วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

สามัคคี from khaosod


สามัคคี

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


ความพร้อมเพรียงของชนทั้งปวงผู้เป็นหมู่ยังความเจริญให้สำเร็จได้

หมู่ใหญ่ที่สุด คือประเทศซึ่งเป็นที่รวมแห่งชนทั้งชาติ จะมีกำลังตั้งมั่น รักษาอิสรภาพไว้ได้ด้วยสามัคคี จะเสื่อมเสียอิสรภาพแก่ชนต่างชาติ เพราะแตกสามัคคี



มีตัวอย่างในครั้งพุทธกาล คือกษัตริย์ลิจฉวี ผู้ปกครองประเทศวัชชีโดยสามัคคีธรรมในสมัยที่ยังพร้อมเพรียงกันดีอยู่ พระเจ้าอชาติศัตรู ผู้เป็นพระราชาในประเทศมคธ ทรงยาตราพยุหแสนยากรมาย่ำยี แม้มีกำลังมากกว่าไม่สามารถชิงชัยแก่กษัตริย์ลิจฉวีได้ต้องพ่ายแพ้กลับไป ภายหลังทรงใช้อุบาย ทำลายสามัคคีในหมู่กษัตริย์ลิจฉวีเสียแล้ว ยกกองทัพไปรบ ได้ชัยชนะยึดครองประเทศวัชชีโดยง่าย เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า คณะกษัตริย์ลิจฉวีรักษาอิสรภาพของประเทศไว้ได้ในสงครามครั้งแรกเพราะสามัคคี เสียอิสรภาพแก่พระเจ้าอชาติศัตรูในสงครามครั้งหลังเพราะแตกความสามัคคี สามัคคีมีประโยชน์มากดังพรรณนามานี้ จึงควรเจริญและรักษาไว้มิให้เสื่อม ธรรมที่เป็นเหตุเกิดแห่งสามัคคีนั้น ขอยกพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคมวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ว่า



"ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางมหาสมาคม พร้อมพรั่งด้วยบุคคลจากทุกสถาบันในชาติตลอดจนประชาชนชาวไทย ขอขอบใจในคำอวยพรและการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนตั้งใจจัดให้ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ ทั้งรัฐบาลที่จัดงานครั้งนี้ได้เรียบร้อยและงดงาม น้ำใจไมตรีของประชาชนชาวไทยที่ร่วมกันแสดงออกทั่วประเทศ รวมทั้งที่พร้อมเพรียงกันมาในวันนี้ น่าปลาบปลื้มใจมาก เพราะแต่ละคนได้แสดงออกและตั้งใจมาด้วยความหวังดีจากใจจริง จึงขอขอบใจทุกๆ คน จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทุกฝ่ายนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น นึกถึงคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาได้ตลอดรอดฝั่ง



ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน

ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ

ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกาและในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน

ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล

หากความคิดจิตใจและการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในกายในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ทั้งประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้รักษาจิตใจและคุณธรรมนี้ไว้ให้เหนียวแน่น และถ่ายทอดความคิดจิตใจนี้กันต่อไปอย่าให้ขาดสาย เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงยืนยงด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้า"

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

พึ่งตนเอง khaosod


พึ่งตนเอง

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


ความทุกข์ไม่เป็นสิ่งที่เจริญใจ ไม่มีใครปรารถนา แต่ถึงไม่ปรารถนา จะต้องได้รับ ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ ทุกข์จึงจัดเป็นภัยที่น่ากลัว ทุกๆ คน ถ้าไม่มีที่พึ่งพำนักอาศัย กล่าวได้ว่า ผู้นั้นต้องทุกข์ถึงตาย หรือทุกข์อย่างสาหัส เพราะว่าผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เป็นทุกข์ เปรียบเหมือนตกอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร ถ้าไม่ได้เครื่องชูชีพ หรือพบเกาะเป็นที่พึ่งพำนัก กล่าวได้ว่าผู้นั้นต้องตาย หรือลำบากแทบตาย



