วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความสุขในการทำงาน khaosod


ความสุขในการทำงาน

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข หน้าที่การงานเป็นสิ่งสำคัญ ที่เกื้อกูลต่อชีวิตของมนุษย์ทุกคน หน้าที่การงานของแต่ละคนแสดงถึงความรับผิดชอบ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรืองพร้อม มีความสุข



ความสุขในการทำงาน จะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ เช่น ทำงานตรงกับความรู้ความสามารถของตน ทำงานที่ไม่ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายบ้านเมือง ทำงานโดยมีหลักธรรมประจำใจ



ความมั่นใจ คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีพื้นฐานจากความมั่นใจในความดีที่ทำ ซึ่งเป็นแรงเสริมสำคัญให้กล้าตัดสินใจ ไม่ท้อถอยเบื่อหน่ายและหวั่นไหวต่อปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น



ปัญหาที่คู่กัน เช่น ปัญหาเจ้านายกับลูกน้อง ปัญหาเพื่อนร่วมงาน ปัญหาคนล้นงาน หรืองานล้นคน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้ทำงานและผู้รับผิดชอบโดยตรง



มีระเบียบวินัย นอกจากความเก่ง กล้า สามารถในการทำงานแล้ว ความมีระเบียบวินัยในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ ควรจัดระบบตนเองให้ดี เรียงลำดับความสำคัญของงาน งานใดควรเสร็จก่อนหรือหลัง



ไม่เอาเปรียบองค์กรหรือที่ทำงาน เช่น ตรงต่อเวลา มีพฤติกรรม ที่ดีกับบุคลากรที่ร่วมงานทุกระดับ จึงสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์เสริมที่แบ่งเบาภาระ ต้องจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อมีความต้องการก็หาง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา



ด้วยใจรัก เมื่อใจรักก็มักทุ่มเททั้งกายใจ ยอมปรับตัวปรับใจให้เข้ากับงาน งานที่ยากกลายเป็นงานที่ง่าย ต้องการทำงานนั้นๆ อยู่เสมอ ตื่นตัวและแสวงหาความรู้เพื่อเสริมวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้น



ห่วงใยองค์กรหรือที่ทำงานตลอดเวลา คิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่ง ในความรับผิดชอบ ไม่นิ่งดูดายเมื่อมีเหตุทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อองค์กรหรือที่ทำงานมีความมั่นคงยั่งยืนมากเพียงไร ตนเองจะมีความเจริญก้าวหน้าเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่างานได้ผล คนก็เป็นสุข



ความตั้งใจ มีความขยันหมั่นเพียร รีบทำงานที่ตั้งใจไว้ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายโดยไม่รอช้า ทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนดโดย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง



ไม่ปล่อยให้งานคั่งค้าง ไม่มีข้ออ้างว่าหนาวเกินไป ร้อนเกินไป หิวกระหาย ยังเช้าอยู่ หรือสายแล้ว อุทิศตัว อุทิศใจทำงานด้วยความมุ่งมั่นฝันใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ทำให้มีความสุขในการทำงาน



ผู้ทำงานด้วยความมั่นใจ มีระเบียบวินัย ด้วยใจรัก และตั้งใจจริง เมื่องานสำเร็จแล้วย่อมได้ชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สมบัติ และได้รับการยกย่องสรรเสริญ เป็นผลตอบแทน

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กตัญญู khaosod


กตัญญู

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


"ความกตัญญู" หมายถึง ผู้รู้จักคุณท่านผู้มีอุปการคุณ การรู้พระคุณท่านที่เคยมีอุปการคุณ หรือที่เคยมีบุญคุณต่อเราก่อนแล้วตอบแทนคุณท่าน ชื่อว่า "กตัญญูกตเวที" ส่วนท่านผู้เคยให้ความอุปการะหรือมีบุญคุณนั้น เรียกว่า "บุพการี"

ความกตัญญูนั้น จัดเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นอุดมมงคล เป็นเครื่องหมายของคนดี มีคุณธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะให้ผลเป็นความเจริญและสันติสุขแก่ชีวิตแต่ฝ่ายเดียว

คุณธรรมข้อ "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" นี้ จึงเป็นคุณธรรม หรือข้อปฏิบัติที่คู่กับบุญคุณ หรืออุปการคุณที่ท่านได้ทำอุปการคุณให้แล้วก่อน ไม่ว่าท่านผู้กระทำอุปการคุณนั้น จะมีความประพฤติปฏิบัติเช่นไรก็ตาม ก็ชื่อว่า "บุพการี" ของผู้ได้รับอุปการคุณนั้น

