วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

"กำลังใจ" ห้ามหมด (๒) khaosod

"กำลังใจ" ห้ามหมด (๒)

โลกนี้ไม่สิ้นกลิ่มธรรม

โดยศิษย์ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก - พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา



เสียอะไรก็เสียได้ แต่อย่าเสียกำลังใจ

บ้านไหม้ไฟ หมดทั้งหลังช่างปะไร

กำลังใจ เอ่อล้น คนเดินต่อฯ

อุบายที่ ๓ (ต่อ จากตอนที่แล้ว) การมองด้านบวกเสมอ นั้นเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างกำลังใจได้อย่างไม่คาดฝัน แต่ต้องเป็นคนช่างสังเกต แล้วน้อมพิจารณามาใช้กับตัวเราได้ด้วยตัวเอง เพราะจะมัวรอให้ใครเขามาเฝ้าสอน เฝ้าแนะ ตลอดเวลานั้นคงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ อย่างเรื่องนี้ เดลคาร์เนกี้ (Dale Carnegie) นักเขียนขวัญใจตลอดกาลของผม เคยเขียนไว้...

นักธุรกิจถัง แตกที่เพิ่งเจ๊งคนหนึ่ง เดินโซซัดโซเซ ออกมา กลางถนน ไม่มีแม้รองเท้าใส่ กำลังสับสนกับชีวิต คิดยอมแพ้แล้ว ปรากฏว่าเดินไปพบกับขอทาน ผู้พิการไร้ขาทั้ง ๒ ข้าง มีเพียงลำตัวกับหน่อขากุดๆ นั่งอยู่บนกระดานล้อเลื่อน เคลื่อน ไหวได้ด้วยมือเข็นไปกับพื้น ขอทานผู้นี้ มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เงยหน้าสบตานักธุรกิจหนุ่ม พร้อมทักทายว่า

"อรุณสวัสดี...เช้าวันนี้ อากาศช่างแจ่มใสจริงๆ เลยนะครับ"

นัก ธุรกิจรู้สึกสะกิดใจดังโป้ง ก้มไปมองดูเท้าเปล่าเปลือยของตัวเอง ที่ดำเขลอะเพราะเดินมาหลายร้อยเมตร แล้วก็คิดขึ้นได้ด้วยตัวเขาเองว่า...

ถึง แม้วันนี้ ฉันไม่มีเงิน แม้แต่จะซื้อรองเท้าใส่ได้ แต่ฉันก็ยังมีเท้าทั้ง ๒ ข้าง และขาที่สมบูรณ์ ซึ่งยังดีกว่าขอทานผู้ไร้ขาคนนั้น แล้วไยจะมาท้อแท้สิ้นหวังอยู่ได้ น่าอายต่อขอทานผู้ยิ้มให้กับชีวิตจริงคนนั้นเสียนี่กระไร

ที่ชายคนนี้คิดได้ เพราะเขาหัดมองด้านบวกอยู่เสมอนั่นเอง


อุบายที่ ๔ : เจริญอิทธิบาท ๔

อย่า ได้เสียที ที่เป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าขิงเราท่านสอนธรรมะไว้มากมายก่ายกอง ตลอด ๔๕ พรรษาที่พระองค์ทรงประกาศพระศาสนา ทุกถ้อยธรรม ล้วนแล้วแต่มีคุณค่า ไม่ขึ้นกับกาลเวลา (Timeless) ใช้ได้ผลจริงๆ ทั้งทางโลก และทางธรรม

ที่ คนเรามักท้อใจง่าย เลิกล้มภารกิจรวดเร็วก่อนเวลาอันควร ก็เพราะไม่มีอิทธิบาท ๔ ไม่กล้าแม้แต่จะคิดเป้าหมายของชีวิต (Goals of life) ให้ตัวเอง พลังวัตรในการขับเคลื่อนไปสู่ผลสำเร็จ จึงอ่อนแอมาก

อิทธิบาท ๔ คืออะไร? ใช้อย่างไร? (How to)

อิทธิบาท ๔ ความหมาย อุบาย (เทคนิค)

๑. ฉันทะ ความพอใจ รักใคร่ในสิ่งนั้น "ทำในสิ่งที่รัก" หรือหากเลือกไม่ได้ในชีวิตจริงก็ปรับใจให้ "รักในสิ่งที่ทำ"

๒. วิริยะ ความเพียรพยายามทำสิ่งนั้น เมื่อเราพอใจในสิ่งที่เราทำ ธรรมชาติก็จะเอื้อให้เรามีความเพียร ขยันทำในสิ่งนั้น อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเอง

๓. จิตตะ ความเอาจิตฝักใฝ่ในสิ่งนั้น เมื่อขยันแล้ว ก็ต้องไม่ใช่ขยันแบบโง่ๆ แบบไม่มีสมาธิ เราต้องทำด้วยการโฟกัส มีสมาธิในการทำงานชิ้นนั้นๆ จึงไม่ ผิดพลาด

