วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553
การสงเคราะห์ญาติ khaosod
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
คํา ว่าญาติ หมายถึงคนที่เป็นเชื้อสายเดียวกัน เป็นเหล่ากอเดียวกัน เป็นสายโลหิตเดียวกัน หรือคนที่รู้จักคุ้นเคย สนิทสนมกันระหว่างเรากับเขาโดยตรงบ้าง เกิดแต่ความสนิทสนมกับญาติทางสายโลหิตของเราบ้าง ได้ประพฤติและปฏิบัติธรรมร่วมกันบ้าง
ญาติที่มีความรักใคร่ ความนับถือกันและความสามัคคีกัน ร่วมใจดำรงวงศ์ตระกูล ตลอดจนถึงสังคมและประเทศชาติให้เจริญ ย่อมเป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป ทำให้มีความมั่นคงและเป็นที่เกรงขามของคนผู้ประสงค์ร้าย ทำให้ไม่สามารถเข้ามาเบียดเบียนได้ง่าย เหมือนความหนาทึบของกอไผ่ ที่มีหนามแวดล้อมอยู่รอบข้าง ไม่มีใครสามารถที่จะตัดได้ง่ายๆ
ฉะนั้น ญาติจะมีความรักใคร่นับถือกันและมีความสามัคคีกันอย่างมั่นคงได้ ต้องมีธรรมะสำหรับประพฤติปฏิบัติต่อกัน เพื่อส่งเสริมความรัก ความนับถือ ความสามัคคีให้แน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้น
ธรรมะอันเป็นอุบายเครื่องยึด เหนี่ยวน้ำใจญาติ ให้ร่วมกลุ่มกันได้ด้วยความเคารพ รักใคร่กันนั้น ได้แก่ ญาติธรรม คือ การสงเคราะห์ญาติด้วยธรรม 4 ประการ คือ
1.ทาน การอุดหนุนจุนเจือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือหรือสงเคราะห์อนุเคราะห์ด้วยทรัพย์วัตถุสิ่งของ ตลอดจนให้ความรู้ ความเข้าใจ และศิลปวิทยา
2.ปิยวาจา การกล่าวคำสุภาพ ไพเราะ น่าฟัง ชี้แจง แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเหตุผล เป็นหลักเป็นฐาน ชักจูงในทางที่ดีงาม หรือคำพูดที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ รู้จักพูดให้เกิดความเข้าใจดี สมานสามัคคี เกิดไมตรี ทำให้รักใคร่นับถือและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
3.อัตถจริยา การช่วยเหลือด้วยแรงกาย และขวนขวายช่วยเหลือกิจการต่างๆ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาและช่วยปรับปรุงส่งเสริมในด้านจริยธรรม
4.สมา นัตตตา การทำตัวให้เข้ากับเขาได้ วางตนเสมอต้นเสมอปลาย ให้ความเสมอภาค ปฏิบัติสม่ำเสมอกันต่อคนทั้งหลาย คือ ร่วมสุข ร่วมทุกข์ ร่วมรับรู้ ร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกัน ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ให้ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี
การ สงเคราะห์ด้วยการประพฤติญาติธรรม 4 ประการ คือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ญาติตามสมควร การพูดจาด้วยถ้อยคำน่ารัก การรู้จักทำประโยชน์แก่กันตามสมควร และการรู้จักวางตัวเสมอต้นเสมอปลายกับทุกคนดังกล่าวมาย่อมเป็นปัจจัยส่ง เสริมให้เกิดความสามัคคีในวงศาคณาญาติ ตลอดจนสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ามั่นคง
ดังนั้น บุคคลผู้มีทรัพย์แล้วไม่รู้จักใช้สอย ไม่ทำบุญกุศล ไม่สงเคราะห์ญาติของตน ถึงแม้จะมีทรัพย์มากมายก็ไม่มีประโยชน์สำหรับตนและคนทั้งปวง เพราะมีจิตคิดหวงแหนเก็บไว้ ทำให้ลูกหลานคนสนิทชิดใกล้ต่างพากันแย่งชิงจนเกิดคดีฟ้องร้องกัน เพราะทรัพย์เป็นเหตุ คนมีความโลภแล้วยังให้ผู้อื่นมีความโลภต่อไปอีกเช่นนี้ หาประโยชน์อะไรไม่ได้ในชาตินี้และชาติหน้าแล
พระเทพคุณาภรณ์
(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting
สัจจะ khaosod
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
สัจจะ ได้แก่ ความจริง ความซื่อตรง หรือความซื่อสัตย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับความไม่จริง ความเท็จ ความคดโกง ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างต้องการความจริง ความซื่อตรงหรือความซื่อสัตย์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครต้องการความไม่จริง ความเท็จ ความคดโกงเลย
ความจริง ความซื่อตรงหรือความซื่อสัตย์ เป็นของมีอยู่ตามธรรมดา ไม่แปรผันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้ จะปรากฏออกมาให้รู้ให้เห็นได้ ต้องอาศัยคนหรือวัตถุเป็นเครื่องแสดงให้ปรากฏ
ความจริง ความซื่อตรงนี้ ต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปพร้อมด้วยลักษณะ 6 ประการ คือ
1. สัจจะต่อตนเอง ได้แก่ ความซื่อตรงต่อตนเอง ไม่เบียดเบียนตนเองด้วยการประพฤติปฏิบัติในทางเสื่อมเสีย พยายามวางตน คุ้มครองรักษาตนให้ดี คบหาสมาคมกับเพื่อนที่ดี อดทนขยันหมั่นเพียรประกอบกิจการงาน ไม่เกียจคร้าน
2. สัจจะต่อคำพูดของตนเอง ได้แก่ ซื่อตรงต่อคำพูด รักษาและปฏิบัติต่อคำพูดของตนเองที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับคนอื่นไว้ ไม่ทำให้เสียสัตย์
3. สัจจะต่อหน้าที่ ได้แก่ ความซื่อตรงต่อหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายให้ทำ ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน ไม่ละทิ้งหน้าที่ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน
4. สัจจะต่อการงาน ได้แก่ ความซื่อตรงต่อการงาน มีความพอใจ สนใจทำการงานให้สำเร็จ ไม่ละทิ้งปล่อยให้คั่งค้าง งานที่ควรทำให้เสร็จไม่ว่าจะเป็นงานที่ยากหรือง่าย ก็รีบจัดทำให้เรียบร้อยด้วยดี ด้วยความอาจหาญร่าเริง
5. สัจจะต่อบุคคล ได้แก่ ความซื่อตรงต่อกันและกัน ระหว่างพ่อแม่กับลูก สามีกับภรรยา ผู้ปกครองกับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนกับเพื่อน และระหว่างชุมชนตลอดถึงประเทศชาติ
6. สัจจะต่อสังคม ได้แก่ ความซื่อตรงต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่สังคมตั้งไว้เป็นหลักสำหรับทำความประพฤติของคนในสังคม เพื่อป้องกันคนชั่ว ปกป้องคนดีและเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยความสงบร่มเย็น ตลอดถึงซื่อตรงต่อกฎระเบียบประเพณีที่คนส่วนมากให้การยอมรับ
เมื่อ ทุกคนต่างมีสัจจะ ความจริง ความซื่อตรงตามลักษณะดังกล่าวมา ย่อมเป็นสัจจะที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมอำนวยความสำเร็จกิจให้ตลอดกาลยาวนาน เกียรติศัพท์ชื่อเสียงอันดีงามของผู้ที่ประกอบด้วยสัจจะ ย่อมขจรขจายไปทั่วทุกทิศ เพราะความซื่อสัตย์จริงใจนั่นเองเป็นสำคัญ
ดัง นั้น จึงควรตามรักษาสัจจะไว้ประจำจิตใจอยู่เสมอ อันจะเป็นเหตุให้เกิดความสามัคคีปรองดอง ไว้วางใจกันและอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบ เป็นสุขแล
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร
www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting
วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553
Sompope Sungsuwan wants you to join foursquare!
