วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

GoodMan

คุณสมบัติของคนดี (1)

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร www.watdevaraj.com


ธรรมดาของทุกๆ คนในโลกนี้ ย่อมแตกต่างกันโดยฐานะ หน้าที่ เพศ วัย และชนชั้น แต่ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 2 พวกด้วยกัน คือ คนดี และ คนไม่ดี



คนดีมีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อย มีสติปัญญาความคิดเฉลียวฉลาด มีอัธยาศัยจิตใจดีงาม ส่วนคนไม่ดี ไม่มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน โง่เขลาเบาปัญญา มีอัธยาศัยเลวทราม



คน 2 ประเภทนี้ย่อมมีปะปนอยู่ในกลุ่มชนทั่วไป พระพุทธองค์ไม่ทรงถือชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ และทรัพย์สมบัติ เป็นหลักเกณฑ์ในการวัดคน แต่ทรงวัดด้วยคุณธรรม ผู้ที่มีความประพฤติไม่ดีด้วยกาย วาจา ใจ ทำตนให้เป็นคนก่อโทษเวรภัยต่อตนเองและผู้อื่น เรียกว่า คนไม่ดี ส่วนผู้ที่มีความประพฤติดีด้วยกาย วาจา ใจ บำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่น เรียกว่าเป็นคนดี



การถือความประพฤติของบุคคล เป็นเครื่องจัดสรรบุคคลว่า ดี หรือไม่ดี นั้น นับว่าเป็นการยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครสามารถท้วงติงหรือคัดค้านได้ โลกนิยมยกย่องผู้ที่ประพฤติดีงาม ติเตียนผู้ประพฤติชั่วช้าเลวทราม



ดังนั้น บุคคลจะเกิดในตระกูลสูงหรือต่ำก็ตาม มียศศักดิ์หรือไม่มีก็ตาม มีทรัพย์สมบัติหรือไม่มีก็ตาม มิใช่เครื่องวัดความดี ดังบทประพันธ์ที่ว่า อันคนดีมิใช่ดีด้วยที่ทรัพย์ มิใช่นับพงศ์พันธ์ชันษา คนดีนั้นดีด้วยการงานนานา อีกวิชาศีลธรรมนำให้ดี



สำหรับคุณสมบัติของคนดี พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้มีมากมาย สุดแต่ใครจะมีอัธยาศัยน้อมไปในธรรมะข้อใด ก็เลือกปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมตามอัธยาศัยในธรรมะข้อนั้น ในที่นี้ได้ยกคุณสมบัติของคนดี 7 ประการ คือ 1.ความเป็นผู้รู้จักเหตุ 2.ความเป็นผู้รู้จักผล 3.ความเป็นผู้รู้จักตน 4.ความเป็นผู้รู้จักประมาณ 5.ความเป็นผู้รู้จักกาล 6.ความเป็นผู้รู้จักบริษัท และ 7.ความเป็นผู้รู้จักบุคคล



1.ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ เป็นผู้มีหลักการที่ดี รู้เหตุแห่งความสุขและความทุกข์ รู้เหตุแห่งความเจริญและความเสื่อม พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเรื่องเหตุผล ไม่ได้สอนให้เชื่ออย่างงมงาย สอนให้ตรึกตรองให้ดีก่อนแล้วจึงเชื่อ ให้เชื่อภายหลังที่เข้าใจเหตุผลดีแล้ว เหตุดีผลก็ดี เหตุชั่วผลก็ชั่ว พระพุทธองค์ตรัสรับรองความต่างของเหตุผลไว้ 2 ประการ คือ อธรรม หมายถึงเหตุชั่วนำไปสู่ความเดือดร้อน และธรรมะ หมายถึง เหตุดีนำไปสู่ความเจริญ



ดังนั้น ความเป็นผู้รู้จักเหตุ จึงเป็นคุณสมบัติของคนดี ทำให้เป็นคนรอบคอบ คิดก่อนแล้วจึงทำ หรือพูด ดังนั้น ควรคำนึงถึงพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในแนวทางสร้างเหตุที่ดี อันจะก่อให้เกิดผลที่ดีตามมา ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้รู้จักเหตุ จัดเป็นคนดี น่ายกย่องนับถือ และน่าคบหาสมาคมด้วย



2.ความเป็นผู้รู้จักผล คือ รู้จักผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ รู้ถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติอย่างชัดเจนว่า ปฏิบัติเช่นนี้จะได้รับผล อย่างนี้ เว้นจากธรรมะข้อนี้ จะได้รับผล อย่างนี้ รู้ว่าผลที่ตนหรือคนอื่นได้รับอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากเหตุที่เรากระทำด้วยกาย วาจา ใจ พระพุทธองค์ทรงแสดง ความเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน ว่าเป็นอุดมมงคล ก็เพื่อให้ทราบผลที่ประสบอยู่นั้น ว่าสำเร็จมาแต่บุญที่ได้ทำไว้ ส่งผลให้มาเกิดเป็นมนุษย์ มีรูปร่างกายสมบูรณ์ มีความสะดวกสบายเรื่องที่อยู่อาศัย มีทรัพย์สมบัติมากมายไม่ฝืดเคือง เป็นต้น ล้วนเป็นผลดีซึ่งได้ทำเหตุไว้ในอดีตทั้งสิ้น



