"กำลังใจ" ห้ามหมด (๑)
โลกนี้ไม่สิ้นกลิ่นธรรม
โดยศิษย์อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก/ พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา
เสีย "เงินทอง" ถือว่าเสียเพียงหนึ่ง
สีย "ชื่อเสียง" ถือว่าเสียมากกว่าหนึ่ง
แต่หากสูญเสีย "กำลังใจ"
ถือว่าเสียทุกอย่าง.
สุภาษิตจีนโบราณ
(ขออภัยที่ไม่อาจหาพบนามผู้ประพันธ์)
แหม...อ่าน แล้วชอบมากครับ มันเป็นอะไรที่คนเราต้องให้กำลังใจตัวเองตลอดเวลานะครับ เพราะ "กำลังใจ" ที่สร้างได้ด้วยตัวเองตลอดเวลานั้น วิเศษที่สุดครับ ดียิ่งกว่าแบตเตอรี่ที่ชาร์จใหม่ได้ (Rechargeable Battery) อีกนะครับ เพราะการสร้างใหม่ซึ่งกำลังใจในตัวเรา ไม่ต้องการปลั๊กไฟ ไม่ต้องใช้แหล่งพลังงานด้านนอกแต่อย่างใด
บางคนอาจตั้งคำถามในใจ แล้วจะต้องทำยังไงล่ะ? ทำไมคนไทยท้อใจ หมดแรงใจกันง่ายจัง? ภูมิพลังชีวิตของพวกเราชาวพุทธทำไมอ่อนแอจังเลย?
ผมมีคำตอบให้ทั้งหมด พร้อมอุบายในการสร้าง "กำลังใจ" ด้วยครับ...
อุบายที่ ๑ ; โลกนี้ไร้เรื่องยาก หากเป็นคนใจถึง
ภาษิต จีนโบราณชิ้นนี้ ผมชอบมาก เห็นครั้งเดียวจำได้ไม่ลืมเลย (แต่ขออภัยที่หาชื่อผู้ประพันธ์ไม่พบ) "ใจ" เป็นนาย "กาย" เป็นบ่าว, โบราณว่าไว้ไม่ผิด พระพุทธเจ้าก็ตรัส "ใจ" เป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จลงได้ด้วยใจ
หาก "ใจสู้" แม้ร่างกายพิการแต่ก็ยังทำงานได้อย่างสำเร็จภาคภูมิ ตรงกันข้าม หาก "ใจไม่สู้" นิดๆ หน่อยๆ ก็ท้อถอย ทำอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ดังกับเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อนี้ แม้ร่างกายจะสมบูรณ์ครบ ๓๒ เป็นปกติ ก็อยู่อย่างรกโลก หายใจทิ้งไปวันๆ บางคนอายุเกือบ ๕๐ ปีแล้ว ยังขอเงินแม่กินอยู่เลย ก็ยังมีให้เห็นในสังคมไทย
ส่วนคนบางคน แม้อายุจะยังไม่มาก แต่ก็รู้จักคิดเองได้ สร้างกำลังใจให้ตัวเองได้ ตั้งแต่อายุ ๑๖-๑๗ ปี เด็กคนนี้ ไม่มีผู้ใหญ่ในครอบครัวให้คำชี้แนะ เกี่ยวกับเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (Entrance) เลย เนื่องด้วยครอบครัวสมัยก่อนไม่ค่อยอบอุ่น พ่อแม่ก็มีการศึกษาไม่สูง ซ้ำต้องทำมาหากิน มีลูกเป็นฝูง จึงต้องเลี้ยงกันไปแบบ "ตายฝัง ยังเลี้ยง" เด็กคนนี้ จึงพลาดการสอบเข้าครั้งแรก คือสอบเอ็นท์ไม่ติด คนเป็นพ่อ นอกจากจะไม่ช่วย ไม่ปลอบใจแล้ว ยังซ้ำเติมว่า
"ทำไม อ่านหนังสือตั้งเยอะ แล้วยังสอบไม่ติด?"