|
วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553
จิตคงที่ทำให้เกิดสุข khaosod
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
มนุษย์ เราทุกคน ในเมื่อเวลาได้ประสบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนา อันได้แก่ ลาภ ยศ สรร เสริญ สุข ก็ไม่เห่อเหิมทะเยอทะยาน รู้จักสงบใจ ครั้นได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา อันได้แก่ ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็รู้จักมี สติ อดกลั้น ไม่เสียใจ คร่ำครวญ ซึ่งการทำจิตให้อาจหาญต่อสู้กับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั้น เมื่อยังตกอยู่ในอำนาจกิเลสตัณหา ล้วนยังปรารถนาอยากได้ลาภยศ สรรเสริญ สุขทั้งนั้น ส่วนความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์นั้น ไม่มีใครปรารถนา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจสำเร็จได้ เพราะความปรารถนาและการอ้อนวอนแต่เพียงอย่างเดียว ยังต้องเกี่ยวกับการประกอบกิจโดยอุบายที่ชอบ จึงจะได้สมความปรารถ นา ซึ่งลาภนั้น ก็คือ ความได้ข้าวของ เงินทอง อันเป็นที่พึ่งทางใจ มีทางให้เกิดได้ 2 สถาน คือ
1. อาศัยบุญเก่าที่เรียกว่า "ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญที่ตนได้ทำไว้ก่อน"
2. อาศัยความขยันหมั่นเพียร ดังคำพระว่า "ผู้มีธุระทำให้เหมาะเจาะ เป็นคนขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้"
ความ สรรเสริญก็ดี เกียรติยศชื่อเสียงก็ดี ล้วนเกิดจากเหตุที่มีจริงบ้าง ไม่มีจริงบ้าง คนพาลเมื่อได้รับอุปการะจากท่านผู้ใด แม้ผู้นั้น จักไม่มีคุณความดีอยู่ในตัวเลย ก็กล่าวยกย่องสรรเสริญได้
อารมณ์ที่ น่าปรารถนา ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ส่วนอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ได้แก่ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ รวมเป็น 2 แยกกระจายออกไปก็เป็น 8 ประการ หมุนเวียนไปตามสัตว์โลกทั่วไป ไม่เลือกหน้า แม้ถึงสัตว์โลกเล่า ก็หมุนเวียนไปตามธรรม 8 ประการนี้ คือ ยินดีในส่วนที่ปรารถนา ยินร้ายในส่วนที่ไม่ปรารถนา ธรรมทั้ง 8 ประการนี้ จึงได้ชื่อว่า โลกธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมของโลก ธรรมเวียนไปตามโลก
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงควรบำเพ็ญความ ไม่ประมาทในโลกธรรม คือ ระวังอย่าให้กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ระวังใจอย่าให้ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ระวังใจอย่าให้มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ผู้มี ปัญญาพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่าโลกธรรม 8 ประการนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปร ปรวนเป็นธรรมดาอย่างนี้แล้ว โลกธรรมนั้น ย่อมไม่ครอบจิตให้แปรผันไปต่างๆ ได้คือ ย่อมไม่มีความยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเกิดขึ้นแล้ว และย่อมไม่ถึงความยินร้ายในความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์อันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อละความยินดียินร้ายได้อย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง
ดังนั้น เมื่อเราทุกคนเล็งเห็นความไม่แน่นอนอันจักเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรทำใจไว้แต่เบื้องต้น จะได้ไม่ต้องรู้สึกเสียใจในภายหลัง
พระเทพคุณาภรณ์
(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting
วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ความสงบสุข khaosod
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
ทุก คนต้องการความสงบ ไม่มีใครต้องการความทุกข์ พยายามแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น คิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีความสุข พระพุทธเจ้าทรงแสดงความสุขของฆราวาสไว้ 4 อย่าง คือ
1. ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์
2. ความสุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์บริโภค
3. ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
4. ความสุขเกิดจากการทำงานที่ไม่มีโทษ
ฆราวาส คือ ผู้ครองเรือน ผู้มีครอบครัว ต้องการความสุขก็ต้องพยายามแสวงหาทรัพย์ให้ได้ ถ้าไม่มีทรัพย์ก็ไม่มีความสุข เมื่อแสวงหาทรัพย์มาได้แล้ว ก็ต้องจ่ายทรัพย์บริโภค คือจ่ายเพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว จ่ายเพื่อเครื่องนุ่งห่ม เพื่อที่อยู่ที่อาศัย เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จึงจะเป็นสุข ถ้ามีทรัพย์แต่ตระหนี่ ไม่จ่ายดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ไม่มีความสุข
การจ่ายทรัพย์บริโภค ก็ต้องระวังไม่ให้เป็นหนี้ ถ้าจ่ายจนเป็นหนี้ก็ต้องเป็นทุกข์ ไม่มีความสุข การแสวงหาทรัพย์ ก็ต้องแสวงหาในทางที่ชอบธรรม จึงจะมีความสุข ถ้าแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม ก็ไม่มีความสุข พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ความสุขเกิดจากการทำงานที่ไม่มีโทษ"
ความ สุขที่กล่าวมานี้ เป็นความสุขโดยทั่วไป ส่วนความสุขโดยรวบยอด พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ความสุขอย่างอื่นนอกจากความสงบไม่มี" ความสุขอย่างอื่นแม้จะมีอยู่ก็จริง แต่ก็ยังไม่เท่าความสุขที่เกิดจากความสงบ
ผู้ใดไม่มีความสงบ ผู้นั้นไม่มีความสุข แม้จะมีทรัพย์ จ่ายทรัพย์บริโภค ไม่มีหนี้ ทำงานที่ไม่มีโทษ แต่ตัวเองไม่มีความสงบ มีความวุ่นวายที่เกิดจากตัวเองบ้าง เกิดจากครอบครัวบ้าง เกิดจากบุคคลอื่นบ้าง ก็ไม่มีความสุข สถานที่ใดไม่มีความสงบ มีแต่ความวุ่นวายยุ่งยาก ที่นั้นก็ไม่มีความสุข
