วุฒิธรรม
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting
คน ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วล้วนต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยความสุข ความเจริญด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครคนไหนที่ต้องการความทุกข์ ความเสื่อมในชีวิต คนทุกคนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่แตกต่างกันนั้น ก็มาจากการประกอบคุณงามความดีแต่ชาติปางก่อน และจากการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมะในปัจจุบัน
ธรรมะที่เป็นหลักของใจ อันเป็นอุบายวิธีที่จะให้บรรลุความเจริญอันเป็นเหตุแห่งความสุขในปัจจุบัน นั้น มีชื่อเรียกว่า วุฒิธรรม คือ ธรรมะอันจะก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย มี 4 ประการ คือ 1.การคบหาสัตบุรุษ 2.การฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ 3.การพิจารณาคำสั่งสอนนั้นโดยอุบายอันแยบคาย 4.การปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม
ประการที่ 1 คือ การคบหาสัตบุรุษ ได้แก่ การคบหาสมาคมกับท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณธรรม ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จัดบุคคลในการคบหาไว้เป็น 2 ประเภท คือ คนพาล คนที่ไม่ควรคบหา และบัณฑิต คนที่ควรคบหา คนพาล ได้แก่ ผู้ตัดความเจริญของตนและผู้อื่น ถือเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ ทำความพินาศให้เกิดแก่ตนและผู้อื่น ส่วนบัณฑิต ได้แก่ ผู้ดำเนินไปในกิจที่เป็นประโยชน์ด้วยปัญญา สงบจากความชั่ว ประพฤติแต่ความดีด้วยกายวาจาและใจ รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า บัณฑิตหรือสัตบุรุษนี้เป็นบุคคลที่ควรคบหาสมาคมด้วย เพราะเป็นผู้ไม่ชักนำไปในทางที่ผิด ไม่แนะนำให้ประกอบกิจอันมิใช่ธุระ มีแต่ชักนำไปในทางที่เป็นประโยชน์ ในทางที่ให้เกิดความสุขความเจริญ
ประการที่ 2 คือ การฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ ลำพังแต่การคบหาสมาคมด้วย สัตบุรุษเพียงอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่สำเร็จประโยชน์ตามประสงค์ จำเป็นต้องเป็นผู้เอาใจใส่เล่าเรียน แสวงหาความรู้ เชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านด้วย ท่านแนะนำสั่งสอนอย่างไรต้องตั้งใจฟัง เพื่อที่จะน้อมรับคำแนะนำสั่งสอนนั้นๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามต่อไป
ประการที่ 3 คือ ความกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ได้แก่ การตริตรองให้รู้จักสิ่งดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ ธรรมข้อนี้ย่อมมีอุปการะแก่บุคคลผู้มุ่งหวังความสุขความเจริญเพื่อตน เมื่อได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ ได้ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้วก็จำต้องใช้โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้ทราบถึงสิ่งที่ดีหรือชั่วเพื่อเป็นทางปฏิบัติต่อไป ฟังแล้วต้องคิดตามไปด้วย หาเหตุผลที่ปรากฏในคำสั่งสอนนั้นโดยยึดเอาธรรมเป็นหลัก ไม่ยึดเอาความคิดของตนเองหรือคนหมู่มากเป็นใหญ่ เมื่อรู้ถึงเหตุและผลของคำสั่งสอนนั้นแล้ว ก็จักได้นำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาตน ให้มีความสุขความเจริญตามปรารถนา
ประการที่ 4 คือ การปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม ได้แก่ การปฏิบัติให้ถูกส่วนและสมควรแก่ความหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตรองเห็นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นก็พึงประพฤติปฏิบัติธรรมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ และพึงประพฤติตามความเหมาะสมแก่ภาวะของตน เป็นผู้ใหญ่ก็พึงประพฤติอย่างผู้ใหญ่ที่ดี อันเป็นที่เคารพนับถือของผู้น้อย เป็นผู้น้อยก็พึงปฏิบัติตนอย่างผู้น้อย ไม่ยกตนเทียมท่าน และพยายามปฏิบัติให้สูงขึ้นโดยลำดับ
ธรรมเป็นเครื่องเจริญทั้ง 4 ประการนี้ ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องอิงอาศัยกัน เป็นเหตุผลของกันและกันโดยลำดับ กล่าวคือ การคบหาสัตบุรุษเป็นเหตุให้ได้ฟังธรรม เมื่อได้ฟังธรรมโดยเคารพแล้วก็เป็นเหตุให้ได้พิจารณาตริตรองให้รู้จักสิ่ง ที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ เมื่อได้ตริตรองทราบเหตุผลว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ผลดีแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้รู้จักเลือกเฟ้นธรรมเพื่อปฏิบัติให้พอเหมาะพอควรแก่ภาวะและ อัธยาศัยของตน
เพราะฉะนั้นธรรมทั้ง 4 ประการ อันมีชื่อว่าวุฒิธรรม ธรรมอันเป็นเหตุให้เจริญ จึงเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลแก่บุคคลทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย เป็นปัจจัยให้ได้ประสบความสุขความเจริญสมดังปรารถนา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น