วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทาน khaosod


ทาน

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


คําว่า ทาน หมายถึง การให้เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่ขาดแคลน เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นการผูกมิตรไมตรี หรือเพื่อบูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นการตอบแทนคุณ หรือเป็นการบำเพ็ญบุญในเขตบุญ พระพุทธองค์ตรัสสอนให้ทำทานอย่างมีขอบเขตและเหตุผล ดังที่ตรัสไว้ว่า ทรงสรรเสริญการเลือกให้ และทรงแสดงสมบัติของทานไว้ 3 ประการ ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดีก่อนแต่จะให้ มีเจตนาดีขณะให้ มีเจตนาดีภายหลังให้ ถึงพร้อมด้วยวัตถุ ได้แก่ วัตถุเป็นของที่ควรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ถึงพร้อมด้วยปฏิคาหกคือผู้รับซึ่งเป็นผู้ควรให้ และตรัสสอนให้ทำทานเป็นบุญคือให้เป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว เช่น โลภะ มัจฉริยะ เป็นต้น



ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลโดยทั่วไปมี 2 ลักษณะ คือปัญหาความขาดแคลนทางกาย และปัญหาความขัดข้องทางใจ ในการแก้ปัญหาจึงต้องแยกแยะปัญหาให้ถูกจึงจะสามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าแยกปัญหาไม่เป็น กำหนดไม่ได้ถึงมูลเหตุแห่งปัญหา แล้วขันอาสามาแก้ไข ก็มีแต่จะทำให้ปัญหานั้นซับซ้อนยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น



เพื่อเป็นการแก้ปัญหา พระพุทธองค์จึงประทานวิธีแก้ไข 2 ประการ คือ



1.การแก้ปัญหาทางกายด้วยการให้วัตถุสิ่งของ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือประกอบอาชีพ ทุนในการดำเนินการเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดแคลนทางกาย การประสบภัยพิบัติต่างๆ ความป่วยไข้ที่ไม่รับการรักษาพยาบาลที่ถูกวิธี นับว่าเป็นทุกข์ทางกายที่ควรได้รับการช่วยเหลือ หรือพื้นฟูให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม



2.การแก้ปัญหาความขัดข้องทางใจด้วยการให้ธรรม คือคำแนะนำสั่งสอน ให้ข้อคิดให้กำลังใจ อันเป็นการช่วยแนะนำในหนทางที่ถูกต้อง เป็นการปรับระบบความคิดให้เป็นไปในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรม ในบางครั้งบุคคลย่อมไม่อาจที่จะกำหนดได้ว่าความเหมาะสมถูกต้องอยู่ ณ จุดใด ด้วยเหตุที่ขาดปัญญาไตร่ตรอง ขาดประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ขาดความมั่นใจในการตัดสินปัญหา ในสถาน การณ์เช่นนี้จำต้องอาศัยผู้รู้เป็นตัวช่วยในการให้ข้อมูล ให้ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์เพื่อประกอบในการตัดสินใจ



ผู้ปกครองนอกจากจะให้ความเป็นธรรม ให้ความปกป้องคุ้มครองแล้ว ยังต้องมีน้ำใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ใต้ปกครองด้วย การให้ทั้ง 2 ประเภทนี้จะต้องมีอยู่ในจิตใจของผู้ปกครอง เพราะจะทำให้เกิดผลดีต่อการปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง ย่อมจะได้รับความสนิทใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือร่วมใจในแผนงานโครงการ การปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลความสุข อันเป็นจุดหมายร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น