ที่พึ่งมีมากมาย เบื้องต้นต้องพึ่งอาศัยบิดามารดา พึ่งครูอาจารย์ในการศึกษาเล่าเรียน มีธุระเหลือบ่ากว่าแรงตน ต้องพึ่งมิตรสหาย ในที่สุดเมื่อชราและเจ็บป่วย ต้องพึ่งบุตรธิดาและแพทย์เป็นต้น คนบางคนพอมีทุกข์เกิดขึ้น หันไปพึ่งสิ่งต่างๆ เช่น ภูเขา ต้นไม้ ผีสางนางไม้ ที่ทำลงไปเช่นนี้ เพื่อต้องการจะพ้นจากทุกข์ ต้องดิ้นรนหาที่พึ่งต่างๆ ตามความเชื่อถือของตน ที่พึ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสห้าม แต่ไม่ทรงส่งเสริม เพราะบิดามารดาเป็นต้นนั้น เป็นที่พึ่งได้จริง แต่จัดเป็นที่พึ่งภายนอก เป็นที่พึ่งได้ชั่วคราว



พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสสอนให้มีที่พึ่ง จึงไม่ได้ทรงหมายถึงที่พึ่งภายนอก แต่ทรงประสงค์เอาที่พึ่งภายใน คือ การพึ่งตนเอง เพราะเป็นที่พึ่งได้แน่นอน



การพึ่งตนนั้น มิได้ประสงค์ว่าพึ่งสรีระร่างกาย เพราะสรีระร่างกายเป็นแต่เครื่องอาศัยชั่วคราว ไม่เป็นแก่นสารยั่งยืน หัวใจแห่งการพึ่งตนอยู่ที่คุณความดี มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง



ธรรมเป็นแก่นสารแห่งชีวิต เป็นของดีมีหลักฐานควรจะอ้างอิงชี้ชวนให้มาชมได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีอะไรสงบเย็นเท่าธรรม ควรจะนำมาสู่ตน หรือน้อมตนไปในธรรม เพื่อความเย็นสงบแลระงับร้อน ธรรมจึงเป็นที่พึ่งอย่างประเสริฐ



ธรรมเป็นที่พึ่งอันสำคัญ แต่ธรรมที่อยู่ตามธรรมดา ย่อมไม่สำเร็จเป็นที่พึ่งอันใดได้ เมื่อบุคคลบำเพ็ญธรรมนั้นให้มีขึ้นในตนแล้ว จึงสำเร็จเป็นที่พึ่งได้ เพราะอาศัยตนเป็นที่พึ่งนั่นเอง เปรียบเหมือนร่ม ที่อยู่ตามลำพัง หาสำเร็จประโยชน์ตามหน้าที่ไม่ ต่อเมื่อบุคคลนำมากางขึ้น จึงสำเร็จประโยชน์ในอันบังแดดฝนได้ ฉันนั้น เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสสอนให้พึ่งทั้งตนและพึ่งทั้งธรรมะ



ที่พึ่งคือตน และธรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และสร้างให้มีขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติตามธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งล้วนเป็นอุปการะในการสร้างที่พึ่งทั้งนั้น ดังพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า "ผู้มีปัญญาพึงสร้างเกาะคือที่พึ่ง ซึ่งห้วงน้ำท่วมไม่ได้ ด้วยธรรมะ 4 ข้อ คือ ความหมั่น ความไม่มัวเมา ความสำรวมระวัง ความปราบปรามตน"



เมื่อตรัสสอนให้ปฏิบัติธรรม จึงตรัสรับรองว่า อย่างนี้แลอานนท์ ภิกษุชื่อว่ามีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

เมตตาธรรม ขอเก็บไว้อ่านนะครับ


จาก  http://board.palungjit.com
ธรรมดาน้ำ" เมื่อถูกต้อง "คนดีและคนเลว" ย่อมเสมอกันด้วยความเย็น ชำระล้างมลทินคือความสกปรกได้เสมอกัน ฉันใด จงแผ่เมตตาไปให้เสมอกัน ในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีความเกื้อกูลคือผู้ที่เป็นมิตรกัน และไม่มีความเกื้อกูลคือเป็นศัตรูกัน ฉันนั้น

