วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

ปัญญา 2 khaosod

ปัญญา 2

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ปัญญา หมายถึง ความฉลาด รอบรู้ ความเข้าใจชัดในสิ่งต่างๆ



ผู้ มีปัญญาย่อมรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักเหตุผล สามารถประพฤติตนให้เข้ากับสังคมได้ รู้จักประมาณ ทำให้พอดี รู้จักกาลเทศะ



ในมิลินทปัญหา พระนาคเสนได้กล่าวถึงลักษณะของปัญญา 2 ประการ คือ



1.ปัญญา มีการตัดเป็นลักษณะ มีอุปมาว่า ในการเกี่ยวข้าวชาวนาจะจับกอข้าวด้วยมือข้างหนึ่ง จับเคียวด้วยมืออีกข้าง แล้วตัดให้ขาดด้วยเคียวที่ถือไว้ ฉันใด ในการเจริญภาวนาผู้บำเพ็ญเพียรควบคุมใจไว้ด้วยโยนิโสมนสิการ (กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี) แล้วตัดกิเลสด้วยปัญญา



2.ปัญญามีการทำให้สว่างเป็นลักษณะ มีอุปมาว่า เมื่อบุคคลส่องประทีปเข้าไปในที่มืด แสงประทีปย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดแสงสว่าง รูปทั้งหลายย่อมปรากฏชัด ฉันใด เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็กำจัดความมืด คืออวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง คือวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง คือญาณ ทำอริยสัจทั้งหลายให้ปรากฏขึ้น ฉันนั้น



ในทางโลก ความฉลาด ความรู้ในการประกอบสัมมาอาชีพ ในการเอาตัวรอดเมื่อมีประสบภัย รู้ว่าตนมีทุกข์ แต่ไม่ได้มุ่งถึงความดับทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงได้มีการสร้างสรรค์ ทั้งในด้านทำลาย ดังที่ปรากฏอยู่ ความรู้ในทางโลกนั้นจะมากเท่าไรก็ตาม แต่ยังเป็นไปในด้านก่อทุกข์ก่อปัญหาอยู่ร่ำไป เพราะยังดับตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากไม่ได้



ในทางธรรม ความรู้ที่พัฒนาจากไตรสิกขา กล่าวคือได้ชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยอำนาจแห่งศีล (อธิศีล) มีจิตใจสงบนิ่งผ่องแผ้วด้วยอำนาจแห่งสมาธิโดยชอบ ถ้าใจมีความสว่างยิ่งกว่าตะวันเที่ยง เราจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วอาศัยความสว่างที่ปรากฏขึ้นมาอย่างยิ่งนั้น ไม่ว่าจะมองอะไร ย่อมเห็นและรู้ไปตามสภาพความเป็นจริง เช่น รู้เรื่องกรรมที่เราเคยสงสัยว่าเป็นอย่างไร รู้ว่าบุญบาปเป็นอย่างไร และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่ากิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจคอยบีบคั้นใจของเราให้ มีความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เป็นอย่างไร ปัญญาที่เกิดจากการเห็นจากภายใน ซึ่งอาศัยความสว่างจากสมาธิดังกล่าว (อธิจิต) ทำให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของทุกสรรพสิ่งทั้งหลาย โดยไม่ต้องเสียเวลาคิด (อธิปัญญา)



พระพุทธองค์ทรงพัฒนาความ รู้ตามกระบวนการไตรสิกขาขึ้นเป็นบารมี คือเป็นความรู้ที่ถูกต้องโดยลำดับ จนถึงได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ทำทุกข์ให้สิ้นไป เป็นความรู้สูงยิ่งไปกว่าความรู้ในทางโลก เพราะเหตุว่าความรู้ในอริยสัจ 4 ซึ่งทรงรู้เหตุผล รู้เรื่องทุกข์ สาเหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อดับตัณหาต้นเหตุแห่งทุกข์ได้จึงดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสรู้ทั้งในด้านทุกข์ ทั้งในด้านดับทุกข์ ซึ่งเป็นปัญญาในอริยสัจอันนับว่าเป็นปัญญาสูงสุด นี้เป็นผลจากปัญญาบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาโดยลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น