ความเป็นผู้รู้จักผลด้วยอาการอย่างนี้ เป็นทางให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการสร้างเหตุที่ดี มีประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ให้ไพบูลย์ในปัจจุบัน เพื่อเป้าหมายที่ชัดเจน ในการได้รับผลดีอันจะมีต่อไป



(อ่านต่อฉบับหน้า)
คุณสมบัติของคนดี 2 (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร /www.watdevaraj.com


3.ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักประมาณตน โดยฐานะ ภาวะ หน้าที่การงาน แล้วประพฤติให้เหมาะสมกับที่ตนเป็นอยู่ เช่น ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีเมตตากรุณา และเห็นอกเห็นใจผู้น้อย ในฐานะเป็นผู้น้อย ก็อย่าอวดเก่งเกินกำลังความสามารถ ต้องมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน



ในฐานะเป็นผู้นำ ต้องไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรมประจำใจ ประกอบด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ในฐานะเป็นผู้ตาม ต้องเคารพเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีความจงรักภักดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชน ต้องประกอบด้วยศรัทธามั่นคง ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม เชื่อมั่นในการกระทำความดี



ผู้รู้จักตนและปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับภาวะหน้าที่โดยไม่บกพร่อง นับได้ว่าเป็น การเชิดชูความดีงาม



4.ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักประมาณในการแสวงหา การบริโภค และการรักษา ความจริง ปัจจัย 4 ที่หล่อเลี้ยงชีวิต จะเกิดมีขึ้นเองไม่ได้ ต้องอาศัยการประกอบการงาน และการแสวงหา ในการแสวงหานั้น ก็ต้องให้เป็นไปโดยประมาณด้วย จึงจะช่วยให้สำเร็จประโยชน์และปราศจากโทษ เช่น ไม่แสวงหาในทางที่ผิดศีลธรรม หรือผิดกฎหมายบ้านเมือง



การรู้จักประมาณในการบริโภค คือ รู้จักจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สมบัติ ตามฐานะที่ตนมี ต้องกำหนดรู้รายรับ รายจ่ายของตน ไม่ใช้จ่ายเกินพอดี จะเป็นทางช่วยลดการใช้จ่ายเป็นอย่างดี



การเก็บออมรักษาทรัพย์ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า การรักษาทรัพย์นับว่ามีความสำคัญมาก หากไม่รู้จักรักษา ทรัพย์ที่หาได้มาก็ไม่คงอยู่ และเพิ่มพูนขึ้นได้ ดังนั้น การรู้จักประมาณในการแสวงหา การบริโภค และการรักษา จึงมีคุณประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างมหาศาล



5.ความเป็นผู้รู้จักกาล คือ รู้เวลาที่เหมาะสม รู้คุณค่าของกาลเวลา ในทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด เวลาใดควรทำงาน เวลาใดควรหยุดงาน รู้ว่างานแต่ละอย่างที่ทำ ควรใช้เวลาเท่าไร รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ รีบเร่งทำให้เสร็จทันเวลา ก็จะไม่พลาดจากประโยชน์ ที่ควรมีควรได้ ประโยชน์ซึ่งจะได้อยู่แล้ว ก็ไม่สูญเสียไป ในเรื่องคำพูดก็เช่นเดียวกัน ควรรู้เวลาที่เหมาะสม เวลาใดควรพูด เวลาใดไม่ควรพูด



ความเป็นผู้รู้จักกาลดังกล่าวมานี้ ก็จะทำให้เป็นคนตรงต่อเวลา รู้คุณค่าของเวลา มีแต่ความเจริญก้าวหน้าโดยส่วนเดียว



6.ความเป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน ผู้อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ รู้จักวางตัวและประพฤติต่อกันอย่างเหมาะสม แก่ชุมชนและหมู่คณะที่ควรเกี่ยวข้อง สงเคราะห์ รับใช้ บำเพ็ญประโยชน์ให้ และควรรักษากิริยา วาจา ระเบียบวินัย ประเพณีอันดีงาม ตามควรแก่สถานะของตน เช่น การเข้าไปในสถานที่ประชุม ควรวางตัวให้เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดความงดงาม องอาจ ไม่เก้อเขินในสังคม และเป็นเหตุให้วางตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม



7.ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้จักเลือกว่าบุคคลใดควรคบ ไม่ควรคบ รู้จักแต่ละคนว่ามีอุปนิสัยใจคออย่างไร มีความประพฤติส่วนตัวอย่างไร หน้าที่การงานเป็นอย่างไร เป็นเหตุให้รู้จักโดยละเอียดถี่ถ้วน รู้ลักษณะของคนที่คบว่า เป็นเพื่อนที่ดี



การรู้จักเลือกคบบุคคลดี หลีกหนีคนชั่ว จัดว่ามีคุณค่ามหาศาล เป็นปัจจัยสำคัญที่เกิดความเปลี่ยนแปลงจิตใจบุคคลให้คล้อยตามได้ นับเนื่องในคุณสมบัติของคนดีประการสุดท้าย



ผู้ที่ประกอบด้วยหลักธรรม 7 ประการ คือ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล จัดเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของคนดีที่สมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น