ผู้เคยได้รับอุปการคุณนั้นพึงรู้คุณ พึงระลึกถึงและตอบแทนพระคุณท่านผู้มีอุปการคุณนั้น ตามกำลังและโอกาสจะอำนวยให้ ก็จะเป็นอุดมมงคลแก่ตน ให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้เสมอ ดังเช่น พ่อแม่ เป็น บุพการี คือ ผู้มีพระคุณอย่างยิ่งใหญ่ของลูกๆ ด้วยว่า ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด ทะนุถนอมกล่อมเลี้ยงลูกด้วยความรัก ด้วยเมตตาและกรุณาธรรม มีแต่ความปรารถนาจะให้ลูกรักมีความสุขและความเจริญ ลูกมีทุกข์ก็ปรารถนาจะให้ลูกพ้นทุกข์ พ่อแม่จึงชื่อว่าเป็น "พรหม" คือ ผู้ประเสริฐของลูก

ลูกๆ ทั้งหลาย เมื่อรู้และระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่แล้ว พึงปฏิบัติดีตอบแทนพระคุณท่าน โดยประการต่างๆ เป็นต้นว่า

1. ช่วยทำกิจของท่านด้วยความเต็มใจ ไม่บิดพลิ้ว หรือคอยหลีกเลี่ยง

2. ดำรงวงศ์สกุลของท่านไว้ให้ดี ไม่ทำให้เสื่อมเสีย

3. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาทของท่าน

4. ปรนนิบัติและรักษาน้ำใจท่าน ไม่ทำให้ท่านต้องเสียน้ำตา เสียน้ำใจ เพราะความประพฤติไม่ดีของตน

5. ท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว เมื่อเรามีกำลังพอก็เลี้ยงดูท่านตอบ

6. ท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศให้

นอกจากลูกๆ จะพึงรู้คุณและตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ดังกล่าวแล้ว สัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิก ก็พึงรู้คุณและตอบแทนพระคุณของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และศิษยานุศิษย์ ก็พึงรู้คุณและตอบแทนคุณครู อาจารย์ และแม้ชนทั้งหลาย ก็พึงรู้คุณและหาโอกาสตอบแทนพระคุณผู้เคยมีอุปการคุณแก่ตน ด้วยเช่นกัน

ผู้ทรงคุณธรรมข้อ "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" นั้น ย่อมจะเป็นผู้เจริญในทุกที่ เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสมงคลข้อ "ความกตัญญู" นี้ว่า เป็น "อุดมมงคล" คือ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้เป็นอย่างดีที่สุด ข้อหนึ่ง

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กฐินบุญพิเศษ khaosod


กฐินบุญพิเศษ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


กฐินเป็นบุญพิเศษ เป็นการถวายทานตามกาล เป็นสังฆทานคือการถวายทานเพื่อพระสงฆ์

การถวายทานที่บุคคลมีศรัทธามั่นคงแล้วถวายในท่ามกลางสงฆ์ สามารถทำได้เฉพาะบุคคลที่น้อมใจเลื่อมใสในสงฆ์เท่านั้น แต่การน้อมใจให้เลื่อมใสในสงฆ์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะผู้ที่จัดเตรียมไทยธรรมคิดว่า เราจะถวายเพื่อสงฆ์ จึงเข้าไปวัดแล้วนิมนต์ว่า ข้าพเจ้าขอนิมนต์พระรูปใดรูปหนึ่งเพื่อมารับสังฆทาน

เมื่อมีสามเณรรูปหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากสงฆ์มารับสังฆทาน ไม่แสดงอาการน้อยใจ หรือตัดพ้อต่อว่าอย่างไม่พอใจ แต่ตั้งใจถวายทานเพื่อสงฆ์ ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส



เมื่อมีพระเถระรูปหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากสงฆ์มารับสังฆทาน ไม่แสดงอาการชื่นชมยินดี ตั้งใจแน่วแน่ว่าเราถวายทานเพื่อสงฆ์ การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นการน้อมใจถวายทานเพื่อสงฆ์

หลักการให้ทานของผู้ฉลาด 5 ประการคือ



1.ให้ทานด้วยศรัทธา คือความเชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ผลของการให้ทานด้วยศรัทธานี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และมีรูปร่างงดงามสมส่วน น่ารัก ชวนมอง ผิวพรรณผ่องใสงามยิ่งนัก



