copy
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ไตรสิกขา เริ่มด้วยศีลที่เป็นหลักประกันของสังคม ไตรสิกขา คือ หลักการศึกษาแบบพุทธ หรือการศึกษาแบบธรรมชาติ ญาติโยมก็รู้กันอยู่แล้วว่า ไตรสิกขามีอะไรบ้าง
1. ศีล 2. สมาธิ 3. ปัญญา
ศีลคืออะไร? ในขั้นพื้นฐาน ศีลก็คือการดำเนินชีวิตโดยมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่การดู การฟัง การกินอยู่ บริโภค ทำอาชีพการงาน ดังนั้น ศีลจึงมีหลายด้าน
ในที่นี้ จะพูดถึงศีลพื้นฐานในการอยู่ร่วมสังคม คือการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่เบียดเบียนกัน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ โดยเฉพาะในขั้นพื้นฐาน ซึ่งมี 5 ข้อ เรียกและรู้จักกันดี คือ ศีล 5
1. เว้นปาณาติบาต คือ เว้นจากการเบียดเบียนทำร้ายร่างกาย ทำลายชีวิตกัน
2. เว้นอทินนาทาน คือ เว้นจากการเบียดเบียนกันในด้านทรัพย์สิน
3. เว้นกาเมสุมิจฉาจาร คือ เว้นจากการเบียดเบียนล่วงละเมิดกันในเรื่องคู่ครอง ของรัก ของหวง
4. เว้นมุสาวาท คือ ไม่เบียดเบียนกันด้วยการใช้วาจาหลอกลวงตัดรอนประโยชน์ของกันและกัน
5. เว้นสุราเมรัย คือ ไม่เบียดเบียนความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม เช่น ไม่ทำตนให้เป็นที่น่าหวาดระแวง ที่จะทำให้คนอื่นเกิดความหวาดหวั่นว่า เมื่อเรามึนเมาไม่มีสติ อาจจะทำอะไรที่ให้เกิดความเดือดร้อน เช่น อุบัติเหตุขึ้นมา ไว้ใจไม่ได้
รวมความว่า ศีล ก็คือ การดำเนินชีวิตเป็นอยู่ที่ปราศจากการเบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนต่อผู้อื่น สาระอยู่ที่นี่ พร้อมทั้งด้านตรงข้าม คือการช่วยเกื้อกูลกันในสังคมมนุษย์
ศีลขั้นต้น เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นสำคัญ แล้วก็ฝึกกาย วาจา ของตนให้สุจริต
ต่อจากนั้นก็ไปสู่ข้อที่สอง คือการฝึกจิตใจของเราให้มีความสงบ อยู่ตัว หนักแน่น มั่นคง เรียกว่า สมาธิ หรือศัพท์ทางการเรียกว่า อธิจิตตสิกขา การฝึกฝนในเรื่องจิตให้ยิ่งขึ้นไป
เรื่อง ของสมาธิ ก็คือ การมีสภาพจิตที่หนักแน่นมั่นคง มีความสุข ความสงบ มีความแน่วแน่ เรียกว่าใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน เป็นต้น หมายความว่าไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อนใจ ตลอดจนมีคุณธรรมต่างๆ
ข้อ สามคือ ปัญญา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจเหตุผล รู้เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต จนกระทั่งสามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ ไม่ตกอยู่ใต้การครอบงำของสิ่งทั้งหลาย
สามอย่างนี้เป็นหลักการฝึกฝน หรือการศึกษาพัฒนาคนในพระพุทธศาสนา
ธรรมะที่เรานำมาปฏิบัติกันมาก มาย หรือสอนกันเยอะแยะนั้น ไม่ว่าอะไรก็ไม่พ้นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ กับปัญญานี้ แต่วันนี้จะไม่พูดถึงการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนที่เป็นรายละเอียดของ ไตรสิกขานั้น เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกินเขตเวลา
ให้ชีวิตเป็นไตรสิกขา คือปฏิบัติธรรมตลอดเวลา
จะชื่อว่าเป็นชาวพุทธสมจริง
วันนี้ จะพูดรวบรัดในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราปฏิบัติได้ในแต่ละขณะ ทุกขณะไปเลย
หมายความว่า ในการทำกิจกรรม หรือมีพฤติกรรมอะไรก็ตาม ในการแสดงออกทุกอย่าง เราสามารถบำเพ็ญไตรสิกขาไปได้พร้อมกันทั้งหมด
เมื่อ เราทำไปพร้อมกันสามอย่างนี้ ก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาไตรสิกขาในชีวิตประจำวัน และเราก็ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เราได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนสมชื่อ
ทำอย่างไรจะได้ ปฏิบัติไตรสิกขาพร้อมกันสามอย่าง ไม่ยาก ขอให้รู้จักใช้ อย่างที่บอกแล้วว่าสาระของไตรสิกขานั้น คือ
1. ศีล อยู่ที่การไม่เบียดเบียน เกื้อกูลกัน
2. สมาธิ อยู่ที่ทำจิตของตนให้มีคุณธรรม มีความสงบ เข้มแข็ง และมีความสุข
3. ปัญญา อยู่ที่ความรู้คิด และเข้าใจความจริง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น