วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

วุฒิธรรม khaosod

วุฒิธรรม

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting



คน ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วล้วนต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยความสุข ความเจริญด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครคนไหนที่ต้องการความทุกข์ ความเสื่อมในชีวิต คนทุกคนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่แตกต่างกันนั้น ก็มาจากการประกอบคุณงามความดีแต่ชาติปางก่อน และจากการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมะในปัจจุบัน

ธรรมะที่เป็นหลักของใจ อันเป็นอุบายวิธีที่จะให้บรรลุความเจริญอันเป็นเหตุแห่งความสุขในปัจจุบัน นั้น มีชื่อเรียกว่า วุฒิธรรม คือ ธรรมะอันจะก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย มี 4 ประการ คือ 1.การคบหาสัตบุรุษ 2.การฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ 3.การพิจารณาคำสั่งสอนนั้นโดยอุบายอันแยบคาย 4.การปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม

ประการที่ 1 คือ การคบหาสัตบุรุษ ได้แก่ การคบหาสมาคมกับท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณธรรม ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จัดบุคคลในการคบหาไว้เป็น 2 ประเภท คือ คนพาล คนที่ไม่ควรคบหา และบัณฑิต คนที่ควรคบหา คนพาล ได้แก่ ผู้ตัดความเจริญของตนและผู้อื่น ถือเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ ทำความพินาศให้เกิดแก่ตนและผู้อื่น ส่วนบัณฑิต ได้แก่ ผู้ดำเนินไปในกิจที่เป็นประโยชน์ด้วยปัญญา สงบจากความชั่ว ประพฤติแต่ความดีด้วยกายวาจาและใจ รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า บัณฑิตหรือสัตบุรุษนี้เป็นบุคคลที่ควรคบหาสมาคมด้วย เพราะเป็นผู้ไม่ชักนำไปในทางที่ผิด ไม่แนะนำให้ประกอบกิจอันมิใช่ธุระ มีแต่ชักนำไปในทางที่เป็นประโยชน์ ในทางที่ให้เกิดความสุขความเจริญ

ประการที่ 2 คือ การฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ ลำพังแต่การคบหาสมาคมด้วย สัตบุรุษเพียงอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่สำเร็จประโยชน์ตามประสงค์ จำเป็นต้องเป็นผู้เอาใจใส่เล่าเรียน แสวงหาความรู้ เชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านด้วย ท่านแนะนำสั่งสอนอย่างไรต้องตั้งใจฟัง เพื่อที่จะน้อมรับคำแนะนำสั่งสอนนั้นๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามต่อไป

ประการที่ 3 คือ ความกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ได้แก่ การตริตรองให้รู้จักสิ่งดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ ธรรมข้อนี้ย่อมมีอุปการะแก่บุคคลผู้มุ่งหวังความสุขความเจริญเพื่อตน เมื่อได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ ได้ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้วก็จำต้องใช้โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้ทราบถึงสิ่งที่ดีหรือชั่วเพื่อเป็นทางปฏิบัติต่อไป ฟังแล้วต้องคิดตามไปด้วย หาเหตุผลที่ปรากฏในคำสั่งสอนนั้นโดยยึดเอาธรรมเป็นหลัก ไม่ยึดเอาความคิดของตนเองหรือคนหมู่มากเป็นใหญ่ เมื่อรู้ถึงเหตุและผลของคำสั่งสอนนั้นแล้ว ก็จักได้นำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาตน ให้มีความสุขความเจริญตามปรารถนา

ประการที่ 4 คือ การปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม ได้แก่ การปฏิบัติให้ถูกส่วนและสมควรแก่ความหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตรองเห็นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นก็พึงประพฤติปฏิบัติธรรมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ และพึงประพฤติตามความเหมาะสมแก่ภาวะของตน เป็นผู้ใหญ่ก็พึงประพฤติอย่างผู้ใหญ่ที่ดี อันเป็นที่เคารพนับถือของผู้น้อย เป็นผู้น้อยก็พึงปฏิบัติตนอย่างผู้น้อย ไม่ยกตนเทียมท่าน และพยายามปฏิบัติให้สูงขึ้นโดยลำดับ

