วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

อย่าจนใจ khaosod

อย่าจนใจ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ขึ้น ชื่อว่าความจนแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น เช่นจนทรัพย์สมบัติ เมื่อจนก็ต้องเที่ยวกู้หนี้ยืมสินของคนอื่น การกู้หนี้สินเงินทองคนอื่นก็เป็นทุกข์ เมื่อยากจนทรัพย์คือธรรมะ ไม่มีธรรมะประจำใจก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน เพราะใจจะอยู่เฉยๆ ว่างๆ ไม่ได้ จะต้องมีที่เกาะที่ยึดถือ คือต้องมีอารมณ์ เมื่อใจไม่มีธรรมะ อารมณ์ของจิตใจก็เป็นเรื่องของโลก สภาพที่เรียกว่า โลกนั้น เพราะมีการสลายไปด้วยปัจจัยมีหนาวและร้อนเป็นต้น

เพราะฉะนั้น เมื่ออารมณ์ไม่แน่นอน จิตใจก็ไม่แน่นอน จึงต้องมีธรรมะ คนที่ไม่มีธรรมะ เรียกว่าคนจนใจ ธรรมะในที่นี้ทรงแสดง ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญา ถ้าจิตใจไม่มีธรรมะเหล่านี้ ก็เหมือนไม่มีทรัพย์สินเงินทอง เขาจะต้องประพฤติทุจริต คือ ประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา และใจ การประพฤติทุจริต เปรียบกับการกู้หนี้ เมื่อประพฤติทุจริตแล้วย่อมหาทางออก โดยแสดงเล่ห์กลเพื่อปกปิดความชั่วที่ตนได้กระทำไว้ ด้วยหวังว่าคนอื่นอย่าพึงรู้ว่าตนเป็นคนอย่างนี้ๆ การปกปิดความชั่ว เปรียบกับต้องส่งดอกเบี้ย เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้นั้นจะอยู่ในหมู่คณะไม่ได้

ความ จนภายนอกเป็นทุกข์ แต่มันเป็นทุกข์ด้วยเรื่องภายนอกไม่รุนแรง สำหรับความจนภายในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จิตใจก็เดือดร้อนกระ สับกระส่ายทรุนทุราย มองไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม เพราะฉะนั้น สาธุชนจึงควรบำเพ็ญธรรมะ 5 ประการ ให้ปรากฏขึ้นที่ใจ

ประการที่ 1 ศรัทธา ความเชื่อ ได้แก่เชื่อว่าทำอะไรลงไปเป็นกรรม ไม่สูญหายไปไหน ผู้ทำย่อมได้รับผล ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

ประการ ที่ 2 หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ ไม่กล้าทำความชั่วทุจริต ละอายต่อสิ่งภายนอก เช่น ไม่กล้าทำความชั่วเพราะละอายว่าคนอื่นจะเห็น หรือไม่เห็น เทวดาฟ้าดินก็จะทราบ ดังนี้แล้วไม่ทำความชั่ว

ประการ ที่ 3 โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป กลัวการที่จะเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง คนที่มีโอตตัปปะประจำใจ แม้กิเลสจะมาชวนใจให้กระทำความชั่ว ก็เกรงว่าจะได้รับผลทุกข์ เดือดร้อนในภายหลัง แล้วไม่กระทำ

ประการที่ 4 วิริยะ ความเพียร ความเพียรนี้มีลักษณะทำใจให้กล้าหาญ ให้บากบั่นไม่ท้อถอย ให้มุ่งไปข้างหน้า ในการละความชั่วประพฤติความดี ทำให้ผู้ปฏิบัติล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

ประการ ที่ 5 ปัญญา ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ทุกคนมีปัญญาติดตัวมาแต่กำเนิด เรียกว่า ชาติปัญญา แต่ถ้าไม่ได้ฝึกฝนอบรมก็ไม่แหลมคม เหมือนมีดขวาน ถ้าไม่ได้ลับก็ไม่คม ฉะนั้น ควรค้นคิดพิจารณาในวิชาที่ได้ศึกษาแล้วให้แตกฉานและทบทวนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ธรรมะ 5 ประการ แต่ละประการจึงเรียกว่า ทรัพย์ภายใน ศรัทธา ก็เป็นเหตุให้บำเพ็ญกุศลอื่นๆ พอกพูนเจริญยิ่งขึ้น หิริโอตตัปปะ ก็เป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำความชั่ว วิริยะ ความเพียร ก็เป็นเหตุให้ขยันหมั่นเพียรในการประกอบกิจอันเป็นประโยชน์แก่ตนเป็น ประโยชน์แก่ผู้อื่นตลอดถึงประเทศชาติ ปัญญา ก็เป็นเครื่องส่งเสริมให้รู้ดีรู้ชอบ ให้เห็นดีเห็นชอบ รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ฉะนั้น ธรรมะ 5 ประการนี้ จึงเป็นธรรมะต้นทุน เมื่อเรามีธรรมต้นทุนแล้ว ก็สามารถที่จะให้เกิดดอกออกผลงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป



พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น