วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557

วาจาสุภาษิต khaosod

วาจาสุภาษิต

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คําว่า วาจาอันเป็นสุภาษิต ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคำพูดที่เป็นร้อยกรอง ร้อยแก้ว เป็นคำคมบาดใจ มีความหมายอันลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงคำพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟังด้วย



ลักษณะวาจาอันเป็นสุภาษิต ต้องเป็นคำจริง มีข้อมูลที่ถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ได้แต่งขึ้นมาพูด เป็นคำสุภาพ พูดด้วยภาษาที่สุภาพ มีความไพเราะในถ้อยคำ ไม่มีคำหยาบ หรือคำด่า พูดแล้วมีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ปฏิบัติตามแล้วทำให้เกิดประโยชน์



ลักษณะการพูดที่ดี ต้องรู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้พอดี จำเนื้อความที่จะพูดได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความที่พูดได้โดยง่าย ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่พูดชักชวนให้เกิดความทะเลาะวิวาท



การมีวาจาสุภาษิต เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของชนทุกชั้น มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา



วาจาที่จะเป็นสุภาษิตได้นั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ 5 ประการ คือ



พูดถูกกาลเทศะ กาละ ได้แก่ เวลา เทศะ ได้แก่ สถานที่ ก่อนที่จะพูด ก็ต้องดูเวลาก่อนว่าเวลานี้เขาพูดเรื่องอะไรกัน เช่น เขาพูดเรื่องเกี่ยวกับการทำสาธารณประโยชน์ ควรทำอย่างนั้น มีประโยชน์อย่างนี้ แต่กลับพูดตรงกันข้ามว่าไม่มีประโยชน์ ถ้าพูดถูกกาลเทศะก็มีประโยชน์



พูดแต่คำสัตย์ คำสัตย์ตรงกันข้ามกับคำเท็จ ผู้พูดคำเท็จ ย่อมขาดความเชื่อถือ ส่วนคำสัตย์นั้นดี มีประโยชน์



พูดไพเราะอ่อนหวาน เป็นที่ชอบใจของคนทุกชั้น มารดาบิดาพูดกับบุตรธิดาด้วยคำอ่อนหวาน ย่อมจับใจของบุตรธิดา ทำให้เกิดความรัก บุตรธิดาผู้รู้จักพูด ก็ย่อมเป็นที่รักของมารดาบิดา วาจาไพเราะอ่อนหวาน เปรียบดังอาหารมีโอชารส ยังผู้กินให้พอใจ ติดใจ ต้องการกินอีก



พูดคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ คือ เมื่อจะพูดแต่ละครั้งก็ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง เช่น พูดชี้ชวนให้ผู้ฟังมีความขยันทำงาน โดยชี้โทษของความเกียจคร้านให้ผู้ฟังเห็นว่า เป็นเหตุให้ยากจน ไม่มีคนนับถือ มีแต่ความลำบาก และชี้คุณของความขยัน อดทนทำงานโดยสุจริต คือ มีทรัพย์สมบัติ สามารถตั้งตัวได้ไม่ลำบาก มีคนเคารพนับถือ หรือพูดแนะนำให้ผู้ฟังเกิดอุตสาหะ คือ ทำสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อม และพูดแนะนำให้ผู้ฟังกลัวบาป คือ ความผิด ซึ่งมีผลตรงกันข้ามกับบุญ คือ ความดี



พูดด้วยจิตเมตตา คือผู้พูดมีเมตตาอยู่ในใจ ปรารถนาดีแก่ผู้ฟัง ไม่ใช่ปรารถนาร้าย เพราะการไม่เบียดเบียนกัน เป็นสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นความจริงถ้ามนุษย์เราเว้นจากการเบียดเบียนกัน มีเมตตาต่อกัน ต่างฝ่ายต่างทำมาหากินตามฐานะของตน ไม่ต้องกังวลถึงภยันตรายอันจะพึงมีเพราะความเบียดเบียน จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นสุข



ดังนั้น ผู้พูดแต่คำที่ดี ไพเราะ ย่อมจะทำให้ผู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง เกิดความชื่นใจ สบายใจ สุขใจ ทำให้คนรักใคร่นับถือ แต่ถ้าตรงกันข้าม คือ พูดชั่ว นอกจากจะทำให้ตนเองเสียชื่อเสียงแล้ว ย่อมกลับทำลายคนรอบข้างอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น