วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผู้นับถือศาสนาพุทธ จากข่าวสด

ผู้ นับถือศาสนาพุทธ
คอลัมน์ ศาลาวัด
พุทธบริษัท นับเป็นศาสนบุคคล เป็นองค์กรบุคลากรทางพระพุทธศาสนาที่ช่วยกันดำรงรักษาสืบทอดหลักธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าให้คงอยู่ตลอดไป โดยมีหน้าที่ศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ และปกป้องพระสัทธรรม แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ
1.พุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิต ได้แก่ กลุ่มภิกษุและภิกษุณี
2.พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ ได้แก่ กลุ่มอุบาสกและอุบาสิกา
ต่อมา ภายหลังพุทธปรินิพพาน คำว่า พุทธบริษัท นี้ มีคำที่บัญญัติใช้เรียกแทน โดยมีความหมายใกล้เคียงกันหรือใช้แทนกันได้อีก 1 คำ คำบัญญัติดังกล่าวนี้ได้แก่คำว่า "พุทธศาสนิกชน"
คำว่า พุทธศาสนิกชน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2552 ให้ความหมายว่า ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา
ในหนังสือ คำวัด หน้า 692 พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต) ให้ความหมายว่า
"พุทธ ศาสนิกชน แปลว่า คนที่นับถือพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชน หมายถึงคนที่ตกลงใจน้อมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำตัวประจำชีวิต ยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เต็มใจที่จะปฏิบัติตามหลักธรรม คือ เว้นจากการทำความชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้หมดจดจากกิเลส ด้วยการบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา"
"พุทธ ศาสนิกชนที่พึงประสงค์ คือ ผู้ปฏิบัติตนให้เป็นผู้รู้ผู้ฉลาด ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่งมงาย ไม่ประมาท ไม่หลงไปตามกระแสกิเลส"
พุทธ ศาสนิกชน จึงหมายถึงบุคคลผู้มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ด้วยการน้อมนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในวิถี ชีวิตประจำวัน
เป็นคำบัญญัติขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพาน มีความหมายกว้างครอบคลุมถึงศาสนบุคคลในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
นอกจากนี้ ยังมีคำแสดงถึงความเป็นพุทธบริษัทหรือความเป็นพุทธศาสนิกชนอีก 1 คำ คือ คำว่า "พุทธมามกชน" แปลว่า ชนผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของตน แต่ท่านพระโบราณา จารย์กำหนดให้มีความหมายจำกัดความเฉพาะพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสเท่านั้น คือไม่นิยมใช้กับพุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิต
ในหนังสือศาสนพิธี เล่ม 1 หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี หมวดกุศลพิธี ตอนว่า ด้วยพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ จำกัดความให้แคบลงไปอีก โดยกำหนดว่า
"ใน กรณีที่คฤหัสถ์ผู้นั้นรับฟังธรรมแล้วมีความเลื่อมใส แต่ไม่ต้องการบวช เพียงเปล่งวาจา ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ถ้ามีอายุเกิน 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้ชายเรียกว่า อุบาสก เป็นผู้หญิงเรียกว่า อุบาสิกา"
"ถ้า มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาจนถึง 12 ปี หรือมีอายุระหว่าง 12-15 ปี เป็นผู้ชายเรียกว่า พุทธมามกะ เป็นผู้หญิงเรียกว่า พุทธมามิกา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น