วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

คำพูด khaosod

คำพูด

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร/ www.watdevaraj.com 0-2281-2430


คน โบราณพูดว่า ปากเป็นเอก หมายความว่า คนจะสามัคคีปรองดองกันได้ ก็เพราะการพูด จะแตกสามัคคีกัน ก็เพราะคำพูด ทั้งการที่จะยกทรัพย์สินเงินทองให้ผู้อื่นก็ดี การจะรบราฆ่าฟันกันก็ดี การที่สามีภรรยาหย่าร้างกันก็ดี ล้วนแล้วเกิดเพราะคำพูดทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการที่ท่านกล่าวว่า ปากเป็นเอก ก็เพื่อเตือนผู้พูดให้ระมัดระวังคำพูด ซึ่งคำพูดที่ดี ท่านเรียกว่า วาจาสุภาษิต

อันวาจาที่จะเป็นสุภาษิตได้นั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ 5 ประการ คือ

1. พูดตามกาล คือพูดถูกกาละ เทศะ

2. พูดแต่คำสัตย์

3. พูดแต่คำไพเราะอ่อนหวาน

4. พูดคำที่ประกอบด้วยประโยชน์

5. พูดด้วยจิตมีเมตตา

พูดถูกกาละ เทศะ กาละ ได้แก่ เวลา เทศะ ได้แก่ สถานที่ ก่อนที่จะพูด ก็ต้องดูเวลาก่อนว่าเวลานี้เขาพูดเรื่องอะไรกัน เช่น เขาพูดเรื่องเกี่ยวกับการทำสาธารณ ประโยชน์ ควรทำอย่างนี้อย่างนั้น มีประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่กลับไปพูดตรงกันข้ามเสียว่าไม่มีประโยชน์ ถ้าพูดถูกกาละ เทศะ ก็มีประโยชน์ จัดเป็นวาจาสุภาษิต

พูดแต่คำสัตย์ คำสัตย์ตรงกันข้ามกับคำเท็จ ผู้พูดคำเท็จย่อมขาดความเชื่อถือของคนทั้งหลายส่วนคำสัตย์นั้นดี มีประโยชน์ ดังคำว่า "คำสัตย์เป็นวาจาไม่ตาย" คือคนใดพูดคำสัตย์และเป็นประ โยชน์แก่ผู้อื่น แม้ตัวจะตาย แต่คำพูดนั้นก็ไม่ตาย

พูดไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งเป็นที่ชอบใจของคนทุกชั้น มารดาบิดาเจรจากับบุตรธิดาด้วยคำอ่อนหวาน คำนั้นย่อมจับใจของบุตรธิดา ทำให้เกิดความรัก บุตรธิดาผู้รู้จักพูด ก็ย่อมเป็นที่รักของมารดาบิดา ท่านผู้เป็นใหญ่ฉลาดในการปฏิสันถาร กล่าวคำทักทายปราศรัยโปรยปรายแก่ผู้น้อยทั่วหน้า ย่อมยังตนให้เป็นที่รักนับถือของคนทั้งหลาย อาจยังผู้น้อยให้มีแก่ใจทำงานด้วยความภักดี อันวาจาไพเราะอ่อนหวาน เปรียบดังอาหารมีโอชารส ยังผู้กินให้พอใจ ติดใจ ต้องการกินอีก

พูดคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ คือ เมื่อจะพูดแต่ละครั้งก็ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง เช่นพูดชี้ชวนให้ผู้ฟังมีความขยันทำงาน โดยชี้โทษของความเกียจคร้านให้ผู้ฟังเห็นว่า เป็นเหตุให้ยากจน ไม่มีคนนับถือ มีแต่ความลำบาก และชี้คุณของความขยัน อดทนทำงานโดยสุจริต คือ มีทรัพย์สมบัติ สามารถตั้งตัวได้ ไม่ลำบาก มีคนเคารพนับถือ หรือพูดแนะนำให้ผู้ฟังเกิดอุตสาหะ คือ ทำสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อม และพูดแนะนำให้ผู้ฟังกลัวบาป คือ ความผิด ซึ่งมีผลตรงกันข้ามกับบุญ คือ ความดี

พูดด้วยจิตเมตตา คือผู้พูดมีเมตตาอยู่ในใจ ปรารถนาดีแก่ผู้ฟัง ไม่ใช่ปรารถนาร้าย เพราะการไม่เบียดเบียนกัน เป็นสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังคำสอนว่า "ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก" เป็นความจริงถ้ามนุษย์เราเว้นจากการเบียด เบียนกัน มีเมตตาต่อกัน ต่างฝ่ายต่างทำมาหากินตามฐานะของตน ไม่ต้องกังวลถึงภยันตรายอันจะพึงมีเพราะความเบียดเบียน จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็เป็นสุข

ดังนั้น ผู้พูดแต่คำที่ดี ไพเราะ ย่อมจะทำให้ผู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง เกิดความชื่นใจ สบายใจ สุขใจ ทำให้คนรักใคร่นับถือ แต่ถ้าตรงกันข้าม คือพูดชั่ว นอกจากจะทำให้ตนเองเสียชื่อเสียงแล้ว ย่อมกลับทำลายคนรอบข้างในทางอ้อมอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น