เรา ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยดี มีคำกล่าวว่า "ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยาชูกำลัง อุปสรรคคือหนทางแห่งความสำเร็จ ความลำบากในวันนี้ คือความสุขที่จะมีในวันหน้า"
การต่อสู้ก็ต้องมีการแพ้การชนะ ผู้แพ้ก็ต้องมีความทุกข์ด้วยคิดว่า เมื่อไรเราจึงจะชนะได้บ้าง ผู้ที่ทำกิเลสในตัวให้สงบลงได้ ไม่ให้กิเลสกำเริบ เรียกว่าเอาชนะตัวเองได้ ชื่อว่าละความชนะ ละความแพ้ได้ ย่อมมีความสุข เราชนะกิเลส ชนะตัวของตัวเองได้เพียงคนเดียว ดีกว่าเอาชนะคนอื่นตั้งร้อยคนพันคน แม้ว่าจะเอาชนะคนอื่นมากๆ ได้ แต่ยังแพ้กิเลส แพ้ความชั่วของตัวเอง ยอมให้กิเลสให้ความชั่วครอบงำตัวเอง บังคับตัวเองให้ทำความชั่วได้ต่างๆ นานา ก็ชื่อว่าเป็นผู้แพ้จะต้องประสบแต่ความทุกข์ตลอดไป เมื่อใดเอาชนะกิเลส ชนะความชั่ว ไม่ให้ครอบงำตนเองให้ทำความชั่วได้ เมื่อนั้นจึงมีความสุข
ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ก็ต้องสร้างความสงบขึ้นในตน โดยอาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังที่ได้กล่าวมาแล้วแล
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 02-281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 02-281-2430 end_of_the_skype_highlighting
วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553
"กำลังใจ" ห้ามหมด (๒) khaosod
โลกนี้ไม่สิ้นกลิ่มธรรม
โดยศิษย์ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก - พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา
เสียอะไรก็เสียได้ แต่อย่าเสียกำลังใจ
บ้านไหม้ไฟ หมดทั้งหลังช่างปะไร
กำลังใจ เอ่อล้น คนเดินต่อฯ
อุบายที่ ๓ (ต่อ จากตอนที่แล้ว) การมองด้านบวกเสมอ นั้นเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างกำลังใจได้อย่างไม่คาดฝัน แต่ต้องเป็นคนช่างสังเกต แล้วน้อมพิจารณามาใช้กับตัวเราได้ด้วยตัวเอง เพราะจะมัวรอให้ใครเขามาเฝ้าสอน เฝ้าแนะ ตลอดเวลานั้นคงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ อย่างเรื่องนี้ เดลคาร์เนกี้ (Dale Carnegie) นักเขียนขวัญใจตลอดกาลของผม เคยเขียนไว้...
นักธุรกิจถัง แตกที่เพิ่งเจ๊งคนหนึ่ง เดินโซซัดโซเซ ออกมา กลางถนน ไม่มีแม้รองเท้าใส่ กำลังสับสนกับชีวิต คิดยอมแพ้แล้ว ปรากฏว่าเดินไปพบกับขอทาน ผู้พิการไร้ขาทั้ง ๒ ข้าง มีเพียงลำตัวกับหน่อขากุดๆ นั่งอยู่บนกระดานล้อเลื่อน เคลื่อน ไหวได้ด้วยมือเข็นไปกับพื้น ขอทานผู้นี้ มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เงยหน้าสบตานักธุรกิจหนุ่ม พร้อมทักทายว่า
"อรุณสวัสดี...เช้าวันนี้ อากาศช่างแจ่มใสจริงๆ เลยนะครับ"
นัก ธุรกิจรู้สึกสะกิดใจดังโป้ง ก้มไปมองดูเท้าเปล่าเปลือยของตัวเอง ที่ดำเขลอะเพราะเดินมาหลายร้อยเมตร แล้วก็คิดขึ้นได้ด้วยตัวเขาเองว่า...
ถึง แม้วันนี้ ฉันไม่มีเงิน แม้แต่จะซื้อรองเท้าใส่ได้ แต่ฉันก็ยังมีเท้าทั้ง ๒ ข้าง และขาที่สมบูรณ์ ซึ่งยังดีกว่าขอทานผู้ไร้ขาคนนั้น แล้วไยจะมาท้อแท้สิ้นหวังอยู่ได้ น่าอายต่อขอทานผู้ยิ้มให้กับชีวิตจริงคนนั้นเสียนี่กระไร
ที่ชายคนนี้คิดได้ เพราะเขาหัดมองด้านบวกอยู่เสมอนั่นเอง
อุบายที่ ๔ : เจริญอิทธิบาท ๔
อย่า ได้เสียที ที่เป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าขิงเราท่านสอนธรรมะไว้มากมายก่ายกอง ตลอด ๔๕ พรรษาที่พระองค์ทรงประกาศพระศาสนา ทุกถ้อยธรรม ล้วนแล้วแต่มีคุณค่า ไม่ขึ้นกับกาลเวลา (Timeless) ใช้ได้ผลจริงๆ ทั้งทางโลก และทางธรรม
ที่ คนเรามักท้อใจง่าย เลิกล้มภารกิจรวดเร็วก่อนเวลาอันควร ก็เพราะไม่มีอิทธิบาท ๔ ไม่กล้าแม้แต่จะคิดเป้าหมายของชีวิต (Goals of life) ให้ตัวเอง พลังวัตรในการขับเคลื่อนไปสู่ผลสำเร็จ จึงอ่อนแอมาก
อิทธิบาท ๔ คืออะไร? ใช้อย่างไร? (How to)
อิทธิบาท ๔ ความหมาย อุบาย (เทคนิค)
๑. ฉันทะ ความพอใจ รักใคร่ในสิ่งนั้น "ทำในสิ่งที่รัก" หรือหากเลือกไม่ได้ในชีวิตจริงก็ปรับใจให้ "รักในสิ่งที่ทำ"
๒. วิริยะ ความเพียรพยายามทำสิ่งนั้น เมื่อเราพอใจในสิ่งที่เราทำ ธรรมชาติก็จะเอื้อให้เรามีความเพียร ขยันทำในสิ่งนั้น อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเอง
๓. จิตตะ ความเอาจิตฝักใฝ่ในสิ่งนั้น เมื่อขยันแล้ว ก็ต้องไม่ใช่ขยันแบบโง่ๆ แบบไม่มีสมาธิ เราต้องทำด้วยการโฟกัส มีสมาธิในการทำงานชิ้นนั้นๆ จึงไม่ ผิดพลาด
๔. วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น เพื่อพัฒนา ชาวพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ทำไปแล้ว ก็ต้องหมั่นคิดวิเคราะห์ พัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้น
อิทธิบาท ๔ ถือเป็นทางแห่งความสำเร็จ หรือบาทฐานแห่งความสำเร็จ (Law of success) เรื่องง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนแค่นี้ คนไทยหลายคนทำเป็นไม่เข้าใจ ดัดจริตไปหาวิชาการ เรื่องการประสบความสำเร็จจากเมืองนอก หรือจ้างฝรั่งมาทำเป็นคอร์สสัมมนาแพงๆ หัวละ ๒-๓ หมื่น สุดท้ายก็มาค้นพบความจริง หลังจากเสียตังค์ไปแล้ว ที่แท้สิ่งที่ได้ร่ำเรียนมา ก็อยู่ภายใต้กฎแห่งอิทธิบาท ๔ นี้นั่นเอง
สังคม ไทย อ่อนแอเรื่องนี้มาก ๘๐% คนทำงานด้วยความฝืนใจ ไม่เต็มใจทำ ไม่มีความสุข หรือไม่เรียนรู้ที่จะเป็นสุขขณะเมื่อทำงาน สังเกตง่ายๆ
ผมเคยไปสั่งก๋วยเตี๋ยวร้านข้างถนนทานตอนบ่าย ๒ ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่ค่อยมีคนแล้ว ขณะนั้นทั้งร้านมีผู้เขียนนั่งเป็นลูกค้าอยู่คนเดียว
"เส้นเล็กเย็นตาโฟ ไม่ใส่เห็ด ไม่ใส่ปลาหมึก - โอเลี้ยงแก้ว"
แม่ค้าตอบ "ได้ๆ รอเดี๋ยว"
สักพัก หันมาถาม "เส้นใหญ่หรือเส้นเล็กนะ?"
