วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

วุฒิธรรม khaosod


วุฒิธรรม

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


คนทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วล้วนต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยความสุข ความเจริญด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครคนไหนที่ต้องการความทุกข์ ความเสื่อมในชีวิต คนทุกคนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่แตกต่างกันนั้น ก็มาจากการประกอบคุณงามความดีแต่ชาติปางก่อน และจากการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมะในปัจจุบัน



ธรรมะที่เป็นหลักของใจ อันเป็นอุบายวิธีที่จะให้บรรลุความเจริญอันเป็นเหตุแห่งความสุขในปัจจุบันนั้น มีชื่อเรียกว่าวุฒิธรรม คือธรรมะอันจะก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ 4 ประการ คือ



1.การคบหาสัตบุรุษ



2.การฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ



3.การพิจารณาคำสั่งสอนนั้นโดยอุบายอันแยบคาย



4.การปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม



การคบหาสัตบุรุษ ได้แก่ การคบหาสมาคมกับท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณธรรม ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จัดบุคคลในการคบหาไว้เป็น 2 ประเภท คือ คนพาล คนที่ไม่ควรคบหา บัณฑิต คนที่ควรคบหา คนพาล ได้แก่ ผู้ตัดความเจริญของตนและผู้อื่น ถือเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ ทำความพินาศให้เกิดแก่ตนและผู้อื่น ส่วนบัณฑิตได้แก่ ผู้ดำเนินไปในกิจที่เป็นประโยชน์ด้วยปัญญา สงบจากความชั่ว ประพฤติแต่ความดีด้วยกายวาจาและใจ รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า บัณฑิตหรือสัตบุรุษนี้เป็นบุคคลที่ควรคบหาสมาคมด้วย เพราะเป็นผู้ไม่ชักนำไปในทางที่ผิด ไม่แนะนำให้ประกอบกิจอันมิใช่ธุระ มีแต่ชักนำไปในทางที่เป็นประโยชน์ ในทางที่ให้เกิดความสุขความเจริญ



การฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ ลำพังแต่การคบหาสมาคมด้วยสัตบุรุษเพียงอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่สำเร็จประโยชน์ตามประสงค์ จำเป็นต้องเป็นผู้เอาใจใส่เล่าเรียน แสวงหาความรู้ เชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านด้วย ท่านแนะนำสั่งสอนอย่างไรต้องตั้งใจฟัง เพื่อที่จะน้อมรับคำแนะนำสั่งสอนนั้นๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามต่อไป



ความกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ได้แก่ การตริตรองให้รู้จักสิ่งดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ ธรรมข้อนี้ย่อมมีอุปการะแก่บุคคลผู้มุ่งหวังความสุขความเจริญเพื่อตน เมื่อได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ ได้ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้วก็จำต้องใช้โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้ทราบถึงสิ่งที่ดีหรือชั่วเพื่อเป็นทางปฏิบัติต่อไป ฟังแล้วต้องคิดตามไปด้วย หาเหตุผลที่ปรากฏในคำสั่งสอนนั้นโดยยึดเอาธรรมเป็นหลักไม่ยึดเอาความคิดของตนเองหรือคนหมู่มากเป็นใหญ่ เมื่อรู้ถึงเหตุและผลของคำสั่งสอนนั้นแล้วก็จักได้นำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนให้มีความสุขความเจริญตามปรารถนา



การปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม ได้แก่ การปฏิบัติให้ถูกส่วนและสมควรแก่ความหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตรองเห็นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นก็พึงประพฤติปฏิบัติธรรมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ และพึงประพฤติตามความเหมาะสมแก่ภาวะของตน เป็นผู้ใหญ่ก็พึงประพฤติอย่างผู้ใหญ่ที่ดี อันเป็นที่เคารพนับถือของผู้น้อย เป็นผู้น้อยก็พึงปฏิบัติตนอย่างผู้น้อย ไม่ยกตนเทียมท่าน และพยายามปฏิบัติให้สูงขึ้นโดยลำดับ