๔. วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น เพื่อพัฒนา ชาวพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ทำไปแล้ว ก็ต้องหมั่นคิดวิเคราะห์ พัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้น

อิทธิบาท ๔ ถือเป็นทางแห่งความสำเร็จ หรือบาทฐานแห่งความสำเร็จ (Law of success) เรื่องง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนแค่นี้ คนไทยหลายคนทำเป็นไม่เข้าใจ ดัดจริตไปหาวิชาการ เรื่องการประสบความสำเร็จจากเมืองนอก หรือจ้างฝรั่งมาทำเป็นคอร์สสัมมนาแพงๆ หัวละ ๒-๓ หมื่น สุดท้ายก็มาค้นพบความจริง หลังจากเสียตังค์ไปแล้ว ที่แท้สิ่งที่ได้ร่ำเรียนมา ก็อยู่ภายใต้กฎแห่งอิทธิบาท ๔ นี้นั่นเอง

สังคม ไทย อ่อนแอเรื่องนี้มาก ๘๐% คนทำงานด้วยความฝืนใจ ไม่เต็มใจทำ ไม่มีความสุข หรือไม่เรียนรู้ที่จะเป็นสุขขณะเมื่อทำงาน สังเกตง่ายๆ

ผมเคยไปสั่งก๋วยเตี๋ยวร้านข้างถนนทานตอนบ่าย ๒ ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่ค่อยมีคนแล้ว ขณะนั้นทั้งร้านมีผู้เขียนนั่งเป็นลูกค้าอยู่คนเดียว

"เส้นเล็กเย็นตาโฟ ไม่ใส่เห็ด ไม่ใส่ปลาหมึก - โอเลี้ยงแก้ว"

แม่ค้าตอบ "ได้ๆ รอเดี๋ยว"

สักพัก หันมาถาม "เส้นใหญ่หรือเส้นเล็กนะ?"

"เส้นเล็ก"

"ฮ่อๆ ไม่เห็ด ไม่หมึก ใช่ไหม?"

"ครับ"

สัก พัก ก๋วยเตี๋ยวก็มาเสิร์ฟ เป็นเส้นเล็กน่ะ ถูกแล้ว แต่มาทั้งปลาหมึก ทั้งเห็ดเลย แถมน้ำที่มาส่งให้ ก็ไม่ใช่โอเลี้ยง แต่กลับเป็นชาดำเย็นเสียฉิบ!

นี่เป็นตัวอย่างการทำงานโดยปราศจาก อิทธิบาท ๔ เพราะลูกค้าแค่คนเดียว ยังผิดพลาดได้ถึงขนาดนี้ มิหนำซ้ำ รสชาติก็ไม่อร่อยเลย (ขนาดว่าผู้เขียนนับเป็นหนึ่งในพวกลิ้นจระเข้แล้วนะ) ทั้งที่เป็นร้านเก่าแก่ ขายก๋วยเตี๋ยวชนิดเดียวกันนี้มาร่วม ๑๐ ปี แสดงว่าไม่มี วิมังสา ไม่พัฒนาปรับปรุงเลย ภาษาอังกฤษว่า No learning curve

แม้ร้านอาหารใหญ่ๆ ก็เถอะ พนักงานก็ดูจะทำงานไปแบบซังกะตายไปวันๆ ถามไถ่เขามากไปหน่อย จะพาลฟาดเรากลับด้วยน้ำเสียงที่ไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย, คนขับรถเมล์ที่ระบายอารมณ์ด้วยการขับซิ่ง ปาดไปปาดมา, พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า ที่เอาแต่มองดูนาฬิการอคอยเวลาที่จะเลิกงาน แม้ขณะเวลาทำงาน ก็เอา แต่คุยโทรศัพท์มือถือกัน ฯลฯ หากจะกล่าวโดยสรุป ก็ต้องพูดว่า เมืองพุทธเรา ใช้หลักอิทธิบาท ๔ มาใช้กับวิถีชีวิตประจำวัน ในสัมมาอาชีพนั้นน้อยมาก

อุบายที่ ๕ : จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง

เหลือบ ตาไปดู ตรงที่ผมจดโน้ตไว้ในปฏิทิน โอ้โห...บทความที่เขียนใน "ข่าวสด" นี้เกือบ ๕๐ ชิ้นแล้ว แม้ผู้เขียนจะตั้งหัวคอลัมน์ไว้ด้วยเป้าประสงค์อันถ่อมตัว ว่าที่ทำๆ อยู่นี้ เพียงเพื่อไม่อยากให้โลกนี้ สิ้นกลิ่นธรรมเท่านั้น แต่ยอมรับตรงๆ ว่า เขียนไป บางครั้ง บางอารมณ์ก็อ่อนกำลังใจได้เหมือนกัน เพราะกระแสกิเลสมันแรงกว่าหลายเท่า ในโลกแห่งวัตถุนิยมที่อุดมไปด้วยอวิชชาชน คนขี้เหม็นและเห็นแก่ตัว...อดรำพึงรำพันกับตัวเองไม่ได้ว่า...