"เส้นเล็ก"
"ฮ่อๆ ไม่เห็ด ไม่หมึก ใช่ไหม?"
"ครับ"
สัก พัก ก๋วยเตี๋ยวก็มาเสิร์ฟ เป็นเส้นเล็กน่ะ ถูกแล้ว แต่มาทั้งปลาหมึก ทั้งเห็ดเลย แถมน้ำที่มาส่งให้ ก็ไม่ใช่โอเลี้ยง แต่กลับเป็นชาดำเย็นเสียฉิบ!
นี่เป็นตัวอย่างการทำงานโดยปราศจาก อิทธิบาท ๔ เพราะลูกค้าแค่คนเดียว ยังผิดพลาดได้ถึงขนาดนี้ มิหนำซ้ำ รสชาติก็ไม่อร่อยเลย (ขนาดว่าผู้เขียนนับเป็นหนึ่งในพวกลิ้นจระเข้แล้วนะ) ทั้งที่เป็นร้านเก่าแก่ ขายก๋วยเตี๋ยวชนิดเดียวกันนี้มาร่วม ๑๐ ปี แสดงว่าไม่มี วิมังสา ไม่พัฒนาปรับปรุงเลย ภาษาอังกฤษว่า No learning curve
แม้ร้านอาหารใหญ่ๆ ก็เถอะ พนักงานก็ดูจะทำงานไปแบบซังกะตายไปวันๆ ถามไถ่เขามากไปหน่อย จะพาลฟาดเรากลับด้วยน้ำเสียงที่ไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย, คนขับรถเมล์ที่ระบายอารมณ์ด้วยการขับซิ่ง ปาดไปปาดมา, พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า ที่เอาแต่มองดูนาฬิการอคอยเวลาที่จะเลิกงาน แม้ขณะเวลาทำงาน ก็เอา แต่คุยโทรศัพท์มือถือกัน ฯลฯ หากจะกล่าวโดยสรุป ก็ต้องพูดว่า เมืองพุทธเรา ใช้หลักอิทธิบาท ๔ มาใช้กับวิถีชีวิตประจำวัน ในสัมมาอาชีพนั้นน้อยมาก
อุบายที่ ๕ : จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
เหลือบ ตาไปดู ตรงที่ผมจดโน้ตไว้ในปฏิทิน โอ้โห...บทความที่เขียนใน "ข่าวสด" นี้เกือบ ๕๐ ชิ้นแล้ว แม้ผู้เขียนจะตั้งหัวคอลัมน์ไว้ด้วยเป้าประสงค์อันถ่อมตัว ว่าที่ทำๆ อยู่นี้ เพียงเพื่อไม่อยากให้โลกนี้ สิ้นกลิ่นธรรมเท่านั้น แต่ยอมรับตรงๆ ว่า เขียนไป บางครั้ง บางอารมณ์ก็อ่อนกำลังใจได้เหมือนกัน เพราะกระแสกิเลสมันแรงกว่าหลายเท่า ในโลกแห่งวัตถุนิยมที่อุดมไปด้วยอวิชชาชน คนขี้เหม็นและเห็นแก่ตัว...อดรำพึงรำพันกับตัวเองไม่ได้ว่า...
เราจะสู้ไหวหรือ? แล้วเราจะเปลี่ยนให้คนมาสนใจธรรมได้บ้างหรือ?
เขียนไป จะมีคนอ่านกันสักกี่หยิบมือ? เลิกเขียนเสียดีกว่าไหม? ฯลฯ
โชคดี บังเอิญได้ย้อนนึกถึงคำครูบาอาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ว่า
"เรา ไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อยๆ ตามสติกำลัง มีผลเท่าไร ก็เอาเท่านั้น แต่เราหวังอยู่ว่า การกระทำด้วยความจงรักต่อพระศาสนาของเรานี้ อาจมีคนเอาไปคิดไปนึก แล้วอาจมีคนทำตามขึ้นมา จนกระทั่งผู้มีอำนาจท่านทำ หรือประชาชนทั้งโลกพากันทำ มันก็อาจมีการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่ได้พลิกเอง ผลก็เท่ากัน เราคงยังเจียมตัว และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้น"
กำลังใจที่อ่อนล้าโรยแรง ก็ได้ Recharge กลับมาใหม่ทันที!
คำสอนของท่านอาจารย์ สะกิดเตือนใจผม อย่าทำงานด้วย "จิตวุ่น" ต้องทำงานด้วย "จิตว่าง"
ใช่ แล้ว "จิตวุ่น" คือจิตที่สอดส่ายไปมาตามแรงกระเพื่อมของกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังก็ตาม ความมีตัวกูของกูก็ตาม มันทำให้ "กำลังใจ" ของคนอ่อนลงได้ครับ เพราะจิตที่ส่งออกนอกอยู่ตลอดเวลา หาโอกาสโฟกัสหรือรวมพลังไม่เจอ สุดท้ายก็ต้องเลิกล้มไป
"จิตว่าง" คือจิตที่เพ่งอยู่กับงาน กับกุศลกรรม ที่ทำอยู่ด้วยความปล่อยวาง มีแต่การกระทำ ที่หามีผู้กระทำไม่ (No Doer behind doing) เป็นดวงจิตที่บริสุทธิ์ เปี่ยมพลังและพร้อมทำงานเสมอ และใครเข้าถึง หรือทำเรื่อง "ทำงานด้วยจิตว่าง" นี้เป็น พวกเขาจะคล้ายสร้างงาน ผลิตงานได้ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดูอย่างพระผู้สุปฏิปันโนสิ ท่านฉันมื้อเดียวด้วยซ้ำ กิเลสก็น้อยกว่าเราโข แต่ไฉน พระพวกนั้น สามารถทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน ผลิตงานออกมามากมาย
ศึกษากันให้ดี จะพบว่า แรงขับ (Driving force) ทางปัญญานั้นมีพลังงานมากกว่าแรงขับทางกิเลสเยอะ นั่นคือเหตุปัจจัย ที่พระบางรูปอย่างท่านพุทธทาส จึงผลิตงานออกมามากมายเกินจะเชื่อได้ว่า ทำออกมาจากพระเพียงรูปเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมโฆษณ์ series, เทปบันทึกคำเทศนาของท่าน, ลิขิตที่ท่านเขียนใส่หลังกระดาษปฏิทินที่มากมาย กระทั่งท่านดับขันธ์ไปร่วม ๑๗ ปีแล้ว ลูกศิษย์ยังนำเศษกระดาษโน้ตธรรมเหล่านั้น มาเรียบเรียง จัดหมวดหมู่ ตีพิมพ์ไม่หมดเลย ว่ากันว่า ท่านใช้เครื่องพิมพ์ดีดโบราณ (ที่แป้นพิมพ์หนักๆ ต้องใช้แรงนิ้วมากหน่อย) เป็นเครื่องมือ ทำให้ข้อนิ้วเสื่อมเมื่อครั้นปัจฉิมวัยของท่าน
ทำงานทุกชิ้น ทุกชนิดด้วยจิตว่าง เสร็จแล้วปล่อยวาง ไม่ผูกพันเป็นตัวกูของกู เสร็จแล้วเขยิบไปทำชิ้นใหม่ เช่นนี้ๆ เรื่อยไป "กำลังใจ" ก็ไม่หายไปไหน มีแต่จะเพิ่มเติมขึ้นมาทุกเมื่อเชื่อวัน ขอให้ทุกท่านมีกำลังใจในการทำสิ่งดีๆ เข้าถึงธรรม นำมาใช้ในวิถีชีวิตได้จริงๆ กันทุกท่านเทอญ ขอปิดท้ายด้วยกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุ
จงทำงาน ทุกชนิด ด้วยจิตว่าง
ยกผลงาน ให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น
กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้น แล้วในตัว แต่หัวที
ท่านผู้ใด ว่างได้ ดังว่ามา
ไม่มีท่า ทุกข์ทน หม่นหมองศรี
"ศิลปะ" ในชีวิต ชนิดนี้
เป็น "เคล็ด" ที่ใครคิดได้ สบายเอยฯ
"กำลังใจ" ห้ามหมด (๑) khaosod
โลกนี้ไม่สิ้นกลิ่นธรรม
โดยศิษย์อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก/ พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา
เสีย "เงินทอง" ถือว่าเสียเพียงหนึ่ง
สีย "ชื่อเสียง" ถือว่าเสียมากกว่าหนึ่ง
แต่หากสูญเสีย "กำลังใจ"
ถือว่าเสียทุกอย่าง.