เด็ก วัยรุ่นคนนี้ รู้สึกเหมือนโดยคำพูดของพ่อตัวเอง ซัดเข้าเต็มหัวใจที่กำลังอ่อนล้า แม้คนเป็นพ่ออาจไม่มีเจตนา แต่มันก็ทำให้แย่ แทบหาหลักยึดไม่มี แทนที่จะท้อแท้ ประชดเลิกเรียน เลิกสอบไป หรือหนีออกจากบ้านไปเลย (เด็กวัยรุ่นสมัยนั้น ส่วนใหญ่ต้องเคยคิดเรื่องหนีออกจากบ้านอย่างน้อยก็ครั้งนึงในชีวิต) เขากลับแปลงความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เป็นพลัง เขียนเป็นกลอนไว้ ให้กำลังใจตัวเอง...
โบยบิน สู่โลกกว้าง
หนทาง...ฉันกำหนด
แม้ไกลจนเลี้ยวลด
ไม่เคยหมด "กำลังใจ"
ตั้ง หน้าตั้งตาวางแผนสอบใหม่ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อผิดพลาดที่ผ่านมา ทำไมเราถึงสอบไม่ติด แล้วแจกแจงออกมาเป็นวิชาๆ เทียบสถิติเก่าๆ เปอร์เซ็นต์ของคะแนนต่ำสุดในแต่ละคณะ แต่ละมหา'ลัย แล้วปรับกลยุทธ์การเลือก ติวกวดวิชาเพิ่มเพื่อสอบใหม่ ในปีถัดไป ในที่สุด ผลก็ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ เมื่อกลับไปบอกพ่อให้ทราบ...ปรากฏว่า พ่อตอบกลับ ด้วยทรรศนะที่คับแคบของท่านว่า
"อ้าว...ติดแล้วเหรอ ทำไมไม่ไปเรียน จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ล่ะ แล้วไอ้วิศวะเนี่ย มันคืออะไรเหรอ?"
เด็ก ชายวัยรุ่นคนนั้นได้แต่ยิ้มๆ แล้วไม่ตอบอะไรออกไป เพราะมันเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบอย่างแท้จริง และเขาก็รู้เส้นทางชีวิตของตัวเองแล้ว ทั้งหมดก็คือ "ใจ" ของตนนั่นเอง
หลาย คนอาจจะตั้งข้อสงสัย เหตุใดไปรู้ใจเด็กวัยรุ่นคนนั้นได้ถึงขนาดนี้ ผู้เขียนนั่งเทียนเขียนโม้เกินจริงหรือเปล่า? ก็คงต้องบอกว่า เด็กชายคนนี้เมื่อวันก่อน ก็คือผู้เขียนในปัจจุบันนั่นเอง!
อุบายที่ ๒ ; อยู่กับปัจจุบัน
"อดีต" ก็ได้ผ่านไปแล้ว อาลัยอาวรณ์ไปก็ไร้ประโยชน์,
"อนาคต" ก็ยังไม่มาถึง มัวกังวลบ่นพร่ำพรึงเพื่อประโยชน์อันใด
ขณะปัจจุบันนี้ หากลุกขึ้นทำสิ่งดีงามพิสุทธิ์ใส
ก็มั่นใจได้ว่า "อนาคต" ย่อมดีแน่นอน แล้วเมื่อกาลผ่านพ้นไป "อดีต" ก็จะต้องดีตามฯ
สูเจ้า จะโทษใครไปไยเล่า เจ้าก็เลือกทางชีวิตคิดสะระตะแล้ว ปราชญ์บางท่านว่า จริงๆ แล้ว อดีต และอนาคต ไม่มี มีแต่เพียงชั่วขณะปัจจุบัน แล้วผ่านไปๆ เป็นจุดๆๆๆ แต่สืบต่อจนเราอนุมานไปเองว่า เป็นช่วงเวลา คนที่คิดแบบนี้ได้ต้องเป็นนักฟิสิกส์แน่นอน
การอยู่กับปัจจุบันขณะ อาจจะยังยากสำหรับบางท่าน ผมจะพูดให้ง่ายเข้าว่า ให้เราทำงานปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุดละกัน ชิ้นที่ผ่านมาแล้ว จะสำเร็จได้รับความชื่นชม ก็ไม่เหลิง ไม่ปลื้ม หรือจะได้รับคำตำหนิก็ไม่โกรธ ไม่แคร์ แต่รับไว้พิจารณาทั้ง ๒ กรณี หากแต่จิตในปัจจุบันขณะนี้เท่านั้น ที่โฟกัสอยู่กับแต่งานในปัจจุบัน การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในปัจจุบัน เท่านั้น สร้าง "กำลังใจ" ให้ตัวเอง ณ ขณะจิตที่กำลังทำงานนี้อยู่เท่านั้น นี้คืออยู่กับปัจจุบัน
อุบายที่ ๓ ; เพิ่มทัศนคติบวก ลดทัศนคติลบ (กำจัดเลยได้ยิ่งดี)
เมื่อ งานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา พระอาจารย์สง่า (วัดปัญญานันทาราม) เล่าให้ฟังว่า...แหม คนเราสมัยนี้ มันคิดในแง่ลบกัน เก่งนะ วันๆ คิดแต่ว่า ตัวเองกำลังทุกข์เรื่องอะไร ทุกข์เรื่องโน้น ทุกข์เรื่องนี้ เต็มไปหมด พูดง่ายๆ คือ ทุกข์เก่ง...