ธรรมเป็นเครื่องเจริญทั้ง 4 ประการนี้ ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องอิงอาศัยกัน เป็นเหตุผลของกันและกันโดยลำดับ กล่าวคือ การคบหาสัตบุรุษเป็นเหตุให้ได้ฟังธรรม เมื่อได้ฟังธรรมโดยเคารพแล้วก็เป็นเหตุให้ได้พิจารณาตริตรองให้รู้จักสิ่ง ที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ เมื่อได้ตริตรองทราบเหตุผลว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ผลดีแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้รู้จักเลือกเฟ้นธรรมเพื่อปฏิบัติให้พอเหมาะพอควรแก่ภาวะและ อัธยาศัยของตน

เพราะฉะนั้นธรรมทั้ง 4 ประการ อันมีชื่อว่าวุฒิธรรม ธรรมอันเป็นเหตุให้เจริญ จึงเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลแก่บุคคลทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย เป็นปัจจัยให้ได้ประสบความสุขความเจริญสมดังปรารถนา

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

อานิสงส์แห่งเมตตา khaosod

อานิสงส์แห่งเมตตา

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



เมตตา แปลว่า คุณสมบัติเป็นเหตุให้สนิทสนม รักใคร่ หวังแต่ความสุขความเจริญ เป็นหนึ่งในบารมี 10 ประการ ที่ท่านผู้ปรารถนาจะเป็นพุทธะต้องบำเพ็ญ เป็นธรรมะประจำใจของผู้เจริญกรรมฐาน เป็นธรรมะของพระพรหม และท่านที่ปฏิบัติตนคล้ายพระพรหม เช่น บิดามารดาเป็นพรหมของลูก พระมหากษัตริย์เป็นพรหมของพสกนิกร ท่านเหล่านี้มีพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา คิดที่ทำประโยชน์แก่มนุษย์และสัตว์ทั่วหน้า กรุณา ใฝ่ใจที่ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ยากเดือดร้อน มุทิตา พลอยยินดีด้วยเมื่อเขามีความสุข มีความเจริญงอกงาม อุเบกขา มีจิตเสมอและเที่ยงตรงดุจตาชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง ประจำใจอยู่เสมอ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็จะก่อให้เกิดความชุ่มฉ่ำความร่มเย็น เหมือนต้นไม้ได้ปุ๋ยได้น้ำ ฉะนั้น

ตราบใดที่จิตใจของทุกๆ คน ยังมีกิเลสหนา มีความเห็นแก่ตัว มีความอิจฉาริษยาอยู่ ตราบนั้นการเจริญเมตตาเพื่อขับไล่พยาบาท อันเป็นปฏิปักษ์กับเมตตาค่อนข้างจะเหลือวิสัย

ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้รู้จึงได้แนะนำวิธีเจริญเมตตาให้มีในใจหลายวิธีด้วยกัน เช่น ให้นึกถึงคนอื่นแล้วเทียบเคียงกับตนว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น หรือพยายามทำใจให้กว้างมองหาความดีส่วนหนึ่งของเขาแล้วนึกถึงส่วนที่ดีนั้น ไว้ หรือพยายามคิดว่าความโกรธพยาบาทเหมือนไฟ เป็นตัวทำลายล้างความดี ทำลายความสุขทุกอย่าง เมื่อคิดได้เช่นนี้ ก็อย่าได้โกรธเลย

การแผ่ เมตตามี 2 วิธี คือ แผ่เจาะจง และแผ่โดยไม่เจาะจง เมตตาเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐาน ผู้เจริญเมตตาพึงฝึกแผ่โดยเจาะจงก่อน ตั้งต้นจากคนที่รักใคร่สนิทสนม เช่น บิดามารดา สามี ภรรยา บุตร ธิดา ครูอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา ท่านผู้มีพระคุณ เป็นต้น หรือคนที่รู้จักคุ้นเคย

