"ฝูงแกะที่มีราชสีห์นำ ดีกว่าฝูงราชสีห์ที่มีแกะนำ"
จอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงพระนิพนธ์ถึงคุณวุฒิของฮานนิบาลไว้ในหนังสือเล่มเดิม ว่า คุณวุฒิของฮันนิบาลในทางยุทธศาสตร์ และทางยุทธวิธี นั้น ดังต่อไปนี้
๑) ตั้งความมุ่งหมายในชั้นต้นถูกต้อง คือคิดทำลายกองทัพข้าศึกเสียก่อน ฮันนิบาลไม่ได้ตีเมืองโรมเพราะรู้สึกว่ากองทัพโรมันยังไม่สิ้นกำลังแท้
๒) เมื่อตั้งความมุ่งหมายขึ้นแล้วพยายามดำเนินไปหาความมุ่งหมายนั้นจงได้ ไม่โอนเอนไปจากความมุ่งนั้นเลย คือถึงเมื่อมีโอกาศมีช่องที่จะไปตีเมืองโรมได้ก็ไม่ไป เพราะรู้สึกเสียว่าถึงตีเมืองหลวงได้แล้วแต่กองทัพโรมันยังมีอยู่การสงคราม ก็ไม่สิ้นสุดอยู่นั่นเอง
๓) สามารถที่จะจัดฐานทัพใหม่ได้เสมอ คือเกลี้ยกล่อมชาติต่างๆ ให้เป็นมิตร์ของตน และส่งเสบียงอาหารให้กองทัพไม่อดอยาก และกลับได้ทหารเพิ่มเติมเสียซ้ำ ฮันนิบาลอยู่ในอิตาเลีย ๑๕ ปี โดยไม่ต้องรับความอุดหนุนจากบ้านเมืองเพราะใช้เมืองข้าศึกนั้นเองเป็นฐาน ทัพ เป็นที่หาเสบียง
๔) มีอุบายอันดีทำให้ทหารรักใคร่นับถือฟังบังคับบัญชาโดยแน่นอนยิ่ง ทหารไม่ได้คิดเอาใจออกหากเลยจนครั้งเดียว และทหารนั้นใช่ว่าพวกเดียวคณะเดียวกันเมื่อไร ล้วนต่างชาติ ต่างภาษาทั้งสิ้น
๕) ตริตรองการที่ตนจะกระทำนั้นให้ถูกกับนิไสยของข้าศึกที่สืบทราบได้โดยแน่นอน
๖) ใช้กลศึกหลายอย่างต่างพันธ์
๗) รู้จักอาไศรยลักษณภูมิประเทศให้เป็นประโยชน์แก่กองทัพตน (เทรบเบีย ทเลสาปตราซิเมน)
๘) รู้จักใช้ทหารม้า
๙) เข้าตีข้าศึกโดยแรงแต่ต้นใช้กำลังเกือบทั้งหมดพร้อมกันแต่แรก ทั้งโอบปีกตีปีกด้วย
๑๐) ได้คิดแก้ไขวิธีรบของ ฟาลังให้ดียิ่งขึ้น คือให้ทหารราบของตน ใช้อาวุธของทหารโรมัน และคิดเติมแนวที่ ๒ ที่ ๓ ที่ให้เป็นแนวหนุนของแนวที่ ๑ นั้นขึ้น
การที่ ฮันนิบาลได้รบชะนะกองทัพโรมันหลายหนหลายครั้งนั้น ก็เป็นเพราะตัวฮันนิบาลมีปัญญาสามารถดีกว่าแม่ทัพโรมันต่างๆ ประวัติของฮันนิบาลเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า การบังคับบัญชากองทัพในสนามรบเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นกำลังของกองทัพอันหนึ่ง ในการที่กองทัพคาร์ธาโกทำสงครามกับโรมันคราวนี้ กำลังแรงกล้าของกองทัพคาร์ธาโกก็อยู่ที่คุณวุฒิความดีของแม่ทัพนั้นเป็นที่ ตั้ง ฝ่ายโรมันมีจำนวนทหารก็มากกว่า วิธีรบของเลงิโอหรือก็ดีกว่าวิธีรบของฟาลัง ทหารโรมันก็กล้าหาญและคล่องแคล่วมั่นคงกว่าทหารของฮันนิบาล แต่ถึงกระนั้นก็ดีฮันนิบาลยังรบชะนะได้ เพราะความสามารถของตนโดยฉเพาะเท่านั้น
แต่นั้นมา ชาวโรมันจึงได้กล่าวความเป็นคำสุภาษิตว่า
"ฝูงแกะที่มีราชสีห์นำ ดีกว่าฝูงราชสีห์ที่มีแกะนำ"
บทเรียนจากการสงคราม
ชาวโรมันและการปกครองแบบโรมันมีลักษณะดีกว่าชาวคาร์เธจ ชาวโรมันโดยมาก กตัญญูซื่อสัตย์ต่อชาติของตน ยินดีที่จะรบและตายให้แก่ชาติ ส่วนชาวคาร์เธจมุ่งแต่ทางการค้า สร้างความร่ำรวยคิดว่าจ้างชาวต่างชาติไปรบดีกว่า แม้มีแม่ทัพที่ดีมีความสามารถก็ไม่สนับสนุน
ถึง แม้ว่าฮานนิบาลจะทำการรบได้ผลดี มีความคิดใช้กลยุทธใหม่ต่างจากการรบที่แม่ทัพท่านก่อนๆ เคยปฏิบัติกันมาในอดีต จนได้รับคำสรรเสริญยกย่องว่าเป็นบิดาหรือบ่อเกิดแห่งยุทธศาสตร์เพราะความ สามารถเฉพาะตัว ทั้งๆ ที่ถูกขัดขวางจากรัฐบาลด้วยซ้ำไป หากรัฐบาลคาร์เธจคิดสนับสนุนกองทัพของตนแล้ว อาณาจักรคาร์เธจอาจจะไม่เหลือเพียงชื่อ และทรากเช่นที่เป็นอยู่ก็เป็นได้
ถึง กระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์โบราณยืนยันว่า ชนชาติโบราณต่อมายังเห็นว่า ฮานนิบาลเก่งกาจสามารถกว่าสกิปิโอ และว่าสกิปิโอได้เรียนยุทธศาสตร์จากฮานนิบาล
"เรื่อง ของฮานนิบาลทำให้เราเห็นได้ว่า มหาบุรุษหรือแม่ทัพแม้จะเก่งกาจเพียงใดก็ดี แต่ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ดีจริงแล้ว มหาบุรุษผู้นั้นในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้น ความดีและความสามารถของประชาชนทั่วไปจึงสำคัญอย่างยิ่ง การอบรมและการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาของชาติทั้งชาติเพื่อจะให้มีประชาชนดี พอที่จะสนับสนุนมหาบุรุษหรือหมู่ผู้คนที่จะเป็นผู้นำ จึงเป็นของสำคัญอย่างยิ่งเหลือที่จะพรรณนาได้"
ชีวะประวัติของฮานนิบาล จอมทัพแห่งกรุงคาร์เธจ พันตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น