เมตตา หมายถึง ความรัก ความปรารถนาดี ที่ไม่เจือด้วยราคะ ปรารถนาความสุขความเจริญต่อผู้อื่น เป็นภาวะของจิตที่มีเยื่อใยไมตรี ปราศจากความอาฆาตพยาบาทโกรธเคือง

เมตตา แสดงทางกายด้วยกิริยางดงาม ใบหน้าสายตาแช่มชื่น แสดงออกทางวาจาด้วยถ้อยคำไพเราะ น่ารัก น่าสนทนา น่าฟัง แสดงถึงดวงจิตที่เอิบอิ่มเต็มไปด้วยความปรารถนาดี เมตตาธรรมที่มีอยู่ในจิตใจ ทำให้เยือกเย็นสงบ มีความสุข หากใจขาดเมตตาธรรม จะมีแต่ความเดือดร้อน ทำให้เกิดความคิดโกรธแค้นขัดเคือง ความคิดมุ่งร้ายเบียดเบียน ริษยา สะสมบ่มความทุกข์อยู่ในใจ

เมตตา เป็นธรรมข้อแรกในพรหมวิหารธรรม คือ เป็นคุณธรรมของบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่คณะ ผู้มีเมตตาเป็นคุณธรรมเป็นเหมือนพระพรหมผู้มีเมตตาต่อสรรพสัตว์

เมตตา เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน นอกจากตนเองจะมีเมตตาอยู่แล้วยังต้องการจะได้รับเมตตาจากผู้อื่นอีก คือปรารถนาดีต่อผู้อื่นแล้ว ต้องให้ผู้อื่นมีความรักความปรารถนาดีต่อตนเองบ้าง ผู้มีเมตตาจึงควรแผ่เมตตาไปยังผู้อื่นสัตว์อื่นอยู่เสมอ ๆ วิธีแผ่เมตตาคือการมองโลกในแง่ดี เหมือนมารดาบิดารักเอ็นดูบุตรธิดาของตน หรือนึกถึงตัวเองว่าเรารักสุขเกลียดทุกข์ ฉันใด ผู้อื่น สัตว์อื่น รักสุขเกลียดทุกข์ ฉันนั้น ดังคำที่ว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือใจเขาใจเรา เมื่อนึกอยู่เช่นนี้เมตตาจะมีมากขึ้น ความสุขความสงบจะเกิดขึ้น ระงับความเดือดร้อนความโกรธเคืองได้

การแผ่เมตตามี 2 อย่าง คือ แผ่เมตตาโดยเจาะจงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอย่างหนึ่ง แผ่เมตตาออกไปยังคนและสัตว์กว้างออกไปอย่างไม่มีประมาณจำกัดอย่างหนึ่ง การแผ่เมตตามิใช่เฉพาะตนและคนซึ่งเป็นที่รัก หรือเฉพาะหมู่คณะของตนเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้แผ่เมตตากว้างออกไป เปรียบเหมือนน้ำที่จะดับไฟที่เผาใจ เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรด้วยเมพึงแผ่เมตตาออกไปทุกทิศ ปรับจิตให้ปราศจากพยาบาทจองเวร เมื่อทุกคนมีเมตตาต่อกัน ย่อมจะอยู่กันอย่างมีความสุข ความเจริญ โลกร่มเย็นได้ เพราะเมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก

บุคคลผู้ปรารถนาความรักและความร่มเย็นเป็นสุข จึงควรเจริญเมตตาให้เกิดขึ้นด้วยวิธีที่ว่า ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความเดือดร้อนขอให้มีความสุข รักษาตนให้พ้นภัยเถิด แผ่เมตตาให้กว้างออกไปในสรรพสัตว์ด้วยวิธีที่ว่า ขอให้สรรพสัตว์ จงมีความสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความเดือดร้อน ขอให้มีความสุข รักษาตนให้พ้นภัยเถิด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาไว้ 11 ประการ คือ
1. นอนหลับมีความสุข
2. ตื่นอยู่มีความสุข
3. นอนหลับไม่ฝันร้าย
4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
6. เทวดารักษา
7. ไม่มีอันตราย เพราะ ไฟ ยาพิษ หรือศัตราวุธ
8. จิตมีสมาธิตั้งมั่นเร็ว
9. สีหน้าผ่องใส
10. ไม่หลงในขณะใกล้เสียชีวิต
11. เมื่อยังไม่บรรลุธรรมอันสูงยิ่ง ย่อมเกิดในพรหมโลก