สุภาษิตจีนโบราณ
(ขออภัยที่ไม่อาจหาพบนามผู้ประพันธ์)
แหม...อ่าน แล้วชอบมากครับ มันเป็นอะไรที่คนเราต้องให้กำลังใจตัวเองตลอดเวลานะครับ เพราะ "กำลังใจ" ที่สร้างได้ด้วยตัวเองตลอดเวลานั้น วิเศษที่สุดครับ ดียิ่งกว่าแบตเตอรี่ที่ชาร์จใหม่ได้ (Rechargeable Battery) อีกนะครับ เพราะการสร้างใหม่ซึ่งกำลังใจในตัวเรา ไม่ต้องการปลั๊กไฟ ไม่ต้องใช้แหล่งพลังงานด้านนอกแต่อย่างใด
บางคนอาจตั้งคำถามในใจ แล้วจะต้องทำยังไงล่ะ? ทำไมคนไทยท้อใจ หมดแรงใจกันง่ายจัง? ภูมิพลังชีวิตของพวกเราชาวพุทธทำไมอ่อนแอจังเลย?
ผมมีคำตอบให้ทั้งหมด พร้อมอุบายในการสร้าง "กำลังใจ" ด้วยครับ...
อุบายที่ ๑ ; โลกนี้ไร้เรื่องยาก หากเป็นคนใจถึง
ภาษิต จีนโบราณชิ้นนี้ ผมชอบมาก เห็นครั้งเดียวจำได้ไม่ลืมเลย (แต่ขออภัยที่หาชื่อผู้ประพันธ์ไม่พบ) "ใจ" เป็นนาย "กาย" เป็นบ่าว, โบราณว่าไว้ไม่ผิด พระพุทธเจ้าก็ตรัส "ใจ" เป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จลงได้ด้วยใจ
หาก "ใจสู้" แม้ร่างกายพิการแต่ก็ยังทำงานได้อย่างสำเร็จภาคภูมิ ตรงกันข้าม หาก "ใจไม่สู้" นิดๆ หน่อยๆ ก็ท้อถอย ทำอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ดังกับเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อนี้ แม้ร่างกายจะสมบูรณ์ครบ ๓๒ เป็นปกติ ก็อยู่อย่างรกโลก หายใจทิ้งไปวันๆ บางคนอายุเกือบ ๕๐ ปีแล้ว ยังขอเงินแม่กินอยู่เลย ก็ยังมีให้เห็นในสังคมไทย
ส่วนคนบางคน แม้อายุจะยังไม่มาก แต่ก็รู้จักคิดเองได้ สร้างกำลังใจให้ตัวเองได้ ตั้งแต่อายุ ๑๖-๑๗ ปี เด็กคนนี้ ไม่มีผู้ใหญ่ในครอบครัวให้คำชี้แนะ เกี่ยวกับเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (Entrance) เลย เนื่องด้วยครอบครัวสมัยก่อนไม่ค่อยอบอุ่น พ่อแม่ก็มีการศึกษาไม่สูง ซ้ำต้องทำมาหากิน มีลูกเป็นฝูง จึงต้องเลี้ยงกันไปแบบ "ตายฝัง ยังเลี้ยง" เด็กคนนี้ จึงพลาดการสอบเข้าครั้งแรก คือสอบเอ็นท์ไม่ติด คนเป็นพ่อ นอกจากจะไม่ช่วย ไม่ปลอบใจแล้ว ยังซ้ำเติมว่า
"ทำไม อ่านหนังสือตั้งเยอะ แล้วยังสอบไม่ติด?"
เด็ก วัยรุ่นคนนี้ รู้สึกเหมือนโดยคำพูดของพ่อตัวเอง ซัดเข้าเต็มหัวใจที่กำลังอ่อนล้า แม้คนเป็นพ่ออาจไม่มีเจตนา แต่มันก็ทำให้แย่ แทบหาหลักยึดไม่มี แทนที่จะท้อแท้ ประชดเลิกเรียน เลิกสอบไป หรือหนีออกจากบ้านไปเลย (เด็กวัยรุ่นสมัยนั้น ส่วนใหญ่ต้องเคยคิดเรื่องหนีออกจากบ้านอย่างน้อยก็ครั้งนึงในชีวิต) เขากลับแปลงความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เป็นพลัง เขียนเป็นกลอนไว้ ให้กำลังใจตัวเอง...
โบยบิน สู่โลกกว้าง
หนทาง...ฉันกำหนด
แม้ไกลจนเลี้ยวลด
ไม่เคยหมด "กำลังใจ"
ตั้ง หน้าตั้งตาวางแผนสอบใหม่ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อผิดพลาดที่ผ่านมา ทำไมเราถึงสอบไม่ติด แล้วแจกแจงออกมาเป็นวิชาๆ เทียบสถิติเก่าๆ เปอร์เซ็นต์ของคะแนนต่ำสุดในแต่ละคณะ แต่ละมหา'ลัย แล้วปรับกลยุทธ์การเลือก ติวกวดวิชาเพิ่มเพื่อสอบใหม่ ในปีถัดไป ในที่สุด ผลก็ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ เมื่อกลับไปบอกพ่อให้ทราบ...ปรากฏว่า พ่อตอบกลับ ด้วยทรรศนะที่คับแคบของท่านว่า
"อ้าว...ติดแล้วเหรอ ทำไมไม่ไปเรียน จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ล่ะ แล้วไอ้วิศวะเนี่ย มันคืออะไรเหรอ?"
