วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556
พึ่งตนเอง khaosod
พึ่งตนเอง
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com
ความทุกข์ไม่เป็นสิ่งที่เจริญใจ ไม่มีใครปรารถนา แต่ถึงไม่ปรารถนา จะต้องได้รับ ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ ทุกข์จึงจัดเป็นภัยที่น่ากลัว ทุกๆ คน ถ้าไม่มีที่พึ่งพำนักอาศัย กล่าวได้ว่า ผู้นั้นต้องทุกข์ถึงตาย หรือทุกข์อย่างสาหัส เพราะว่าผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เป็นทุกข์ เปรียบเหมือนตกอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร ถ้าไม่ได้เครื่องชูชีพ หรือพบเกาะเป็นที่พึ่งพำนัก กล่าวได้ว่าผู้นั้นต้องตาย หรือลำบากแทบตาย
ที่พึ่งมีมากมาย เบื้องต้นต้องพึ่งอาศัยบิดามารดา พึ่งครูอาจารย์ในการศึกษาเล่าเรียน มีธุระเหลือบ่ากว่าแรงตน ต้องพึ่งมิตรสหาย ในที่สุดเมื่อชราและเจ็บป่วย ต้องพึ่งบุตรธิดาและแพทย์เป็นต้น คนบางคนพอมีทุกข์เกิดขึ้น หันไปพึ่งสิ่งต่างๆ เช่น ภูเขา ต้นไม้ ผีสางนางไม้ ที่ทำลงไปเช่นนี้ เพื่อต้องการจะพ้นจากทุกข์ ต้องดิ้นรนหาที่พึ่งต่างๆ ตามความเชื่อถือของตน ที่พึ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสห้าม แต่ไม่ทรงส่งเสริม เพราะบิดามารดาเป็นต้นนั้น เป็นที่พึ่งได้จริง แต่จัดเป็นที่พึ่งภายนอก เป็นที่พึ่งได้ชั่วคราว
พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสสอนให้มีที่พึ่ง จึงไม่ได้ทรงหมายถึงที่พึ่งภายนอก แต่ทรงประสงค์เอาที่พึ่งภายใน คือ การพึ่งตนเอง เพราะเป็นที่พึ่งได้แน่นอน
การพึ่งตนนั้น มิได้ประสงค์ว่าพึ่งสรีระร่างกาย เพราะสรีระร่างกายเป็นแต่เครื่องอาศัยชั่วคราว ไม่เป็นแก่นสารยั่งยืน หัวใจแห่งการพึ่งตนอยู่ที่คุณความดี มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
ธรรมเป็นแก่นสารแห่งชีวิต เป็นของดีมีหลักฐานควรจะอ้างอิงชี้ชวนให้มาชมได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีอะไรสงบเย็นเท่าธรรม ควรจะนำมาสู่ตน หรือน้อมตนไปในธรรม เพื่อความเย็นสงบแลระงับร้อน ธรรมจึงเป็นที่พึ่งอย่างประเสริฐ
ธรรมเป็นที่พึ่งอันสำคัญ แต่ธรรมที่อยู่ตามธรรมดา ย่อมไม่สำเร็จเป็นที่พึ่งอันใดได้ เมื่อบุคคลบำเพ็ญธรรมนั้นให้มีขึ้นในตนแล้ว จึงสำเร็จเป็นที่พึ่งได้ เพราะอาศัยตนเป็นที่พึ่งนั่นเอง เปรียบเหมือนร่ม ที่อยู่ตามลำพัง หาสำเร็จประโยชน์ตามหน้าที่ไม่ ต่อเมื่อบุคคลนำมากางขึ้น จึงสำเร็จประโยชน์ในอันบังแดดฝนได้ ฉันนั้น เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสสอนให้พึ่งทั้งตนและพึ่งทั้งธรรมะ
ที่พึ่งคือตน และธรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และสร้างให้มีขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติตามธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งล้วนเป็นอุปการะในการสร้างที่พึ่งทั้งนั้น ดังพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า "ผู้มีปัญญาพึงสร้างเกาะคือที่พึ่ง ซึ่งห้วงน้ำท่วมไม่ได้ ด้วยธรรมะ 4 ข้อ คือ ความหมั่น ความไม่มัวเมา ความสำรวมระวัง ความปราบปรามตน"
เมื่อตรัสสอนให้ปฏิบัติธรรม จึงตรัสรับรองว่า อย่างนี้แลอานนท์ ภิกษุชื่อว่ามีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น