วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไม่ คบคนพาล (ข่าวสด)

ไม่ คบคนพาล

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

คนพาล คือ คนชั่ว คนทุจริต คนหากินทางผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายทั้งแก่ตนเอง ครอบครัวและสังคมส่วนรวม

คน พาล มีหลักพอสังเกตได้ คือ มักคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่วอยู่เนืองนิจ แม้ว่าเราจะไม่รู้ความคิดของคนพาล แต่เราก็ย่อมจะตัดสินความเป็นพาลของคนได้ ที่การแสดงออกมาทางกายหรือวาจา นอกจากนี้ เรายังสามารถดูลักษณะที่แสดงออกแห่งความเป็นคนพาล หรือคนชั่วอีกประการหนึ่ง คือการชอบคบแต่คนชั่วด้วยกัน

การคบกับคนพาลมีทุกข์ โทษ และภัยมาก ในมงคล 38 ท่านได้ระบุการไม่คบคนพาล ไว้เป็นอันดับแรก เปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกของชีวิต ถ้าก้าวขั้นนี้ผิดพลาด ขั้นอื่นๆ ก็ย่อมจะต้องพลาดหรือผิดพลาดไป

การคบกับคนพาลนั้น แม้ว่าเราจะไม่คบถึงสนิทสนมด้วย แต่ก็ย่อมจะเป็นที่ระแวง หรือรังเกียจของคนดี และการได้ใกล้ชิดกับคนพาลนั้นแม้ว่าในระยะแรกๆ เราจะนึกรังเกียจเขา แต่เมื่อได้เข้าใกล้ชิดกันนานไป ใจก็ย่อมจะยินดีในความเป็นพาลนั้นตามลำดับ ตรงกับสุภาษิตว่า "คบคนเช่นใด ก็ย่อมเป็นเช่นคนนั้น" และพุทธภาษิต อีกแห่งหนึ่งว่า "ผู้คบคนเลว ย่อมพลอยเลวลง" เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรจะมองข้ามไปก็คือ อย่ามัวไปเพ่งมองความพาลที่คนอื่นฝ่ายเดียว ให้ระวังใจเราเอง มันจะไปเป็นพาลเสียเอง เมื่อจิตของเรามันเป็นพาลเสียเองแล้ว คนหมดทั้งโลกนี้ก็ไม่มีใครจะช่วยเราได้

ผู้มีปัญญาจงหมั่นตรวจสอบ หมั่นพิจารณาดูจิตของตนเอง ว่ามีเชื้อสัมมาทิฐิอยู่มากน้อยเพียงใด โดยสังเกตได้จากจิตที่มันแสดงออก คือ ถ้าจิตนิยมชมชอบในคนดี ในความดีหรือคนทำดี ก็แสดงว่าจิตมีเชื้อของสัมมาทิฐิควรจะหล่อเลี้ยงเอาไว้

แต่ ถ้าจิตเกิดนิยมชมชอบในความชั่วหรือคนชั่ว ก็ให้เร่งระวังว่า เชื้อมิจฉาทิฐิ กำลังลุกลามเข้ามาสู่ใจแล้ว จงรีบกำจัดหรือชำระล้างเสียด้วยพระธรรมโดยเร็วเถิด ขืนปล่อยไว้จะเป็นมารทำลายความสุขเสียเอง โดยที่ไม่มีคนอื่นมาทำให้

ฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญา เมื่อปรารถนาความสุขความเจริญให้เกิดขึ้นในชีวิตแล้ว จะต้องงดเว้นให้ห่างไกลเสียจากคนพาลให้ได้ ต้องตัดสัมพันธ์ให้ขาด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เพราะคนพาลจะนำแต่อัปมงคลมาให้แก่ผู้คบหาสมาคมด้วย โดยประการทั้งปวง

พระ เทพคุณาภรณ์

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร,

รองเจ้าคณะภาค ๑๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น