เมื่อแผ่เจาะจงได้ชำนาญแล้ว ต่อไปฝึกแผ่แบบไม่เจาะจง คือ ไม่กำหนดว่าคนที่รู้จัก ชื่อนั้นชื่อนี้ แต่แผ่มุ่งเอาคนร่วมบ้านเมือง ร่วมชาติ ตลอดถึงร่วมโลก รวมถึงสัตว์เดรัจฉานทุกประเภทด้วย

การแผ่ โดยเจาะจง เมตตาไม่เข้มแข็งพอ ได้ผลเฉพาะขอบเขต ส่วนการแผ่แบบไม่เจาะจงนั้นไม่จำกัดขอบเขต แผ่เริ่มต้นจากใกล้ไปสู่ไกลคือจากตัวเราเองแล้วขยายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเมตตาที่เข้มแข็ง และมีอานุภาพมาก

เมตตา ความปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีความสุข ผู้ที่ต้องการจะเจริญให้มี จึงควรหมั่นเจริญทำให้มาก ทำบ่อยๆ ทำให้ชำนาญคล่องแคล่ว เมตตาก็จะมั่นคงในจิตใจ ทำให้บังเกิดผลานิสงส์แก่ผู้เจริญเมตตา

ใน ขณะที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย สังคมกำลังสับสน ควรที่ทุกๆ คนจะพึงปฏิบัติหน้าที่ทุกประการโดยใช้เมตตาธรรมเป็นหลักนำหน้า ความสับสนวุ่นวายก็จะหมดไป คงไว้แต่ความสงบร่มเย็นเป็นสุขโดยถ้วนหน้า



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร/ www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

เครื่องหมายคนดี khaosod

เครื่องหมายคนดี

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



กตัญญู แปลว่า รู้คุณ หมายถึงการหาความดีหรือความสำคัญของคนหรือวัตถุนั้นๆ ให้พบว่า มีความสำคัญหรือดีอย่างไร เมื่อได้พิจารณาด้วยปัญญาแล้วก็ให้จดจำจารึกไว้ในดวงใจ

ส่วนคำว่า กตเวที แปลว่า ตอบแทนคุณ ในทางปฏิบัติเมื่อหาความดีในบุคคลและสิ่งนั้นๆ ให้พบแล้วจดจำไว้ว่า ท่านผู้นี้หรือสิ่งนี้มีคุณแก่เรา แล้วหาโอกาสตอบแทนตามสมควรแก่ฐานะ ชื่อว่ากตัญญูกตเวที เช่น บุตรธิดารู้คุณของมารดาบิดาแล้วตอบแทนคุณท่านทั้งสอง เป็นต้น และการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ

1.กตัญญูกตเวทีต่อคน ในเบื้องต้นหมายถึงกตัญญูกตเวทีต่อตัวเอง คือ การบำรุงรักษาสุขภาพอนามัยให้ดี เมื่อใช้ร่างกายทำงานก็ต้องเห็นความสำคัญของร่างกาย เมื่อเห็นความสำคัญแล้วจะได้รักษาให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อให้อาหารที่ดีแก่ร่างกายแล้ว ต้องให้อาหารแก่จิตใจด้วยการนำธรรมะมาประพฤติปฏิบัติ จะได้มีชีวิตที่ยืนยาวเพื่อทำประโยชน์แก่ตนและคนอื่นต่อไป นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้จัดบุคคลที่จะต้องแสดงความกตัญญูกตเวทีไว้อีก 4 คู่ คือ 1.บิดามารดากับบุตรธิดา 2.ครูอาจารย์กับศิษย์ 3.พระราชากับพสกนิกร 4.พระศาสดากับศาสนิกชน

