วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553
การพูด จากข่าวสด
การพูดคอลัมน์ ธรรมะวันหยุดพระเทพคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร, รองเจ้าคณะภาค 13ขึ้นชื่อว่าการพูด ทุกคนต่างก็มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะทำได้อย่างไม่มีจำกัดและขัดข้อง แต่ต้องให้อยู่ภายใต้ขอบเขตแห่งหลักปฏิบัติ คือ พระธรรมวินัยและกฎหมาย ไม่จงใจล่วงละเมิดสิทธิ เสรีภาพของคนอื่นให้เสียหาย คำพูดของทุกคนจึงมีมากมายหลายเรื่อง แต่คำพูดทั้งหมด เป็นเพียงขั้นธรรมดาสามัญหาสารประโยชน์ไม่ได้ จึงไม่ค่อยมีคนสนใจจดบันทึกไว้การพูดนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและมีปัญหามาก ทั้งนี้ คนจะดีก็อยู่ที่ปาก จะลำบากก็อยู่ที่วาจา พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วก็เป็นภัย การพูดจึงควรระมัดระวังอย่าให้บกพร่อง หรือพลาดพลั้งได้ โดยถือภาษิตเป็นเครื่องคอยสะกิดเตือนใจว่า "จงสำรวมระวังวาจาให้ดี" เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องพูด ก็ให้ระลึกนึกถึงภาษิตที่ว่า "การพูดวาจาที่ดีงาม ยังประโยชน์ให้สำเร็จ" เมื่อทุกคนมีคุณธรรมสำหรับประคองรองรับวาจาได้เช่นนี้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของคำที่ควรพูดได้ดี ด้วยวิธีที่มีในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงเลือก สรรวิธี ตรัสวาจาที่มีสาระสำคัญและเป็นประโยชน์ไว้มีใจความว่า 1.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า เป็นวาจาไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์ ทั้งไม่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เราตถาคตจะไม่กล่าววาจาเช่นนั้น 2.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า เป็นวาจาจริง แท้ แต่ไม่มีประโยชน์ ทั้งไม่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เราตถาคตจะไม่กล่าววาจาเช่นนั้น 3.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า เป็นวาจาจริง แท้และมีประโยชน์ แม้จะไม่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เราตถาคตรู้จักกาลเวลาหาโอกาสที่จะกล่าววาจาเช่นนั้น 4.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า ไม่จริง ไม่แท้ และไม่มีประโยชน์ แต่กลับเป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เราตถาคตก็จะไม่กล่าววาจาเช่นนั้น 5.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า เป็นวาจาจริง แท้ และมีประโยชน์ รวมทั้งเป็นที่นิยมและชอบใจของคนทั่วไป เราตถาคตรู้จักกาลเวลาหาโอกาสที่จะกล่าววาจาเช่นนั้น ดังนั้น ขอท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ใช้วิจารณญาณของตนทบทวน พิจารณาถึงลักษณะของคำที่ควรพูด และไม่ควรพูด โดยพุทธวิธีตามที่ได้แสดงมา ก็จะเป็นผู้ที่พูดแต่คำที่ดี มีคุณ สำเร็จประโยชน์ในทุกสิ่งทุกประการแล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น