วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความสุข khaosod

ความสุข

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร watdevaraj@hotmail.com 0-2281-2430


เมื่อ พูดถึงความสุข เป็นสิ่งที่ทุกท่านทุกคนอยากจะมีอยากจะเป็น อยากจะครอบครองความสุขเอาไว้ ไม่อยากให้ความสุขจากไป แต่ไม่มีใครเลยมีความสุขฝ่ายเดียว ไม่เคยมีความทุกข์ และไม่เคยมีใครเลยมีความทุกข์อย่างเดียว ไม่เคยได้รับความสุข ทุกท่านทุกคนต่างก็มีความสุขความทุกข์กันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทุกข์มากทุกข�น้อย สุขมากสุขน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง

ใน ทางพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องของความสุขเอาไว้มากมาย และความสุขที่จะได้รับนั้น ต้องประกอบด้วยฐานะ 4 ประการ คือ

ประการ ที่ 1 สุขเกิดแต่การมีทรัพย์ เพราะทรัพย์เป็นเหตุให้ปลื้มใจ คือ ความสมบูรณ์ในปัจจัย 4 คนมีทรัพย์ย่อมได้รับความสุข แต่ถ้ามีทรัพย์ ไม่รู้ในการที่จะใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ก็หาความสุขมิได้ มีแต่ความเดือดร้อน กังวลใจในการรักษาทรัพย์สมบัติที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น อีกทั้งไม่รู้วิธีการบริหารทรัพย์ ให้เป็นประโยชน์ในทางที่ชอบ ทรัพย์นอกจากไม่เพิ่มพูนขึ้นแล้ว ยังจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ อีกด้วย

ประการ ที่ 2 สุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์บริโภค ผู้ที่ไม่มีปัญญา ย่อมจับจ่ายใช้สอยทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความหมดเปลือง กล่าวคือการไม่รู้จักประมาณการใช้จ่ายทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติก็มีแต่อันจะต้องสิ้นไปหมดไป ถูกทำลายไปโดยปราศจากประโยชน์

ส่วน ผู้มีปัญญาย่อมใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ รู้จักประมาณในการใช้จ่าย รู้จักการบริหารในทรัพย์สมบัติของตน ให้เกิดประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย ให้เป็นไปแต่พอเหมาะพอควร ให้เกิดความพอดีกับกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ ให้พอเหมาะกับรายได้ที่ตนได้รับ และให้เหลือพอที่จะอดออม เป็นทุนสะสมสำหรับชีวิตครอบครัว

ประการที่ 3 สุขเกิดแต่การไม่ต้องเป็นหนี้ หนี้คือสิ่งที่ตกค้างจะต้องชำระเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งแล้ว ทำให้เกิดความทุกข์อีกด้วย คนมีหนี้จะเกิดอาการหวาดผวา นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ คนมีหนี้สินมากๆ สังคมจะขาดความเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับ ยิ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาหรือตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะกลายเป็นคนล้มละลาย เพราะฉะนั้น การไม่เป็นหนี้ใคร จึงเป็นความสุข

ประการ ที่ 4 สุขเกิดแต่การทำงานที่ปราศจากโทษ ผู้ที่ทำงานปราศจากโทษย่อมจะมีความสุข เพราะเป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดต่อกฎหมาย ไม่ผิดต่อศีลธรรม ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่ใครๆ คนที่ทำงานที่ปราศจากโทษนั้น ย่อมได้รับความสุข ความอิ่มใจ ปลาบปลื้มใจ เพราะไม่ต้องหวาดผวา ไม่เหมือนกับคนที่ทำงานทุจริต ผิดกฎหมาย ประกอบไปด้วยโทษ เขาย่อมหวาดกลัวในขณะที่ทำ และเดือดร้อนในขณะที่ทำเสร็จแล้ว

ความสุขดังกล่าวมา จะเกิดมีขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันเพื่อช่วยกันสร้าง ประเทศชาติบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรือง อย่าเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกันและกัน ให้คำนึงถึงส่วนรวมคือประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะเมื่อประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองแล้ว เราก็มีความสุข อยู่เย็นเป็นสุขโดยถ้วนหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น