เด็ก ชายวัยรุ่นคนนั้นได้แต่ยิ้มๆ แล้วไม่ตอบอะไรออกไป เพราะมันเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบอย่างแท้จริง และเขาก็รู้เส้นทางชีวิตของตัวเองแล้ว ทั้งหมดก็คือ "ใจ" ของตนนั่นเอง
หลาย คนอาจจะตั้งข้อสงสัย เหตุใดไปรู้ใจเด็กวัยรุ่นคนนั้นได้ถึงขนาดนี้ ผู้เขียนนั่งเทียนเขียนโม้เกินจริงหรือเปล่า? ก็คงต้องบอกว่า เด็กชายคนนี้เมื่อวันก่อน ก็คือผู้เขียนในปัจจุบันนั่นเอง!
อุบายที่ ๒ ; อยู่กับปัจจุบัน
"อดีต" ก็ได้ผ่านไปแล้ว อาลัยอาวรณ์ไปก็ไร้ประโยชน์,
"อนาคต" ก็ยังไม่มาถึง มัวกังวลบ่นพร่ำพรึงเพื่อประโยชน์อันใด
ขณะปัจจุบันนี้ หากลุกขึ้นทำสิ่งดีงามพิสุทธิ์ใส
ก็มั่นใจได้ว่า "อนาคต" ย่อมดีแน่นอน แล้วเมื่อกาลผ่านพ้นไป "อดีต" ก็จะต้องดีตามฯ
สูเจ้า จะโทษใครไปไยเล่า เจ้าก็เลือกทางชีวิตคิดสะระตะแล้ว ปราชญ์บางท่านว่า จริงๆ แล้ว อดีต และอนาคต ไม่มี มีแต่เพียงชั่วขณะปัจจุบัน แล้วผ่านไปๆ เป็นจุดๆๆๆ แต่สืบต่อจนเราอนุมานไปเองว่า เป็นช่วงเวลา คนที่คิดแบบนี้ได้ต้องเป็นนักฟิสิกส์แน่นอน
การอยู่กับปัจจุบันขณะ อาจจะยังยากสำหรับบางท่าน ผมจะพูดให้ง่ายเข้าว่า ให้เราทำงานปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุดละกัน ชิ้นที่ผ่านมาแล้ว จะสำเร็จได้รับความชื่นชม ก็ไม่เหลิง ไม่ปลื้ม หรือจะได้รับคำตำหนิก็ไม่โกรธ ไม่แคร์ แต่รับไว้พิจารณาทั้ง ๒ กรณี หากแต่จิตในปัจจุบันขณะนี้เท่านั้น ที่โฟกัสอยู่กับแต่งานในปัจจุบัน การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในปัจจุบัน เท่านั้น สร้าง "กำลังใจ" ให้ตัวเอง ณ ขณะจิตที่กำลังทำงานนี้อยู่เท่านั้น นี้คืออยู่กับปัจจุบัน
อุบายที่ ๓ ; เพิ่มทัศนคติบวก ลดทัศนคติลบ (กำจัดเลยได้ยิ่งดี)
เมื่อ งานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา พระอาจารย์สง่า (วัดปัญญานันทาราม) เล่าให้ฟังว่า...แหม คนเราสมัยนี้ มันคิดในแง่ลบกัน เก่งนะ วันๆ คิดแต่ว่า ตัวเองกำลังทุกข์เรื่องอะไร ทุกข์เรื่องโน้น ทุกข์เรื่องนี้ เต็มไปหมด พูดง่ายๆ คือ ทุกข์เก่ง...
บางคน แหมตื่นเช้ามา ยังไม่ทันทำอะไร ไปนั่งอยู่หน้าระเบียง ทำหน้ากลัดกลุ้มใจ เพื่อนบ้านผ่านไปเห็นก็ถามทักไปว่า
"เป็นอะไรเหรอ มานั่งทำหน้าอย่างนี้แต่เช้า?"
เขาตะโกนตอบกลับมา
"มันทุกข์น่ะ"
"ทุกข์เรื่องอะไรล่ะ?"
"ยังไม่รู้เลย ยังนึกไม่ออก...กำลังนึกอยู่ว่าวันนี้จะทุกข์เรื่องอะไรดี???"
ซะงั้น
นี่คือตัวอย่างสุดโต่ง ของการมีทัศนคติลบ อีกกรณีหนึ่ง พวกฝรั่งชอบเอามาพูด เห็นน้ำครึ่งแก้ว คนที่มีทัศนคติลบ (คิดลบ) มักจะพูดว่า
"น้ำหมดไปตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว"
ส่วนคนที่คิดบวก จะพูดว่า
"น้ำยังเหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว"
จึง เป็นที่มาของเรื่องอมตะเกี่ยวกับเซลส์แมน ๒ คน ที่ถูกส่งไปเปิดตลาดขายยกทรงที่เกาะบาหลี ต่างเวลากัน บางคนอาจเคยได้ยินมาแล้ว ก็ถือว่าเล่าสู่กันฟังละกันนะครับ
บริษัท ผลิตยกทรงแห่งหนึ่ง ส่งเซลส์แมนคนแรก ไปสำรวจตลาดที่เกาะบาหลีเป็นเวลา ๑ วัน สมัยนั้นสาวๆ ทั้งสาวแก่แม่ม่าย ไม่มีใครใส่ยกทรงกันเลย เดินโทงเทง ไหวตามความเป็นธรรมชาติของชาวเกาะ เมื่อครบกำหนด เซลส์แมนจึงเดินทางกลับมารายงานเจ้านายว่า
"ลืมเกาะนี้เสียเถิดครับ ไม่มีใครใช้ยกทรงเลย ขืนทำตลาดที่นั่น มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง"
อีก ๑ เดือนถัดมา บริษัทเดียวกัน ได้ส่งเซลส์แมนคนใหม่ไฟแรง ไปที่เกาะเดียวกัน ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่เซลส์แมนคนนี้ กลับมารายงานว่า...
"เจ้า นายครับ ตลาดที่นั่นใหญ่มาก ยังไม่เคยมีใครใช้ยกทรงมาก่อนเลย เพียงแค่เราไปแนะนำ รณรงค์ให้เขาเห็นความจำเป็นในการใช้ยกทรง เราอาจสร้างโรงงานผลิตยกทรงที่นั่นได้เลยนะครับ!"
