คำขานนาค
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา
คอลัมน์หน้าต่างศาสนา
ในพิธีการขออุปสมบทเป็นพระภิกษุของชายไทย พิธีบวชแบบมหานิกาย (อุกาสะ) และพิธีบวชแบบธรรมยุต (เอสาหัง) มีขั้นตอนที่คล้ายกัน แตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น
ลำดับคำขอบรรพชา-อุปสมบท เริ่มจากคำขอขมาโทษก่อนขอศีล คำขอไตรสรณคมน์-ศีล คำขอนิสัย สวดถามอันตรยิกธรรม และคำขออุปสมบท
ทั้ง นี้ ในขั้นตอนการสวดถามอันตรยิกธรรม (กล่าวเหมือนกันทั้งแบบมหานิกายและธรรมยุต) พระคู่สวดจะถาม และผู้บวชกล่าวรับ มีใจความ ดังนี้
พระคู่สวดว่า...นาคขานว่า...
กุฏฐัง (เธอเป็นโรคเรื้อนไหม) นัตถิ ภันเต (ไม่เป็น ขอรับ)
คัณโฑ (เธอเป็นโรคฝีเรื้อรัง อีสุกอีใสไหม) นัตถิ ภันเต (ไม่เป็น ขอรับ)
กิลาโส (เธอเป็นกลากเกลื้อนเชื้อโรคติดต่อไหม) นัตถิ ภันเต (ไม่เป็น ขอรับ)
โสโส (เธอเป็นหอบหืดไหม) นัตถิ ภันเต (ไม่เป็น ขอรับ)
อปมาโร (เธอเป็นโรคลมบ้าหมูไหม) นัตถิ ภันเต (ไม่เป็น ขอรับ)
มนุสโสสิ (เธอเป็นมนุษย์ไหม) อามะ ภันเต (เป็น ขอรับ)
ปุริโสสิ (เธอเป็นบุรุษไหม) อามะ ภันเต (เป็น ขอรับ)
ภูชิสโสสิ (เธอเป็นอิสระไหม) อามะ ภันเต (เป็น ขอรับ)
อนโณสิ (เธอไม่เป็นหนี้ใครแล้วหนีมาบวชนะ) อามะ ภันเต (ใช่ ขอรับ)
นสิ ราชภโฏ (เธอไม่หนีราชการมาบวชนะ) อามะ ภันเต (ใช่ ขอรับ)
อนุญญาโตสิ มาตาปิตูหิ (เธอได้รับอนุญาตจากพ่อแม่แล้วนะ) อามะ ภันเต (ใช่ ขอรับ)
ปริปุณณวีสติวัสโสสิ (เธอมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้วนะ) อามะ ภันเต (ใช่ ขอรับ)
ปะริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง (เธอมีบาตร จีวรครบแล้วนะ) อามะ ภันเต (ใช่ ขอรับ)
ใน ข้อที่ถามว่า ปุริโสสิ (เธอเป็นบุรุษ/เธอเป็นชายเต็มร้อยไหม) หากรับว่า "อามะ ภันเต (ขอรับ เจ้าข้าฯ)" ก็จะเป็นการผิดศีล เสียตั้งแต่ก่อนจะได้บวชค่ะ และเข้าใจว่าโดยสถานภาพจะทำให้การบวชเป็นโมฆะด้วย
ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 มีปรากฏความ เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท ดังนี้
ใน สมัยพุทธกาล บัณเฑาะก์คนหนึ่งบวชในสำนักภิกษุ ได้เข้าไปหาภิกษุหนุ่มและสามเณร พูดเชิญชวนให้กระทำมิดีมิร้าย พระภิกษุและสามเณรทั้งหลายจึงกล่าวว่าติเตียน
ต่อมาบัณเฑาะก์ได้เข้า ไปหาพวกคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า พูดชวนให้กระทำมิดีมิร้าย พวกคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้าจึงเพ่งโทษติเตียน และกล่าวโพนทะนาว่า พระภิกษุสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบัณเฑาะก์ ส่วนพระภิกษุที่มิใช่บัณเฑาะก์ก็ประทุษร้ายบัณเฑาะก์ด้วยกัน
พระภิกษุทั้งหลายได้ทราบความจากพวกคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า
สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น