วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สัปปุริส khaosod

สัปปุริส

คอลัมน์ ศาลาวัด


คําว่า "สัปปุริส" เป็นคำบาลี มีความหมายว่า คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา

คุณสมบัติของคนดี หรือ สัปปุริสธรรม 7 ประการ คือ

1.ความ รู้จักธรรม หรือรู้จักเหตุ (ธัมมัญญุตา) คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอันนั้นๆ

2.ความรู้จัก อรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือรู้จักผล (อัตถัญญุตา) คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น

3.ความรู้จักตน (อัตตัญญุตา) คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสมและรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

4.ความรู้จัก ประมาณ (มัตตัญญุตา) คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น

5.ความ รู้จักกาล (กาลัญญุตา) คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือปฏิบัติการต่างๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลาให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

6.ความรู้จักบริษัท (ปริสัญญุตา) คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

7.ความรู้จักบุคคล (ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา) คือ แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักบุคคลผู้ยิ่งและผู้หย่อน หมายความว่า ผู้ยิ่งคือดี ผู้หย่อนคือไม่ดี วิธีเลือก คือ แยกบุคคลออกเป็น 2 พวก พวกใดใคร่เห็นผู้ประเสริฐ ใคร่ฟังธรรมตั้งใจฟังจำได้ พิจารณาเนื้อความธรรมที่จำได้ รู้ทั่วถึงผลถึงเหตุแล้วปฏิบัติธรรมตามสมควร เพื่อประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น พวกนี้นับว่าดี น่าสรรเสริญควรคบ ส่วนพวกที่ตรงกันข้าม เป็นคนไม่ดี น่าตำหนิ ไม่ควรคบ เมื่อคัดเลือกออกแล้ว ก็คบเฉพาะกับคนดี ไม่คบคนไม่ดี จึงจะเป็นคนดี

เป็นมงคลชีวิตโดยแท้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น