วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ปุถุชน 3 ประเภท

โอวาทของ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร


ปุถุชน 3 ประเภท

1. อันธพาลปุถุชน บุคคล ที่เป็นผู้มีตาใจบอดมืดสนิท มองไม่เห็นสัจจะเอาเลย เรียกว่าเป็นอันธพาลปุถุชน ปุถุชนผู้เป็นอันธพาล คือเป็นผู้เขลาไม่รู้เหมือนอย่างคนตาบอด

2. ปุถุชนสามัญ บุคคลเมื่อมีความรู้ขึ้นรางๆ เมื่อได้สดับฟังธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาที่ชี้ให้รู้จักทุกข์ ให้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ให้รู้จักความดับทุกข์ ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็เกิดความรู้ความเห็นขึ้นรางๆ แม้จะไม่แจ่มชัดนักตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา สามารถที่จะละความชั่ว กระทำความดีได้ตามสมควร ความเป็นอันธพาลก็ย่อมหายไป มาเป็นปุถุชนสามัญ

3. กัลยาณปุถุชน บุคคลเมื่อได้ปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น มีดวงตาแจ่มใสขึ้น มองเห็นสัจจะตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแจ่มชัดขึ้น สัจจะทั้ง 4 มีทุกขสัจจะเป็นต้น ปรากฏถนัดขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นมรรค ซึ่งเป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ความเป็นปุถุชนสามัญก็หายไป เลื่อนเป็นกัลยาณปุถุชน คือปุถุชนผู้ที่เป็นคนดีคนงาม มีความมั่นคงในธรรมตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา จิตใจของกัลยาณปุถุชน ย่อมแจ้งชัดขึ้นในสัจจะทั้ง 4 นี้ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนไว้ จึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาทุกคน จะพึงตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาให้ตระหนักชัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปุถุชน แปลว่า ผู้มีกิเลสหนา คือคนปกติที่ยังมีกิเลส, คนธรรมดาสามัญ, คนที่ยังมิได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยะ

กัลยาณปุถุชน หมายถึงคนธรรมดาที่มีกัลยาณธรรม ประพฤติปฏิบัติดีงาม มีคุณธรรมสูง ได้แก่ คนที่เรียกกันว่ามีศีลมีธรรม มั่นคงอยู่ในศีลในธรรมดำรงชีวิตด้วยการทำมาหากินอย่างสุจริต มีความซื่อสัตย์ อดทน ขยันหมั่นเพียร มีจิตใจงดงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน

กัลยาณปุถุชน จัดเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง แม้จะมิได้เป็นอริยบุคคล แต่ได้รับความเคารพนับถือและยกย่องสรรเสริญจากบุคคลทั่วไป

อ้างอิง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น