บางคน แหมตื่นเช้ามา ยังไม่ทันทำอะไร ไปนั่งอยู่หน้าระเบียง ทำหน้ากลัดกลุ้มใจ เพื่อนบ้านผ่านไปเห็นก็ถามทักไปว่า
"เป็นอะไรเหรอ มานั่งทำหน้าอย่างนี้แต่เช้า?"
เขาตะโกนตอบกลับมา
"มันทุกข์น่ะ"
"ทุกข์เรื่องอะไรล่ะ?"
"ยังไม่รู้เลย ยังนึกไม่ออก...กำลังนึกอยู่ว่าวันนี้จะทุกข์เรื่องอะไรดี???"
ซะงั้น
นี่คือตัวอย่างสุดโต่ง ของการมีทัศนคติลบ อีกกรณีหนึ่ง พวกฝรั่งชอบเอามาพูด เห็นน้ำครึ่งแก้ว คนที่มีทัศนคติลบ (คิดลบ) มักจะพูดว่า
"น้ำหมดไปตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว"
ส่วนคนที่คิดบวก จะพูดว่า
"น้ำยังเหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว"
จึง เป็นที่มาของเรื่องอมตะเกี่ยวกับเซลส์แมน ๒ คน ที่ถูกส่งไปเปิดตลาดขายยกทรงที่เกาะบาหลี ต่างเวลากัน บางคนอาจเคยได้ยินมาแล้ว ก็ถือว่าเล่าสู่กันฟังละกันนะครับ
บริษัท ผลิตยกทรงแห่งหนึ่ง ส่งเซลส์แมนคนแรก ไปสำรวจตลาดที่เกาะบาหลีเป็นเวลา ๑ วัน สมัยนั้นสาวๆ ทั้งสาวแก่แม่ม่าย ไม่มีใครใส่ยกทรงกันเลย เดินโทงเทง ไหวตามความเป็นธรรมชาติของชาวเกาะ เมื่อครบกำหนด เซลส์แมนจึงเดินทางกลับมารายงานเจ้านายว่า
"ลืมเกาะนี้เสียเถิดครับ ไม่มีใครใช้ยกทรงเลย ขืนทำตลาดที่นั่น มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง"
อีก ๑ เดือนถัดมา บริษัทเดียวกัน ได้ส่งเซลส์แมนคนใหม่ไฟแรง ไปที่เกาะเดียวกัน ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่เซลส์แมนคนนี้ กลับมารายงานว่า...
"เจ้า นายครับ ตลาดที่นั่นใหญ่มาก ยังไม่เคยมีใครใช้ยกทรงมาก่อนเลย เพียงแค่เราไปแนะนำ รณรงค์ให้เขาเห็นความจำเป็นในการใช้ยกทรง เราอาจสร้างโรงงานผลิตยกทรงที่นั่นได้เลยนะครับ!"
เข้าทำนอง...สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นโคลนตม คนหนึ่งเห็นดวงดาว
วันนี้พื้นที่หมด ครั้งหน้ามาต่ออุบายที่ ๓ กันต่อนะครับ ยังๆ ยังไม่จบ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น