วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลมปาก khaosod

ลมปาก

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


บรรดา อวัยวะของคนเรานั้น เมื่อพูดถึงความสำคัญก็สำคัญทุกอย่าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากนั้นคือปาก ปากมีหน้าที่เป็นกองสื่อสารอย่างหนึ่ง มีหน้าที่เป็นที่ลำเลียงอย่างหนึ่ง เพราะเราจะรู้ความประสงค์หรือเรื่องราวของกันและกันได้ก็ต้องอาศัยปากเป็น กองสื่อสารให้ ส่งภาษาให้กันฟังรู้เรื่อง และเราเจริญเติบโตเป็นผู้เป็นคนก็ต้องอาศัยปากกินอาหารลำเลียงส่งอาหารเข้า ไปหล่อเลี้ยงร่างกายหล่อเลี้ยงชีวิต

ข้อว่าปากเป็นกองสื่อสารคือทำ หน้าที่ติดต่อให้ถึงกัน ก็คือทำหน้าที่พูดส่งภาษาให้กันฟัง ซึ่งมีทั้งดีทั้งร้าย โดยมีลักษณะเป็นยอดอาวุธ เมื่อกล่าวถึงอาวุธแล้ว อาวุธใดๆ ก็ตามในโลกนี้ จะวิเศษล้ำเลิศไปกว่าอาวุธคือปากเป็นไม่มี เราจะใช้พูดให้เป็นหรือให้ตายก็ได้ ลิ้นคนมักตัดคอคน ลิ้นคนทำคนบาดเจ็บมากกว่าดาบ บาดแผลเกิดขึ้นแล้วยังมีวันหาย แต่ความเจ็บใจเพราะลิ้นบาดนั้นยากมากที่จะหาย คำสั่งคำเดียวออกจากปลายลิ้น ย่อมเป็นยมราชแห่งชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ พูดสั้นๆ จะตายก็อยู่ที่ปลายลิ้น จะมีศรีสง่าก็อยู่ที่ปลายลิ้น แม้จะผูกมิตรพวกพ้องไว้ได้ก็อยู่ที่ปลายลิ้น

เมื่อกล่าวถึงลมแล้ว ลมมีอยู่สองอย่างคือ

1. ลมบก เช่น ลมทะเล ลมใต้ฝุ่น เป็นต้น

2. ลมปาก ปากของคนเรานั้นถือว่าเป็นยอดลม ลมที่เขาร่ำลือกันว่าร้ายแรงหนักหนา สามารถพัดพาเอาอาคารบ้านเรือนให้ปลิวกระจุยกระจายไปได้ แต่ก็ยังสู้ลมปากไม่ได้ ลมปากนี้ถึงบทดีก็ดีเหลือหลาย ถึงบทร้ายก็ร้ายฉกาจฉกรรจ์ ลมปากดีเปล่งออกมาแม้เพียงคำเดียวก็มีค่าควรเมืองเกิดเป็นเงินเป็นทอง สามารถให้คนมีความรักใคร่เคารพนับถือกัน ให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน และสามารถพัดให้คนวิวาทกันกลับเป็นมิตรกันได้ ส่วนลมปากพ่นพิษออกมาแม้เพียงคำเดียว สามารถทำให้เกิดการทะเลาะกัน ไม่สามัคคีกัน ฉะนั้นลมนอกที่ว่าแรงยังสู้ลมปากคนไม่ได้

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปากของคนเราไว้ 3 ประเภท คือ

1. คูถภาณี คนปากเหม็น คือ คนที่เห็นแก่ตัวเอง ไม่เห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่ลาภเล็กๆ น้อยๆ เมื่อถูกถาม แม้ไม่รู้ก็บอกว่ารู้ หรือรู้อยู่ก็บอกว่าไม่รู้ เป็นคนพูดไม่จริงทั้งๆ ที่รู้

2. ปุปผภาณี คนปากหอม คือ คนที่ไม่เห็นแก่ตัว และไม่เห็นแก่ลาภสักการะเพียงเล็กน้อย เมื่อถูกถามแม้ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ รู้เห็นอย่างไรก็บอกไปอย่างนั้น

3. มธุภาณี คนปากหวาน คือ คนพูดวาจาดีงามไพเราะเพราะพริ้งอ่อนหวานสละสลวย ชวนให้คนอื่นชอบฟัง รักใคร่พอใจ

อีก ประเภทหนึ่ง คนปากอัปมงคล ซึ่ง ชอบพูดแต่วาจาทุพภาษิต คือพูดชั่วฆ่าตัวเอง เช่น พูดเกินตัว พูดแข็งกระด้าง พูดกระทบกระแทก พูดเหน็บแนม พูดเสียดสีให้เขาได้รับความเจ็บใจ พูดยุยงให้เขาแตก แยกกัน เป็นต้น คนเช่นนี้ ปากเป็นอัปมงคล เป็นผู้ไม่ควรจะสนทนาปราศรัย ลักษณะปากอัปมงคลนี้ คือ ปากทุจริตนั่นเอง คนชนิดนี้เมื่อจะกล่าวแล้วมี 4 จำพวก คือ

1. คนปากปด คือ ชอบพูดแต่คำไม่จริง เช่น พูดคำจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง พูดหลอกลวงบ้าง พูดอำพรางอันเป็นการหักล้างประโยชน์อันจะพึงได้ ท่านแสดงเหตุแห่งการพูดปดไว้ถึง 9 ประการ คือ

1.1. พูดปดเพราะจะให้ต้นพ้นภัย

1.2. พูดปดเพราะจะเลี่ยงเอาชีวิตรอด

1.3. พูดปดเพราะจะเปลื้องตนจากการเบียดเบียนของมนุษย์

1.4. พูดปดเพราะจะเอาชนะ

1.5. พูดปดเพราะไว้อำนาจ

1.6. พูดปดเพราะจะแก้ความมัวหมองของตนเอง

1.7. พูดปดเพราะจะถูกจำจอง

1.8. พูดปดเพราะพูดเหลาะแหละ

1.9. พูดปดเพราะจะให้คนตั้งอยู่ในความดี

2. คนปากส่อเสียด คือ คนชอบพูดยุยงให้คนสองฝ่ายแตกร้าวกัน

3. คนปากหยาบ คือ คนชอบพูดให้ผู้ถูกว่าได้รับความเจ็บใจ

4. คนปากเพ้อเจ้อ คือ คนชอบพูดเหลวไหล พูดฟุ้งเฟ้อเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนัก ไม่รู้จักเวลาที่ควรพูด ไม่พูดอาศัยธรรม อาศัยหลักการหรือหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายควรสำรวมระวังในการที่จะพูด และควรพูดแต่คำที่เป็นประโยชน์ คำที่สร้างความสมานฉันท์ คำที่ประกอบไปด้วยคุณธรรม ก็จะทำให้ครอบครัวก็ดี สังคมก็ดี แม้แต่ประเทศชาติของเราก็ดี จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร

watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น