ธรรมเป็นเครื่องเจริญทั้ง 4 ประการนี้ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องอิงอาศัยกัน เป็นเหตุผลของกันและกันโดยลำดับ กล่าวคือ การคบหาสัตบุรุษเป็นเหตุให้ได้ฟังธรรม เมื่อได้ฟังธรรมโดยเคารพแล้วก็เป็นเหตุให้ได้พิจารณาตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ เมื่อได้ตริตรองทราบเหตุผลว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ผลดีแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้รู้จักเลือกเฟ้นธรรมเพื่อปฏิบัติให้พอเหมาะพอควรแก่ภาวะและอัธยาศัยของตน



เพราะฉะนั้นธรรมทั้ง 4 ประการ อันมีชื่อว่าวุฒิธรรม ธรรมอันเป็นเหตุให้เจริญ จึงเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลแก่บุคคลทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย เป็นปัจจัยให้ได้ประสบความสุขความเจริญสมดังปรารถนา

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

คนสมบูรณ์แบบ khaosod


คนสมบูรณ์แบบ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


คนทุกคนเมื่อเกิดมาบนโลกใบนี้ ถ้าใครที่ปฏิบัติตามหลักของการทำบุญ 3 ประการ อันได้แก่ ทาน การให้ ศีล การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ภาวนา การอบรมฝึกฝนจิตใจแล้ว คงไม่มีใครกล้าที่จะปฏิเสธ หรือพูดว่าไม่ยินดี ไม่ต้องการความสุข ความเพียบพร้อมในทุกด้าน อันเป็นผลที่จักได้รับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการศึกษา หน้าที่การงาน หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตในประจำวัน ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการให้ตนเอง มีพร้อมในทุกสิ่งทุกอย่างด้วยกันทั้งสิ้น



ธรรมะหมวดหนึ่ง ที่กล่าวถึงความพรั่งพร้อม หรือความสมบูรณ์แบบไว้ เมื่อเราทำบุญครบทั้งสามประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา อยู่บ่อยๆ บุญเหล่านี้ก็จะติดตามตัวเราไปตลอด ไม่สูญหาย และสามารถทำให้ได้เสวยผลแห่งบุญนี้ตลอด ตามความปรารถนา อีกทั้งยังสามารถที่จะอำนวยให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสมบัติอีกด้วย



สมบัติ แปลว่า ความถึงพร้อม ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ เป็นการอำนวยผลประโยชน์ของบุญ คือ ความดีที่ได้กระทำมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่วยเสริมความดีนั่นเอง มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ



1. ความถึงพร้อมด้วยคติ ได้แก่ การเกิด การอยู่อาศัย การดำเนินชีวิตในถิ่นที่มีแต่ความเจริญ รุ่งเรือง มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ ไม่มีความลำบากในเรื่องของปัจจัยต่างๆ อันจักเอื้อประโยชน์ หรือเหมาะสมในการสร้างบุญกุศล คุณงามความดี อบรมวาสนาบารมีธรรม



2. ความถึงพร้อมด้วยรูปกาย ได้แก่ การมีรูปกายที่สวยงาม มีอาการครบ 32 ประการ มีราศีดี มีบุคลิกลักษณะสง่างาม มีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน



3. ความถึงพร้อมด้วยกาล ได้แก่ การเกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองมีแต่ความสุข ความสงบร่มเย็น มีผู้นำที่ดี มีการปกครองที่ดี ผู้ใหญ่ไม่ข่มเหงรังแกผู้น้อย หรือผู้ที่อ่อนแอกว่า และคนในสังคมที่อยู่ร่วมกัน เป็นหมู่ เป็นคณะ ก็เป็นคนมีศีล มีธรรม รักใคร่สามัคคีปรองดองกัน ยกย่องคนที่ทำความดี ไม่ส่งเสริมคนที่ทำผิดคิดชั่ว



4. ความถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร ได้แก่ การนำความเพียรไปขวนขวายประกอบกิจการ ทำหน้าที่การงานในทางที่ถูก ที่ควร ประกอบกิจการงานด้วยความถูกต้อง ดีงาม ซื่อสัตย์สุจริต