++ พระราชสุธี (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร

เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร khaosod


เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


บัณทิตพึงเจริญเมตตาไปในหมู่สัตว์ทั้งมวล โดยไม่จำกัด เหมือนมารดามีเมตตาปกป้องรักษาบุตรคนเดียว ยอมเสียสละได้แม้ชีวิต



เมตตา หมายถึง ความรัก ความปรารถนาดี มีไมตรีจิตคิดบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ปราศจากความอาฆาตพยาบาทโกรธเคือง เมตตาทางกายด้วยกิริยาท่าทางงดงาม ใบหน้าสายตา แช่มชื่น เมตตาทางวาจาด้วยถ้อยคำไพเราะน่าฟัง เมตตาทางใจแสดงออกด้วยความปรารถนาดี



เมตตา ทำให้จิตใจเยือกเย็นสงบ มีความสุข หากจิตใจขาดเมตตาธรรม จะมีแต่ความเดือดร้อน ทำให้เกิดความคิดโกรธแค้นขัดเคือง ความคิดเบียดเบียนอิจฉาริษยา เป็นที่สะสมบ่มความทุกข์อยู่ในใจ



เมตตา เป็นธรรมข้อแรกในพรหมวิหารธรรม คือ คุณธรรมของบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่คณะ ผู้ที่มีเมตตาเป็นคุณธรรมเป็นเสมือนพระพรหม



เมตตา เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน นอกจากตนเองจะมีเมตตาอยู่แล้วยังต้องการจะได้รับเมตตาจากผู้อื่นอีก คือปรารถนาดีต่อผู้อื่นแล้ว ต้องให้ผู้อื่นมีความรักความปรารถนาดีต่อตนเองบ้าง ผู้มีเมตตาจึงจำต้องแผ่เมตตาไปยังผู้อื่นสัตว์อื่นอยู่เสมอๆ



วิธีแผ่เมตตาคือการมองคนในแง่ดี เหมือนมารดาบิดาเอ็นดูบุตรธิดา หรือนึกถึงตัวเองว่ารักความสุขเกลียดทุกข์ ผู้อื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ เช่นกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อนึกอยู่เช่นนี้จะมีเมตตามากขึ้น ความสุขความสงบเกิดขึ้น



การแผ่เมตตามี 2 อย่าง คือ



1.แผ่เมตตาโดยเจาะจงผู้ที่อยู่ใกล้ชิด



2.แผ่เมตตาออกไปยังสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณจำกัด



การแผ่เมตตามิใช่เฉพาะตนและคนที่รักหรือเฉพาะหมู่คณะของตนเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้แผ่เมตตากว้างออกไป เมตตาเปรียบเสมือนน้ำที่จะดับไฟที่เผาใจเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร พึงแผ่เมตตาออกไปทุกทิศ ปรับจิตให้ปราศจากพยาบาทจองเวร เมื่อทุกคนมีเมตตาต่อกัน ย่อมจะอยู่กันอย่างมีความสุข พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก"



อานุภาพแห่งเมตตาย่อมทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สมควรอย่างยิ่งที่จะเจริญเมตตาทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่เบียดเบียนข่มเหงกัน ไม่ปรารถนาทุกข์ให้แก่กัน



เมตตา จึงเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ปีพุทธศักราช 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน ส.ค.ส. แก่ประชาชนชาวไทยว่า "ความเมตตาเป็นคุณธรรมนำความสุข ช่วยปลอบปลุกปรุงใจให้หรรษา ความกตัญญูรู้คุณผู้เมตตา ทวีค่าของน้ำใจไมตรีเอย"