เราจะสู้ไหวหรือ? แล้วเราจะเปลี่ยนให้คนมาสนใจธรรมได้บ้างหรือ?

เขียนไป จะมีคนอ่านกันสักกี่หยิบมือ? เลิกเขียนเสียดีกว่าไหม? ฯลฯ

โชคดี บังเอิญได้ย้อนนึกถึงคำครูบาอาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ว่า

"เรา ไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อยๆ ตามสติกำลัง มีผลเท่าไร ก็เอาเท่านั้น แต่เราหวังอยู่ว่า การกระทำด้วยความจงรักต่อพระศาสนาของเรานี้ อาจมีคนเอาไปคิดไปนึก แล้วอาจมีคนทำตามขึ้นมา จนกระทั่งผู้มีอำนาจท่านทำ หรือประชาชนทั้งโลกพากันทำ มันก็อาจมีการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่ได้พลิกเอง ผลก็เท่ากัน เราคงยังเจียมตัว และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้น"

กำลังใจที่อ่อนล้าโรยแรง ก็ได้ Recharge กลับมาใหม่ทันที!

คำสอนของท่านอาจารย์ สะกิดเตือนใจผม อย่าทำงานด้วย "จิตวุ่น" ต้องทำงานด้วย "จิตว่าง"

ใช่ แล้ว "จิตวุ่น" คือจิตที่สอดส่ายไปมาตามแรงกระเพื่อมของกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังก็ตาม ความมีตัวกูของกูก็ตาม มันทำให้ "กำลังใจ" ของคนอ่อนลงได้ครับ เพราะจิตที่ส่งออกนอกอยู่ตลอดเวลา หาโอกาสโฟกัสหรือรวมพลังไม่เจอ สุดท้ายก็ต้องเลิกล้มไป

"จิตว่าง" คือจิตที่เพ่งอยู่กับงาน กับกุศลกรรม ที่ทำอยู่ด้วยความปล่อยวาง มีแต่การกระทำ ที่หามีผู้กระทำไม่ (No Doer behind doing) เป็นดวงจิตที่บริสุทธิ์ เปี่ยมพลังและพร้อมทำงานเสมอ และใครเข้าถึง หรือทำเรื่อง "ทำงานด้วยจิตว่าง" นี้เป็น พวกเขาจะคล้ายสร้างงาน ผลิตงานได้ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดูอย่างพระผู้สุปฏิปันโนสิ ท่านฉันมื้อเดียวด้วยซ้ำ กิเลสก็น้อยกว่าเราโข แต่ไฉน พระพวกนั้น สามารถทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน ผลิตงานออกมามากมาย

ศึกษากันให้ดี จะพบว่า แรงขับ (Driving force) ทางปัญญานั้นมีพลังงานมากกว่าแรงขับทางกิเลสเยอะ นั่นคือเหตุปัจจัย ที่พระบางรูปอย่างท่านพุทธทาส จึงผลิตงานออกมามากมายเกินจะเชื่อได้ว่า ทำออกมาจากพระเพียงรูปเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมโฆษณ์ series, เทปบันทึกคำเทศนาของท่าน, ลิขิตที่ท่านเขียนใส่หลังกระดาษปฏิทินที่มากมาย กระทั่งท่านดับขันธ์ไปร่วม ๑๗ ปีแล้ว ลูกศิษย์ยังนำเศษกระดาษโน้ตธรรมเหล่านั้น มาเรียบเรียง จัดหมวดหมู่ ตีพิมพ์ไม่หมดเลย ว่ากันว่า ท่านใช้เครื่องพิมพ์ดีดโบราณ (ที่แป้นพิมพ์หนักๆ ต้องใช้แรงนิ้วมากหน่อย) เป็นเครื่องมือ ทำให้ข้อนิ้วเสื่อมเมื่อครั้นปัจฉิมวัยของท่าน

ทำงานทุกชิ้น ทุกชนิดด้วยจิตว่าง เสร็จแล้วปล่อยวาง ไม่ผูกพันเป็นตัวกูของกู เสร็จแล้วเขยิบไปทำชิ้นใหม่ เช่นนี้ๆ เรื่อยไป "กำลังใจ" ก็ไม่หายไปไหน มีแต่จะเพิ่มเติมขึ้นมาทุกเมื่อเชื่อวัน ขอให้ทุกท่านมีกำลังใจในการทำสิ่งดีๆ เข้าถึงธรรม นำมาใช้ในวิถีชีวิตได้จริงๆ กันทุกท่านเทอญ ขอปิดท้ายด้วยกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุ

จงทำงาน ทุกชนิด ด้วยจิตว่าง

ยกผลงาน ให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น

กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน

ตายเสร็จสิ้น แล้วในตัว แต่หัวที

ท่านผู้ใด ว่างได้ ดังว่ามา

ไม่มีท่า ทุกข์ทน หม่นหมองศรี

"ศิลปะ" ในชีวิต ชนิดนี้

เป็น "เคล็ด" ที่ใครคิดได้ สบายเอยฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น