เข้าทำนอง...สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นโคลนตม คนหนึ่งเห็นดวงดาว
วันนี้พื้นที่หมด ครั้งหน้ามาต่ออุบายที่ ๓ กันต่อนะครับ ยังๆ ยังไม่จบ
วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ความอดทน khaosod
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
ผู้ มีความอดทนย่อมไม่เป็นอันตรายกับใครๆ มีแต่จะนำประโยชน์สุขมาให้กับผู้ที่คบหาสมาคมด้วยอย่างเดียว เพราะผู้มีความอดทนย่อมมีมงคลคือความเจริญในตนอยู่แล้ว จะประกอบกิจการทุกสิ่งล้วนทำด้วยปัญญาอันมีเหตุมีผลทั้งนั้น อีกทั้งเป็นผู้หนักแน่น ไม่หวั่นไหวได้ง่าย
ส่วนผู้ที่ไม่มีความอด ทนย่อมตรงกันข้าม คือ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเข้าก็อาจจะแสดงกิริยาอาการอันไม่งาม ไม่น่าชมออกมาได้ทุกเวลา ทุกโอกาสสถานที่ และเมื่อเป็นเช่นนี้การประกอบกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง หรือการคบหาสมาคมกับคนอื่น เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อกันนั้น ก็ย่อมจะถึงกาลเสื่อมเสียไป ความอดทนท่านจำแนกไว้เป็น 3 ประการ คือ
1.อด ทนต่อความยากลำบาก หมายความว่า อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาแล้วย่อมไม่พ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตายไปได้ จำต้องประสบพบพานกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะยากจน หรือร่ำรวย
2.อดทนต่อ ความตรากตรำ หมายความว่า อดทนต่อความทุกข์ยากจากการทำงาน เพราะทุกคนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งผู้ที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต จะต้องขยันประกอบอาชีพการงาน แต่ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ทำงาน ก็จะมีความเป็นอยู่ลำบาก หากมีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน ก็จะหาทรัพย์ได้
3.อดทนต่อความเจ็บใจ หมายความว่า อดทนต่อความโกรธที่มากระทบกระทั่ง เพราะทุกคนจะอยู่ลำพังคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่คณะ เป็นครอบครัว ตลอดถึงเป็นประเทศชาติ ผู้อยู่ร่วมกันเช่นนี้บางครั้งอาจมีความกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทบาดหมางกันบ้าง เพราะต่างก็มีความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความอดทนแล้ว ความทะเลาะวิวาทบาดหมางก็จะแตกแยกแผ่ขยายกว้างออกไป จนทำให้เสียหน้าที่การงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ประโยชน์สุขก็จะไม่เกิดขึ้น
ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาถึงโทษที่เกิดขึ้นแล้วควรใช้ความอดทนเข้า ระงับความเจ็บใจ อันก่อให้เกิดความโกรธ จนสามารถให้เกิดเป็นเวรภัยแก่ตนและคนอื่นได้ เมื่อทำได้เช่นนี้แล้วก็ย่อมจะได้รับประโยชน์สุข ได้ชื่อว่าอดทนต่อความเจ็บใจ อันเป็นยอดของความอดทนทุกอย่าง ดังนั้น ผู้ที่มีขันติธรรม คือความอดทน เป็นผู้ปราศจากเวร นอกจากจะเป็นที่รักใคร่นับถือสำหรับมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ยังเป็นที่รักใคร่นับถือของทวยเทพเทวดาทั้งหลาย ย่อมสามารถนำประโยชน์สุขมาให้แก่ตนเองและคนเหล่าอื่นได้อีกด้วย
พระเทพคุณาภรณ์
(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting
วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553
เป็นไปตามกรรม khaosod
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม
ประการที่ 1 โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม คำว่าโลกนี้ท่านหมายเอาทั้งที่อยู่อาศัยและผู้อยู่อาศัย เช่น มนุษยโลก โลกของมนุษย์ เทวโลก โลกของเทวดา พรหมโลก โลกของพรหม อากาศโลก โลกคือแผ่นดิน นี้เป็นสถานที่อยู่อาศัย ส่วนคำว่า สังขารโลก โลกคือสังขาร หมายเอาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น และคำว่าสัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์ หมายเอามนุษย์และสัตว์ทุกประเภท ท่านกล่าวว่าย่อมเป็นไปเพราะกรรม คือ สถานที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จะเสื่อมโทรมลง หรือจะดีขึ้น ก็อาศัยกรรมคือการกระทำนั่นเอง คือ บางครั้งเกิดจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม เป็นต้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมาก แต่บางครั้งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย เป็นต้น เหล่านี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ การจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเพียงใด ก็อยู่ที่การแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมของมนุษย์
ประการที่ 2 หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมายเอามนุษย์และสัตว์อื่นๆ ทุกประเภท จะเป็นไปคือจะได้รับความสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรม คือ การกระทำ พระพุทธเจ้า ตรัสว่า เจตนาเป็นกรรม คือ การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา มีความตั้งใจ ความจงใจ จึงเป็นกรรม กรรมนี้ สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท คือ หากพิจารณาถึงมูลเหตุที่เป็นตัวชักนำให้ลงมือกระทำก็มี 2 อย่าง คือ กรรมดี และ กรรมชั่ว กรรมดีเกิดจากความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญแล้วจึงกระทำ ส่วนกรรมชั่วนั้นเกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลง กรรมทั้ง 2 อย่างนี้ให้ผลต่างกันมาก คือ กรรมดีให้ผลเป็นความสุข ความเจริญ ส่วนกรรมชั่วให้ผลเป็นทุกข์ ความเดือดร้อน
ประการที่ 3 สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม ทั้งกรรมดี ทั้งกรรมชั่ว ล้วนเป็นเหตุให้สัตว์ติดอยู่ ข้องอยู่ในโลกทั้งนั้น เพราะผลของกรรมดี ย่อมเป็นที่พอใจ อยากทำกรรมในลักษณะนั้นอีก เหมือนผลไม้ชนิดใด อร่อยถูกใจ ก็ย่อมซื้อหามาบริโภคอีก และผลของกรรมชั่ว ย่อมไม่เป็นที่พอใจ ก็จะแสวงหาวิธีหลีกเหลี่ยง โดยทำกรรมอื่นที่คิดว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจ เมื่อมีใจติดข้องอยู่เช่นนี้ ยังไม่มีสติปัญญาพอที่จะหยุดกระแสของกรรมได้ ก็จะต้องเสวยสุขและทุกข์เรื่อยไป ลักษณะเช่นนี้จึงได้ชื่อว่า ถูกกรรมผูกไว้ ฉะนั้น หากบุคคลใด มีปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายอยู่ในกระแสของกรรม ถูกกรรมชักนำให้ประสบทุกข์นานาประการ จะต้องปฏิบัติตนตามมรรคมีองค์ 8 เจริญสติปัฏฐานอยู่เสมอ ก็จะเป็นเหตุให้พ้นจากกองทุกข์ ประสบสุขสงบได้
