่อผู้อื่นประสบความทุกข์ แล้วก็อยากจะช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์หรือแก้ไขปัญหาของเขา ทำให้เขาขึ้นมาสู่ภาวะปกติ หายทุกข์ หายร้อน
พูดสั้นๆ ว่า เขาอยู่ดีเป็นปกติ เราเมตตา แต่ถ้าเขามีทุกข์เดือดร้อน เราก็กรุณากันบ่อย แสดงว่าคนไทยคงมีเมตตากรุณามาก แต่ข้อต่อไปคนไทยไม่ค่อยพูดถึง
สถานการณ์ที่ 3 คนอื่นเขาขึ้นสู่ภาวะที่สูงขึ้นไป คือ ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามน่าชื่นชม มีความก้าวหน้า หรือมีความสุข เรียกง่ายๆ ว่า เขาได้ดีมีสุข เราก็ย้ายต่อไปสู่คุณธรรมข้อที่ 3 คือ มุทิตา ซึ่งแปลว่า พลอยยินดีด้วย เอาใจส่งเสริมสนับสนุน
คนเรานี้มีประสบสถานการณ์กัน อยู่โดยทั่วไปก็ 3 อย่างนี่แหละ คือ เป็นปกติ ตกต่ำ ขึ้นสูง เราก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา ไว้ปฏิบัติต่อเขาครบทั้ง 3 สถานการณ์ แต่แค่นี้ไม่จบ ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นสถานการณ์ที่ 4 ข้อนี้น่าสงสัย เพราะ 3 สถานการณ์ก็น่าจะครบแล้ว ยังมีอะไรอีก สถานการณ์ที่ 4 คือ อะไร
สถานการณ์ที่ 4 ข้อนี้ยากหน่อย คงต้องอธิบายยาวสักนิด
จะ ต้องเข้าใจว่า สามข้อแรกนั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือคนกับคน แต่ในโลกมนุษย์เรานี้ เราไม่ได้อยู่กับมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น เราต้องอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตในธรรมชาติด้วย หมายความว่า โลกมนุษย์นั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของกฎธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง เราจึงมีความสัมพันธ์ 2 ด้าน หรือ 2 ระดับ คือ
ด้านหนึ่ง เราอยู่กับคนด้วยกัน คือเพื่อนมนุษย์ที่เรียกว่า สิ่งแวดล้อมทางสังคม เรามีความสัมพันธ์ที่ดี เรามีเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือกันดี ก็อยู่กันด้วยดี มีความร่มเย็นเป็นสุข
อีกด้านหนึ่ง ลึกลงไป ชีวิตของเราอยู่กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ อยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต แม้แต่ร่างกายของเรานี้ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งไม่ฟังใครทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องรู้เข้าใจมัน และปฏิบัติตัวให้ถูกต้องสอดคล้องกับมัน ด้านนี้แหละที่สำคัญ ซึ่งเราจะมองข้ามหรือละเลยไม่ได้
เมตตา กรุณา มุทิตา นั้นมาช่วยในด้านที่หนึ่ง ที่ชีวิตของเราไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ แต่ด้านที่สอง ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นจางของโลกและชีวิตที่เป็นไปตามกฎ ธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ในด้านนี้คนจะต้องมีปัญญา รู้จักรับผิดชอบตัวเอง ที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้องด้วยตนเอง จะรอให้คนอื่นมาช่วยไม่ได้
ในข้อ 1-2-3 นั้น คนช่วยกันด้วยความรู้สึกที่ดีงาม แต่ข้อสี่ในความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ไม่เข้าใครออกใคร นั้น เราจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญา ทุกคนจึงต้องรู้จักรับผิดชอบตนเอง ไม่ใช่รอการช่วยเหลือพึ่งพา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น