สมบัติ หรือความถึงพร้อมทั้ง 4 ประการนี้ จะเกิดมีขึ้นได้ ก็จากการประกอบบุญกุศล คุณงามความดีเป็นเบื้องต้น เป็นสมบัติที่ติดตามและติดตัวไปทุกที่ ไม่มีใครสามารถที่จะลักขโมยเอาไปได้



ใครที่อยากจะทำให้ชีวิตในชาตินี้และชาติหน้ามีแต่ความสงบร่มเย็น เป็นสุข เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ก็อย่าลืมประกอบบุญกุศลเป็นประจำ จักประสบผลสำเร็จเป็นแน่

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

ปัญญา 2 khaosod

ปัญญา 2

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ปัญญา หมายถึง ความฉลาด รอบรู้ ความเข้าใจชัดในสิ่งต่างๆ



ผู้ มีปัญญาย่อมรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักเหตุผล สามารถประพฤติตนให้เข้ากับสังคมได้ รู้จักประมาณ ทำให้พอดี รู้จักกาลเทศะ



ในมิลินทปัญหา พระนาคเสนได้กล่าวถึงลักษณะของปัญญา 2 ประการ คือ



1.ปัญญา มีการตัดเป็นลักษณะ มีอุปมาว่า ในการเกี่ยวข้าวชาวนาจะจับกอข้าวด้วยมือข้างหนึ่ง จับเคียวด้วยมืออีกข้าง แล้วตัดให้ขาดด้วยเคียวที่ถือไว้ ฉันใด ในการเจริญภาวนาผู้บำเพ็ญเพียรควบคุมใจไว้ด้วยโยนิโสมนสิการ (กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี) แล้วตัดกิเลสด้วยปัญญา



2.ปัญญามีการทำให้สว่างเป็นลักษณะ มีอุปมาว่า เมื่อบุคคลส่องประทีปเข้าไปในที่มืด แสงประทีปย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดแสงสว่าง รูปทั้งหลายย่อมปรากฏชัด ฉันใด เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็กำจัดความมืด คืออวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง คือวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง คือญาณ ทำอริยสัจทั้งหลายให้ปรากฏขึ้น ฉันนั้น



ในทางโลก ความฉลาด ความรู้ในการประกอบสัมมาอาชีพ ในการเอาตัวรอดเมื่อมีประสบภัย รู้ว่าตนมีทุกข์ แต่ไม่ได้มุ่งถึงความดับทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงได้มีการสร้างสรรค์ ทั้งในด้านทำลาย ดังที่ปรากฏอยู่ ความรู้ในทางโลกนั้นจะมากเท่าไรก็ตาม แต่ยังเป็นไปในด้านก่อทุกข์ก่อปัญหาอยู่ร่ำไป เพราะยังดับตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากไม่ได้



ในทางธรรม ความรู้ที่พัฒนาจากไตรสิกขา กล่าวคือได้ชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยอำนาจแห่งศีล (อธิศีล) มีจิตใจสงบนิ่งผ่องแผ้วด้วยอำนาจแห่งสมาธิโดยชอบ ถ้าใจมีความสว่างยิ่งกว่าตะวันเที่ยง เราจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วอาศัยความสว่างที่ปรากฏขึ้นมาอย่างยิ่งนั้น ไม่ว่าจะมองอะไร ย่อมเห็นและรู้ไปตามสภาพความเป็นจริง เช่น รู้เรื่องกรรมที่เราเคยสงสัยว่าเป็นอย่างไร รู้ว่าบุญบาปเป็นอย่างไร และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่ากิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจคอยบีบคั้นใจของเราให้ มีความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เป็นอย่างไร ปัญญาที่เกิดจากการเห็นจากภายใน ซึ่งอาศัยความสว่างจากสมาธิดังกล่าว (อธิจิต) ทำให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของทุกสรรพสิ่งทั้งหลาย โดยไม่ต้องเสียเวลาคิด (อธิปัญญา)