เพราะฉะนั้น โลกคือสถานที่อยู่อาศัย และสัตว์โลกผู้อยู่อาศัย จะประสบความเสื่อมหรือความเจริญ ก็เพราะกรรมคือการกระทำ ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติ และที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งสามารถบรรเทาและเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ โดยพิจารณาหาเหตุและผลให้ถ่องแท้ แล้วพยายามละเหตุนั้นๆ เสีย ต่อแต่นั้น ก็จะตัดกระแสกรรมได้ทีละอย่างทีละชนิด เหมือนกับการถอดสลักลิ่มของรถออกทีละชิ้นๆ รถนั้นก็จะแล่นไปไม่ได้อีกต่อไป สภาพของรถก็จะหมดไป นั่นย่อมหมายความว่า ได้พ้นจากกองทุกข์ ประสบสันติสุขในที่สุด
พระเทพคุณาภรณ์
(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
www.watdevaraj.com 0-2281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 0-2281-2430 end_of_the_skype_highlighting
วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ khaosod
คอลัมน์ ศาลาวัด
ใน พิธีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ถ้าเจ้าบ้านมีความประสงค์ที่จะประกอบพิธีตามทางศาสนาและมีการเชิญแขกให้มา ร่วมด้วย มีหลักที่จะต้องปฏิบัติ ดังนี้
กำหนดวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ให้เป็นที่แน่นอนและถ้าต้องการให้เป็นมงคลตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณ แล้ว พึงไปหารือกับผู้ที่มีความรู้ทางโหราศาสตร์ให้กำหนดวันและเวลาให้
เมื่อใกล้กับวันที่กำหนดไว้ ต้องเตรียมตกแต่งบ้านเรือนที่จะทำบุญขึ้นบ้านใหม่นั้นให้เรียบร้อยตามสมควร
เมื่อ กำหนดวันงานแน่นอนแล้ว ไปอาราธนาพระตามจำนวนที่ต้องการ ก่อนถึงวันงานอย่างน้อย 3-7 วัน การอาราธนานั้น ถ้าสามารถเขียนหรือพิมพ์เป็นฎีกานิมนต์ได้เป็นการดีที่สุด โดยบอกกำหนด วัน-เดือน-ปี และงานให้ละเอียด
จำนวนพระที่นิมนต์ ตามปกติจำนวนคือ 5 รูป 7 รูป 9 รูป แต่ส่วนมากนิยมนิมนต์ 9 รูป ถือกันว่าเลข 9 เป็นเลขมงคล
การ ตั้งโต๊ะหมู่บูชา นิยมจัดไว้ทางด้านขวามือของพระสงฆ์ โดยให้พระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปด้านเดียวกับพระสงฆ์ ถ้าสถานที่ไม่พอก็ให้จัดตามความเหมาะสมกับสถานที่
พระพุทธรูปที่จะ นำมาตั้งโต๊ะหมู่บูชานั้น ไม่ให้มีครอบและเล็กจนเกินไปหรือใหญ่เกินไป มีแจกันดอกไม้ พานดอกไม้ จัด 3 หรือ 5 พาน แจกันจะใช้ 1-2 คู่ แล้วแต่ขนาดของโต๊ะ กระถางธูปให้ปักธูปไว้ 3 ดอก เชิงเทียน 1 คู่ พร้อมเทียน
ขันน้ำมนต์ จะใช้ขันหรือบาตรน้ำมนต์มีเชิงก็ได้ ใส่น้ำสะอาดพอควร มีเทียนขี้ผึ้งอย่างดี 1-2 เล่ม สำหรับพระทำน้ำพระพุทธมนต์
ด้าย สายสิญจน์ ใช้ด้ายดิบจับ 9 เส้น 1 ม้วน โยงรอบบ้านหรือบริเวณพิธี เวียนจากซ้ายไปขวา โยงเข้าหาพระประธานที่โต๊ะหมู่บูชา ไม่ควรเอาไปพันไว้ที่รอบองค์พระประธาน แต่ให้เวียนรอบฐานองค์พระประธานโยงมาที่ขันหรือบาตรน้ำมนต์
การปู อาสนะสำหรับพระสงฆ์ ควรใช้เสื่อหรือพรมปูเสียชั้นหนึ่ง ข้อสำคัญควรระวัง อย่าให้อาสนะพระสงฆ์กับอาสนะของคฤหัสถ์ฝ่ายเจ้าภาพเป็นอันเดียวกัน ควรปูลาดให้แยกจากกัน
เครื่องรับรองพระ มีกระโถน ภาชนะน้ำเย็น พานใส่หมากพลู วางไว้ทางด้านขวามือของพระสงฆ์เป็นรายรูป โดยถวายเมื่อพระสงฆ์เข้านั่งที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับแขกที่จะไปงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ควรแต่งกายให้เรียบร้อยและควรหาของขวัญไปกำนัลแด่เจ้าภาพตามสมควร
ทั้งนี้ ผู้เป็นแขกไม่พึงวิจารณ์บ้านใหม่ของเจ้าภาพให้เป็นไปในทางไม่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สบายใจ
ก่อนลากลับ ควรอวยพรและแสดงความปรารถนาให้เจ้าภาพอยู่บ้านใหม่ด้วยความสุข
พ่อแห่งชาติ khaosod
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
วัน ที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทย เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ "วันพ่อแห่งชาติ" และในฐานะที่พระองค์ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด
ธรรมะในวันนี้ จะได้กล่าวถึง พละ ซึ่งหมายถึง พลังของผู้ยิ่งใหญ่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้ในขุททกนิกาย ชาดกซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่
1. กายพละ หมายถึง กำลังทางกาย คือ ทรงมีพระสุขภาพพลานามัยที่ดี ทรงพระปรีชาสามารถและชำนาญ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ให้สำเร็จประโยชน์ด้วยดี
2. โภคพละ หมายถึง กำลังโภคสมบัติ คือ ทรงมีทุนทรัพย์บริบูรณ์ ทรงขวนขวายบำรุงกสิกรรม พาณิชยกรรม เป็นต้น อันเป็นทางเกิดแห่งโภคสมบัติต่างๆ เพียงพอแก่การดำรงชีวิตด้วยความสบายของข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป และดำเนินพระราชกรณียกิจได้อย่างไม่ติดขัด
3. อมัจจพละ หมายถึง กำลังข้าราชการ คือ ทรงมีที่ปรึกษาและข้าราชการระดับบริหารที่ทรงคุณวุฒิ มีความสามารถ และจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง
4. อภิชัจจพละ หมายถึง กำลังความมีชาติสูง คือ ทรงกำเนิดในตระกูลสูง เป็นขัตติยชาติ ทรงเป็นที่นิยมเชิดชูของมหาชน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบารมีมาแต่ปางก่อน และได้รับการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดีตามประเพณีแห่งชาติตระกูลนั้น
5. ปัญญาพละ หมายถึง กำลังปัญญา คือ ทรงมีพระปรีชาสามารถ หยั่งรู้เหตุผล ผิดชอบ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ สามารถวินิจฉัยเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอกอันเป็นไปในปัจจุบันสมัย ทรงดำริการต่างๆ ให้ได้ผลเป็นอย่างดี
พละ หรือ กำลังทั้ง 5 ประการดังกล่าวมา ปัญญาพละ กำลังปัญญา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจัดว่า เป็นกำลังสำคัญอันประเสริฐ เป็นยอดแห่งกำลังทั้งปวง เพราะเป็นเครื่องนำทางกำลังอื่นๆ ทุกอย่าง กายพละ กำลังทางกาย แม้จะเป็นกำลังอันสำคัญก็จริง แต่ทรงจัดเป็นความสำคัญประการสุดท้าย เพราะถ้าไม่มีกำลังอย่างอื่นมาช่วยควบคุม ก็อาจกลายเป็นกำลังที่ไม่ดีไปได้
ใน วโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2553 นี้ ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและปวงชนชาวไทย แสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการร่วมใจด้วยการประพฤติปฏิบัติตามแนวศีล 5 คือ
1. ไม่มุ่งร้ายทำลายผู้อื่น
2. ไม่ทุจริตฉ้อโกง
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม
4. ไม่หลอกลวงกล่าวเท็จ
5. ไม่เกี่ยวข้องสิ่งเสพติดให้โทษ
ทั้ง นี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอถวายพระพรชัยมงคลให้พระองค์ทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญตลอดจิรัฐิติกาล
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com 02-281-2430 begin_of_the_skype_highlighting 02-281-2430 end_of_the_skype_highlighting