2.กตัญญูกตเวทีต่อวัตถุ หมายถึง สิ่งที่ไม่มีวิญญาณ ได้แก่ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดถึงต้นไม้ ซึ่งวัตถุเหล่านั้นไม่มีเจตนาจะให้คุณแก่ใคร แต่ประโยชน์ที่เราได้รับจากสิ่งเหล่านั้น ก็มีอยู่ เช่น ต้นไม้ มีความสำคัญต่อมนุษย์มากมาย เพราะต้นไม้ให้ร่มเงา ทำให้คนที่ร้อนมาได้เย็นกายเมื่อเข้าไปอาศัยร่มเงา ในบางครั้ง ถ้าจำเป็นต้องเดินฝ่าแดดไปยังกลางทุ่งที่กว้างใหญ่ จะต้องได้ที่ร่มพักกลางทางจึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ คนที่กำลังเหน็ดเหนื่อยแทบจะขาดใจ ถ้าได้อาศัยเงาต้นไม้เพียงชั่วครู่ก็จะต่อชีวิตให้ได้ อุปการคุณจะมากหรือน้อยก็ตาม ท่านก็ให้ถือว่าเป็นบุญคุณที่จะต้องตอบแทน

3.กตัญญู กตเวทีต่อหน้าที่ หน้าที่การงานมีประจำคนทุกเพศทุกวัย เป็นเด็กก็มีหน้าที่เรียนหนังสือ เป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่หาทรัพย์ตั้งหลักฐาน เป็นผู้สูงอายุก็มีหน้าที่แสวงหาบุญกุศล คนที่ทำหน้าที่ด้วยความรักความกตัญญูรู้คุณของงาน ก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้า ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่รักการงาน ไม่ตั้งใจทำงานหรือทำด้วยความสบประมาทงาน ย่อมหาความเจริญได้ยาก

4.กตัญญู กตเวทีต่อศัตรู ศัตรู คือ อุปสรรคหรือคนที่ไม่ปรารถนาดีต่อเรา ดูแล้วน่าจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ความจริงแล้วศัตรูทำให้เป็นคนเข้มแข็ง เพราะต้องต่อสู้ด้วยปฏิญาณไหวพริบตลอดเวลา คำพูดที่ว่า อุปสรรคความลำบากเป็นบทเรียนที่ดีและเป็นครูฝึกที่ดี คนที่ลำบากมาก่อนย่อมเอาตัวรอดได้ คนที่มีศัตรูจึงเป็นคนที่เข้มแข็ง มีสติรอบคอบ สามารถที่จะเผชิญอุปสรรคศัตรู และจะเป็นผู้ชนะศัตรูนั้นได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น ศัตรูจึงมีคุณประ โยชน์แก่เรา

ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี ผู้มีความกตัญญูกตเวทีย่อมเป็นผู้มีความสุขความเจริญยั่งยืนนาน เพราะคุณธรรมข้อนี้เป็นที่รับรองของคุณธรรมทั้งหลาย จะเห็นได้จากภาษิตที่ว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นภูมิชั้นของคนดี

เพราะ ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการความสุขความเจริญจะต้องตั้งอยู่ในคุณธรรมข้อนี้ให้มั่นคง เพราะความกตัญญูกตเวที มีในผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นคนดี เป็นเด็กก็เป็นที่น่ารัก เป็นผู้ใหญ่ก็น่านับถือ น่าเคารพ เป็นพระสงฆ์ก็น่ากราบไหว้บูชา ดังนี้แล



พระเทพคุณาภรณ์ ( โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9 )

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

watdevaraj@hotmail.com / 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

อย่าจนใจ khaosod

อย่าจนใจ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด



ขึ้น ชื่อว่าความจนแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น เช่นจนทรัพย์สมบัติ เมื่อจนก็ต้องเที่ยวกู้หนี้ยืมสินของคนอื่น การกู้หนี้สินเงินทองคนอื่นก็เป็นทุกข์ เมื่อยากจนทรัพย์คือธรรมะ ไม่มีธรรมะประจำใจก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน เพราะใจจะอยู่เฉยๆ ว่างๆ ไม่ได้ จะต้องมีที่เกาะที่ยึดถือ คือต้องมีอารมณ์ เมื่อใจไม่มีธรรมะ อารมณ์ของจิตใจก็เป็นเรื่องของโลก สภาพที่เรียกว่า โลกนั้น เพราะมีการสลายไปด้วยปัจจัยมีหนาวและร้อนเป็นต้น