พระพุทธองค์ทรงพัฒนาความ รู้ตามกระบวนการไตรสิกขาขึ้นเป็นบารมี คือเป็นความรู้ที่ถูกต้องโดยลำดับ จนถึงได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ทำทุกข์ให้สิ้นไป เป็นความรู้สูงยิ่งไปกว่าความรู้ในทางโลก เพราะเหตุว่าความรู้ในอริยสัจ 4 ซึ่งทรงรู้เหตุผล รู้เรื่องทุกข์ สาเหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อดับตัณหาต้นเหตุแห่งทุกข์ได้จึงดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสรู้ทั้งในด้านทุกข์ ทั้งในด้านดับทุกข์ ซึ่งเป็นปัญญาในอริยสัจอันนับว่าเป็นปัญญาสูงสุด นี้เป็นผลจากปัญญาบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาโดยลำดับ

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

ปัญญา 1 khaosod


ปัญญา 1

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com


ปัญญา คือ ความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุผล สามารถกำจัดความโง่เขลาได้



ความโง่เขลา เปรียบเหมือนความมืดที่ครอบงำจิตใจของมนุษย์ ส่วนปัญญา เปรียบเหมือนแสงสว่าง



เมื่อมนุษย์มีปัญญารู้ดีรู้ชอบแล้ว จะสามารถนำพาชีวิตให้พิชิตความโง่เขลาออกจากจิตใจ ทำให้มวลมนุษย์มีความสว่างไสว ประกอบด้วยเหตุผล ไม่เชื่องมงายในเรื่องราวต่างๆ



ในการดำเนินชีวิต ผู้มีความรู้ดีเป็นพื้นฐานให้ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้า อย่างน้อยจะไม่ถูกหลอกลวง หรือไม่เกิดความผิดพลาดจนเกินไป



ความรู้ที่เป็นตัวปัญญาพัฒนามาโดยลำดับ อาศัยการปฏิบัติที่เสริมให้เกิดปัญญา ตามแนวทางพระพุทธศาสนา ย่อเป็น 3 คือ



1.สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาหาความรู้ เช่น การฟัง รวมถึงการอ่าน การฟังนั้นได้ความรู้ทางหู การอ่านได้ความรู้ทางตา นอกจากนี้ได้ความรู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าทางเสริมความรู้เหล่านี้ ต้องอาศัยฟังทางหูเป็นข้อสำคัญจึงได้ยกการสดับฟังขึ้นมาเป็นทางให้เกิดปัญญา และปัญญาที่ได้จากการฟัง รวมทั้งการอ่าน และความรู้ทางจมูกทางลิ้นทางกายเหล่านี้ รวมเรียกว่า ปัญญาที่เกิดจากการสดับ



พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้หลายประการ คือ



- ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง



- สิ่งที่เคยฟังแล้วย่อมเข้าใจชัดขึ้น



- บรรเทาความสงสัยเสียได้



- มีความเห็นให้ถูกต้อง



- จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส



2. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากความคิดค้น พิจารณาถึงเหตุผลที่ถูกต้อง เป็นทางให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดทางความคิดพินิจพิจารณา



3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมลงมือปฏิบัติ หรือทำให้เกิดการพัฒนาด้วยการบริหารจิตให้มั่นคง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ซึ่งได้ผลอันน่าปรารถนามาแล้ว ปัญญาที่แท้จริงนั้นจะต้องเป็นปัญญาที่รู้ทั่วถึงสัจจะ คือความจริงตามเหตุผล หรือรู้ทั่วถึงเหตุผลตามความเป็นจริง เป็นความรู้จริงรู้ถูกต้อง มีเหตุผลได้จริง เพราะฉะนั้นปัญญากับสัจจะจึงต้องประกอบกันเป็นความรู้จริง



ภาวนามยปัญญานี้ เป็นปัญญาชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะสามารถพัฒนาตนให้บรรลุประโยชน์สูงสุดคือ จิตหลุดพ้นจากความทุกข์โดยเด็ดขาดได้อย่างแท้จริง