วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิธีคิดตามหลัก พุทธธรรม (4) khaosod

วิธีคิดตามหลัก พุทธธรรม (4)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ฐานะของความคิด



ในกระบวนการของการศึกษา หรือการพัฒนาปัญญา



ก่อนจะพูดกันต่อไปในเรื่องวิธีคิด ขอทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับฐานะของความคิดในกระบวนการของการศึกษา โดยเฉพาะ ในการพัฒนาปัญญา ที่เป็นแกนกลางของการศึกษานั้นก่อน



ก) จุดเริ่มของการศึกษา และความไร้การศึกษา



ตัวแท้ของการศึกษา คือการพัฒนาตนโดยมีการพัฒนาปัญญาเป็นแกนกลางนั้น เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปภายในตัวบุคคล แกนนำของกระบวนการแห่งการศึกษา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น แนวความคิด ทัศนคติ ค่านิยมที่ถูกต้องดีงาม เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม สอดคล้องกับความเป็นจริง เรียกสั้นๆ ว่า สัมมาทิฏฐิ



เมื่อรู้เข้าใจ คิดเห็นดีงาม ถูกต้องตรงตามความจริงแล้ว การคิด การพูด การกระทำ และการแสดงออกหรือปฏิบัติการต่างๆ ก็ถูกต้องดีงาม เกื้อกูล นำไปสู่การดับทุกข์ แก้ไขปัญหาได้



ในทางตรงกันข้าม ถ้ารู้เข้าใจคิดเห็นผิด มีค่านิยม ทัศนคติ แนวความคิดที่ผิด ที่เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ แล้ว การคิด การพูด การกระทำ การแสดงออก และปฏิบัติการต่างๆ ก็พลอยดำเนินไปในทางที่ผิดพลาดด้วย แทนที่จะแก้ปัญหาดับทุกข์ได้ ก็กลายเป็นก่อทุกข์ สั่งสมปัญหา ให้เพิ่มพูนร้ายแรงยิ่งขึ้น



สัมมาทิฏฐิ นั้น แยกได้เป็น 2 ระดับ คือ



1.ทัศนะ ความคิดเห็น แนวความคิด ทฤษฎี ความเชื่อถือ ความนิยม ค่านิยม จำพวกที่เชื่อหรือยอมรับรู้การกระทำ และผลการ กระทำของตน หรือสร้างความสำนึกในความรับผิดชอบต่อการ กระทำของตน พูดอย่างชาวบ้านว่า เห็นชอบตามคลองธรรม เรียกสั้นๆ ว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ เป็น สัมมาทิฏฐิระดับโลกีย์ เป็นขั้นจริยธรรม



2.ทัศนะ แนวความคิด ที่มองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมัน หรือตามที่มันเป็น ไม่เอนเอียงไปตามความชอบความชังของตน หรือตามที่อยากให้มันเป็นอยากไม่ให้มันเป็น ความรู้ความเข้าใจสอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งธรรมดา เรียกสั้นๆ ว่า สัจจานุโลมิกญาณ เป็น สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ เป็นขั้นสัจธรรม



มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด หลงผิด ก็มี 2 ระดับ เช่นเดียวกัน คือ ทัศนะ แนวความคิด ค่านิยม ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่ยอมรับการกระทำของตน กับความไม่รู้ไม่เข้าใจโลกและชีวิตตามสภาวะ หลงมองสร้างภาพไปตามความอยากให้เป็น และอยากไม่ให้เป็นของตนเอง



อย่างไรก็ดี กระบวนการของการศึกษาภายในตัวบุคคล จะเริ่มต้นและดำเนินไปได้ ต้องอาศัยการติดต่อเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม และอิทธิพลจากภายนอกเป็นแรงผลักดัน หรือเป็นปัจจัยก่อตัว ถ้าได้รับการถ่ายทอดแนะนำชักจูง เรียนรู้จากแหล่งความรู้ความคิดที่ถูกต้อง หรือรู้จักเลือก รู้จักมอง รู้จักเกี่ยวข้อง พิจารณาโลกและชีวิตในทางที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิด สัมมาทิฏฐิ นำไปสู่การศึกษาที่ถูกต้อง หรือมีการศึกษา



แต่ตรงข้าม ถ้าได้รับถ่ายทอดแนะนำชักจูง ได้รับอิทธิพลภายนอกที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักพิจารณา ไม่รู้เท่าทันประสบการณ์ต่างๆ ก็จะทำให้เกิด มิจฉาทิฏฐิ นำไปสู่การศึกษาที่ผิด หรือความไร้การศึกษา



โดยสรุป แหล่งที่มาเบื้องต้นของการศึกษา เรียกว่า ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ มี 2 อย่าง คือ



1.ปัจจัยภายนอก เรียกว่า ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น หรือเสียงบอกจากผู้อื่น ได้แก่ การรับถ่ายทอด หรืออิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนที่คบหา หนังสือ สื่อมวลชน และวัฒนธรรม ซึ่งให้ข่าวสารที่ถูกต้อง สั่งสอนอบรม แนะนำชักจูงไปในทางที่ดีงาม



2.ปัจจัยภายใน เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย หมายถึง การคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด หรือคิดเป็น



ในทำนองเดียวกัน แหล่งที่มาของการศึกษาที่ผิด หรือความไร้การศึกษา ที่เรียกว่า ปัจจัยแห่งมิจฉาทิฏฐิ ก็มี 2 อย่างเหมือนกัน คือ ปรโตโฆสะ เสียงบอกจากภายนอกที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง และ อโยนิโสมนสิการ การทำในใจไม่แยบคาย การไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น หรือการขาดโยนิโสมนสิการนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น