วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สามไตร (จบ) จากข่าวสด

สามไตร (จบ)คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์ป.อ.ปยุตฺโต (ป.ธ.๙)เวลาจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง จะประกอบกิจการอะไรอย่างหนึ่ง หรือจะแสดงออกอะไรอย่างหนึ่ง เราลองสำรวจตรวจดูซิว่าสามด้านนี้ของเราเป็นอย่างไร คือ หนึ่ง การกระทำของเราครั้งนี้ เป็นการกระทำที่เบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ใครหรือเปล่า เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูลกันหรือไม่ นี่แง่ที่หนึ่ง คือ ศีล สอง พร้อมกันนั้น ในการกระทำอันเดียว กันนี้ ในจิตใจของเราเป็นอย่างไร จิตของเรามีความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือไม่ เราทำด้วยความรู้สึกเห็นแก่ตัว มุ่งจะได้จะเอา โดยไม่คำนึงถึงถูกผิดหรือว่าใครจะเป็นอย่างไร หรือมีความรู้สึกเกลียดชังใคร จะทำเพื่อปองร้ายหรือประทุษร้ายใครหรือเปล่า หรือว่าเราทำด้วยความมีเมตตากรุณา มีศรัทธา เป็นต้น และสภาพจิตขณะที่ทำนั้นเป็นอย่างไร มีความเดือดร้อนวุ่นวายใจไหม ขุ่นมัว เศร้าหมอง หดหู่ หรือว่ามีความสบายใจ มีความปลาบปลื้มอิ่มเอมใจ มีความผ่องใส เบิกบาน ร่าเริง สดชื่น ดูซิ ใจของเรา ในขณะที่จะทำกิจกรรมนั้น เป็นอย่างที่ว่านี้ไหม แง่นี้คือ สมาธิ สาม ในการกระทำอันเดียวกันนั่นแหละ เรารู้เข้าใจเหตุผลในการกระทำของเราไหม ว่าที่เราทำนี่เราทำเพราะอะไร เมื่อทำไปแล้วจะเกิดคุณหรือเกิดโทษอย่างไร เกิดประโยชน์หรือเกิดความเสียหายอย่างไร แล้วเราก็จะทำด้วยความรู้ความเข้าใจที่สว่างชัด แง่นี้คือ ปัญญา เราพิจารณาสามด้านในการกระทำเดียวกัน ทุกท่านจะยอมรับว่าทำได้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้ เราก็ฝึกตัวเองทั้งสามด้าน ในการกระทำทุกอย่าง ไตรสิกขาก็ได้หมด จึงอยู่ที่ว่าเราจะปฏิบัติหรือไม่เท่านั้น บางทีเราไม่เคยคิด เราปล่อยการกระทำต่างๆ ให้ผ่านไปเรื่อยๆ ลอยๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงเป็นความประมาทอย่างละเอียด ถ้าญาติโยมทำตามนี้ ก็จะเป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา และมีไตรสิกขาที่ฝึกฝนพัฒนาตนเองก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นคนที่สมบรูณ์ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้จะทำอะไรก็ตาม ในการกระทำทุกอย่างนั้นให้เราสำรวจตรวจดูตัวเอง มองตัวเอง แล้วเตรียมตัวเองให้พร้อมใน ๓ ด้านนี้ ขอให้การกระทำของเราแต่ละอย่างนั้น ด้านที่หนึ่ง เป็นการกระทำที่เป็นไปเพื่อเกื้อกูล ช่วยเหลือกันและกัน ไม่เป็นไปเพื่อก่อความเดือดร้อน เบียดเบียน ด้านที่สอง เป็นการกระทำโดยมีจิตใจที่ประกอบด้วยคุณธรรม มีความรัก มีเมตตา มีศรัทธา มีความกตัญญู เป็นต้น และทำด้วยความรู้สึกหรือสภาพจิตที่มีความสุข ปลอดโปร่ง ผ่องใส สดชื่น ด้านที่สาม เป็นการกระทำด้วยปัญญา รู้เข้าใจเหตุผลในการกระทำของตน รู้คุณ รู้โทษ รู้ประโยชน์และผลที่จะตามมา เอาละ เท่านี้แหละ การกระทำของเราก็จะมีความสมบูรณ์ในขณะนั้นๆ และตัวเราก็จะพัฒนายิ่งขึ้นไปด้วย การกระทำของเราจะไม่เกิดโทษ จะเกิดแต่คุณประโยชน์ ไตรสิกขานี้ ถ้าขยายความอาจจะยากและมากมาย ต้องว่ากันตลอดชีวิตเลย แต่ถ้าเอาหลักนี้มาใช้ ทุกท่านปฏิบัติได้ตลอดเวลาทุกขณะ ฉะนั้นจึงเอาแค่ไตรสิกขาที่ใช้ได้ทุกขณะมาพูด "สามไตร" สามหลักนี้ พอแล้ว ๑. ไตรรัตน์ คือ พระรัตนตรัย โดยตั้งต้นจากพุทธคุณสาม กล่าวคือ ปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ มหากรุณาคุณ๒. ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และ๓. ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เอามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของเราเถิด แล้วเราจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะต้องทำอะไรอีกบ้าง และเราก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งต่อตนเอง และต่อส่วนรวมไปพร้อมกันเลย วันนี้ ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่ได้มานั่งฟัง ซึ่งชักจะพูดยาวเกินไป ได้บอกไว้ตอนต้นว่าควรจะพูดนำแล้วก็มาสนทนากัน เลยกลายเป็นพูดเสียคนเดียว ขอความตั้งใจดีมีกุศลเจตนาของทุกท่าน จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาโยมญาติมิตรทุกท่าน ให้มีความเจริญก้าวหน้า งอกงามในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจอาชีพการงาน ให้สำเร็จผลตามความมุ่งหมายอันชอบธรรม และมีความร่มเย็นเป็นสุข ในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น