เพราะฉะนั้น เมื่ออารมณ์ไม่แน่นอน จิตใจก็ไม่แน่นอน จึงต้องมีธรรมะ คนที่ไม่มีธรรมะ เรียกว่าคนจนใจ ธรรมะในที่นี้ทรงแสดง ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญา ถ้าจิตใจไม่มีธรรมะเหล่านี้ ก็เหมือนไม่มีทรัพย์สินเงินทอง เขาจะต้องประพฤติทุจริต คือ ประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา และใจ การประพฤติทุจริต เปรียบกับการกู้หนี้ เมื่อประพฤติทุจริตแล้วย่อมหาทางออก โดยแสดงเล่ห์กลเพื่อปกปิดความชั่วที่ตนได้กระทำไว้ ด้วยหวังว่าคนอื่นอย่าพึงรู้ว่าตนเป็นคนอย่างนี้ๆ การปกปิดความชั่ว เปรียบกับต้องส่งดอกเบี้ย เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้นั้นจะอยู่ในหมู่คณะไม่ได้

ความ จนภายนอกเป็นทุกข์ แต่มันเป็นทุกข์ด้วยเรื่องภายนอกไม่รุนแรง สำหรับความจนภายในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จิตใจก็เดือดร้อนกระ สับกระส่ายทรุนทุราย มองไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม เพราะฉะนั้น สาธุชนจึงควรบำเพ็ญธรรมะ 5 ประการ ให้ปรากฏขึ้นที่ใจ

ประการที่ 1 ศรัทธา ความเชื่อ ได้แก่เชื่อว่าทำอะไรลงไปเป็นกรรม ไม่สูญหายไปไหน ผู้ทำย่อมได้รับผล ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

ประการ ที่ 2 หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ ไม่กล้าทำความชั่วทุจริต ละอายต่อสิ่งภายนอก เช่น ไม่กล้าทำความชั่วเพราะละอายว่าคนอื่นจะเห็น หรือไม่เห็น เทวดาฟ้าดินก็จะทราบ ดังนี้แล้วไม่ทำความชั่ว

ประการ ที่ 3 โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป กลัวการที่จะเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง คนที่มีโอตตัปปะประจำใจ แม้กิเลสจะมาชวนใจให้กระทำความชั่ว ก็เกรงว่าจะได้รับผลทุกข์ เดือดร้อนในภายหลัง แล้วไม่กระทำ

ประการที่ 4 วิริยะ ความเพียร ความเพียรนี้มีลักษณะทำใจให้กล้าหาญ ให้บากบั่นไม่ท้อถอย ให้มุ่งไปข้างหน้า ในการละความชั่วประพฤติความดี ทำให้ผู้ปฏิบัติล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

ประการ ที่ 5 ปัญญา ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ทุกคนมีปัญญาติดตัวมาแต่กำเนิด เรียกว่า ชาติปัญญา แต่ถ้าไม่ได้ฝึกฝนอบรมก็ไม่แหลมคม เหมือนมีดขวาน ถ้าไม่ได้ลับก็ไม่คม ฉะนั้น ควรค้นคิดพิจารณาในวิชาที่ได้ศึกษาแล้วให้แตกฉานและทบทวนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ธรรมะ 5 ประการ แต่ละประการจึงเรียกว่า ทรัพย์ภายใน ศรัทธา ก็เป็นเหตุให้บำเพ็ญกุศลอื่นๆ พอกพูนเจริญยิ่งขึ้น หิริโอตตัปปะ ก็เป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำความชั่ว วิริยะ ความเพียร ก็เป็นเหตุให้ขยันหมั่นเพียรในการประกอบกิจอันเป็นประโยชน์แก่ตนเป็น ประโยชน์แก่ผู้อื่นตลอดถึงประเทศชาติ ปัญญา ก็เป็นเครื่องส่งเสริมให้รู้ดีรู้ชอบ ให้เห็นดีเห็นชอบ รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ฉะนั้น ธรรมะ 5 ประการนี้ จึงเป็นธรรมะต้นทุน เมื่อเรามีธรรมต้นทุนแล้ว ก็สามารถที่จะให้เกิดดอกออกผลงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป



พระเทพคุณาภรณ์

(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting