ปัญญา 1
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com
ปัญญา คือ ความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุผล สามารถกำจัดความโง่เขลาได้
ความโง่เขลา เปรียบเหมือนความมืดที่ครอบงำจิตใจของมนุษย์ ส่วนปัญญา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เมื่อมนุษย์มีปัญญารู้ดีรู้ชอบแล้ว จะสามารถนำพาชีวิตให้พิชิตความโง่เขลาออกจากจิตใจ ทำให้มวลมนุษย์มีความสว่างไสว ประกอบด้วยเหตุผล ไม่เชื่องมงายในเรื่องราวต่างๆ
ในการดำเนินชีวิต ผู้มีความรู้ดีเป็นพื้นฐานให้ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้า อย่างน้อยจะไม่ถูกหลอกลวง หรือไม่เกิดความผิดพลาดจนเกินไป
ความรู้ที่เป็นตัวปัญญาพัฒนามาโดยลำดับ อาศัยการปฏิบัติที่เสริมให้เกิดปัญญา ตามแนวทางพระพุทธศาสนา ย่อเป็น 3 คือ
1.สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาหาความรู้ เช่น การฟัง รวมถึงการอ่าน การฟังนั้นได้ความรู้ทางหู การอ่านได้ความรู้ทางตา นอกจากนี้ได้ความรู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าทางเสริมความรู้เหล่านี้ ต้องอาศัยฟังทางหูเป็นข้อสำคัญจึงได้ยกการสดับฟังขึ้นมาเป็นทางให้เกิดปัญญา และปัญญาที่ได้จากการฟัง รวมทั้งการอ่าน และความรู้ทางจมูกทางลิ้นทางกายเหล่านี้ รวมเรียกว่า ปัญญาที่เกิดจากการสดับ
พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้หลายประการ คือ
- ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
- สิ่งที่เคยฟังแล้วย่อมเข้าใจชัดขึ้น
- บรรเทาความสงสัยเสียได้
- มีความเห็นให้ถูกต้อง
- จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
2. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากความคิดค้น พิจารณาถึงเหตุผลที่ถูกต้อง เป็นทางให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดทางความคิดพินิจพิจารณา
3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมลงมือปฏิบัติ หรือทำให้เกิดการพัฒนาด้วยการบริหารจิตให้มั่นคง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ซึ่งได้ผลอันน่าปรารถนามาแล้ว ปัญญาที่แท้จริงนั้นจะต้องเป็นปัญญาที่รู้ทั่วถึงสัจจะ คือความจริงตามเหตุผล หรือรู้ทั่วถึงเหตุผลตามความเป็นจริง เป็นความรู้จริงรู้ถูกต้อง มีเหตุผลได้จริง เพราะฉะนั้นปัญญากับสัจจะจึงต้องประกอบกันเป็นความรู้จริง
ภาวนามยปัญญานี้ เป็นปัญญาชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะสามารถพัฒนาตนให้บรรลุประโยชน์สูงสุดคือ จิตหลุดพ้นจากความทุกข์โดยเด็ดขาดได้อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น