2.ให้ทานด้วยความเคารพ ด้วยกาย วาจา และใจ ผลของการให้ทานด้วยความเคารพนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ มีบุตร ภรรยา สามีทาสคนใช้หรือบริวาร เป็นคนเชื่อฟังคำสั่งสอน ว่านอนสอนง่าย ไม่ขัดใจในการงานที่ดีทุกอย่าง



3.ให้ทานตามกาล คือ ให้ทานตามที่กำหนดเวลาเช่นการทอดกฐิน หรือให้ทานในฤดูกาลแห่งพืชผักผลไม้ ผลของการให้ตามกาลนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และมีความเจริญรุ่งเรืองไปตามวัย



4.ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ ไม่ยึดติดหรือเสียดายหลังจากให้แล้ว ผลของการให้ด้วยจิตอนุเคราะห์นี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ



5.ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น เมื่อให้ทานแล้วตนเองไม่เดือดร้อน และไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนเช่นกัน ผลของการให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่นนี้ จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ และสมบัติทุกอย่างที่มีอยู่ จะไม่เสียหายวิบัติไปด้วยภัย คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม โจรปล้น ถูกยึดทรัพย์เข้าพระคลัง หรือภัยจากญาติที่เป็นศัตรูกันแย่งชิงไป



การทอดกฐินนี้ ผู้เข้าใจจึงจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จะได้รับผลคือสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ในโลกนี้บางคนคิดว่า เราควรให้ทานเฉพาะตนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ในการชักชวนผู้อื่น แล้วให้ทานเฉพาะตน ไม่ชักชวนผู้อื่น เขาเกิดมาจะมีโภคสมบัติเท่านั้น แต่ไม่มีบริวารสมบัติ บางคนชักชวนผู้อื่น ตนเองไม่เคยให้ทาน เขาเกิดมาจะมีบริวารสมบัติเท่านั้น แต่ไม่มีโภคสมบัติ บางคนไม่เคยให้ทาน และไม่เคยชักชวนผู้อื่น เขาเกิดมาไม่มีโภคสมบัติและไม่มีบริวารสมบัติ บางคนให้ทานเองด้วย ชักชวนผู้อื่นด้วย เขาเกิดมาจะมีโภคสมบัติและบริวารสมบัติ



พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะการทอดกฐินมีอานิสงส์มาก ทำให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างถูกต้อง และได้ถวายทานเพื่อสงฆ์ ถวายทานตามกาล นับเป็นมงคลสำหรับชีวิต

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กฐินทาน khaosod


กฐินทาน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


การถวายผ้ากฐิน พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนถวายแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบ 3 เดือนเท่านั้น มีระยะเวลาที่จะกระทำทานชนิดนี้ได้เพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในปี พ.ศ. 2555 นี้ เริ่มวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน

การทอดกฐิน เป็นประเพณีสำหรับชาวพุทธที่มีศรัทธาเลื่อมใส ประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้พระภิกษุได้ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลถึงปัจจุบัน เป็นการเพิ่มพูนบุญกุศล นำความสุขมาให้

กฐิน มี 2 ประเภท คือ

1. มหากฐิน การทอดกฐินที่มีการจัดเตรียมกันระยะเวลานานเป็นเดือนจนถึงวันทอด เพื่อเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญ เพื่อพัฒนาถาวรวัตถุภายในวัดตามความจำเป็นและให้เจริญรุ่งเรือง

2. จุลกฐิน การทอดกฐินที่มีเวลาเร่งด่วน เหลือเวลาเพียงวันเดียวจะหมดเขตกฐินแล้ว ต้องรีบจัดของที่เป็นอุปกรณ์องค์กฐินและบริวารกฐินให้ทันเวลา โดยส่วนมากจุลกฐินจะมีสำหรับวัดที่มีกฐินตกค้างซึ่งไม่มีใครมาทอด สาธุชนเกรงว่าพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาไม่ได้ปฏิบัติตามพระวินัย จึงรีบจัดการทอดกฐินในวันสุดท้าย

การทอดกฐิน แบ่งตามประเภทของวัด คือ พระอารามหลวง (วัดหลวง) ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์น้อมนำไปพระราชทาน เรียกว่า กฐินหลวง

นอกจากกฐินหลวงโดยตรงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการ องค์กรเอกชน น้อมนำไปถวายตามพระอารามหลวงต่างๆ เรียกว่า กฐินพระราชทาน

วัดราษฎร์ทั่วไป จะมีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน หรือผู้มีจิตศรัทธานำไปถวายตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ บ้าง ต่างจังหวัดบ้าง เรียกว่า กฐินราษฎร์ หรือกฐินสามัคคี

การทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ เพราะเป็นสังฆทาน มิได้เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพราะเป็นการถวายทานตามกาล มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัด และเพราะมีอานิสงส์ทั้งสองฝ่าย คือพระภิกษุผู้รับกฐิน และอานิสงส์สำหรับผู้ถวาย

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบ 3 เดือนรับกฐินได้ เมื่อรับแล้วต้องสามัคคีกันปฏิบัติตามพระวินัยให้ถูกต้องจะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

1. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา คือ รับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่งสามารถไปที่อื่นได้อีกโดยมิต้องบอกลาภิกษุอื่น

2. เที่ยวไปโดยไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบ

3. ฉันคณโภชน์ได้ คือ ทายกทายิกานิมนต์รับอาหาร ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปรับแล้วนำมาฉันรวมกันได้

4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ คือ ภิกษุสามารถเก็บผ้าจีวรนอกจากผ้าไตรได้

5. จีวรเกิดขึ้นในวัดนั้น เธอมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง

พระภิกษุผู้ได้รับกฐินแล้วจะได้รับอานิสงส์นี้ เป็นเวลา 4 เดือน

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มัจฉริยะ khaosod


มัจฉริยะ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


คําว่า มัจฉริยะ แปลว่า ความตระหนี่ หมายความว่า หวงแหน เหนียวแน่น ท่านจำแนกไว้ 5 ประเภท คือ

1. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ได้แก่ ความหวงแหนที่อยู่อาศัยอันเป็นของตน ไม่พอใจให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นคนต่างด้าว ต่างชาติ ต่างนิกาย ต่างหมู่ ต่างคณะ ต่างพรรค ต่างพวก ต่างประเพณี กับฝ่ายตน เข้ามาอยู่อาศัยปะปนแทรกแซง จัดเป็นอาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่

2. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล ได้แก่ ความหวงแหนสกุลของตนเอง ไม่มีความประสงค์ คือไม่ต้องการให้สกุลอื่นภายนอกมาเกี่ยวดองผูกพันด้วย จัดเป็นกุลมัจฉริยะ ในฝ่ายคฤหัสถ์

อนึ่ง ความหวงแหนสกุลอุปัฏฐากของภิกษุ ไม่พอใจ คือไม่ยินดีให้บำรุงอุปถัมภ์ภิกษุอื่นๆ คอยกีดกันตัดรอนเสียโดยประการต่างๆ จัดเป็นกุลมัจฉริยะในฝ่ายบรรพชิต

3. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ได้แก่ ความหวงแหน เหนียวแน่น ทรัพย์สมบัติพัสดุสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นของตน ไม่ต้องการจะแบ่งปันให้บุคคลอื่น มีลาภมาก ก็มีความโลภมาก คำว่า พอละ หามีแก่คนตระหนี่ไม่ มีทรัพย์สมบัติเท่าใด ก็เก็บไว้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตนเท่านั้น จัดเป็นลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ

4. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ได้แก่ หวงแหนคุณงามความดี ไม่มีความปรารถนาให้บุคคลอื่นทัดเทียมตน หรือเสมอกับตนในคุณงามความดีนั้นๆ หมายความว่า ไม่ต้องการให้ผู้อื่นสู้ได้นั่นเอง จัดเป็น วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า วัณณะ แปลว่า สีกาย ได้แก่ ความหวงสวย หวงงาม อันเป็นกิเลสของสตรีสาว ไม่มีความปรารถนาให้หญิงสาวอื่นๆ สวยงามไปกว่าตน ก็นับเข้าในวัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะเหมือนกัน

5. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ ได้แก่ ความหวงแหนธรรมะ หวงศิลปวิทยาการต่างที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียนมา ไม่มีความปรารถนาจะแสดง จะบอก จะกล่าวสั่งสอนให้แก่บุคคลอื่นๆ ด้วยเกรงว่า เขาจะรู้ทัดเทียมตน เพราะต้องการรู้เฉพาะตัวแต่ผู้เดียวเท่านั้น จัดเป็นธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ



พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com