วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (5) khaosod

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (5)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ข) กระบวนการของการศึกษา



ได้กล่าวแล้วว่า แกนนำแห่งกระบวนการของการศึกษา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิเป็นแกนนำ และเป็นฐานแล้ว กระบวนการแห่งการศึกษาภายในตัวบุคคลก็ดำเนินไปได้



กระบวนการนี้แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ เรียกว่า ไตรสิกขา (สิกขา หรือหลักการศึกษา 3 ประการ) คือ



1.การฝึกฝนพัฒนาในด้านความประพฤติ ระเบียบวินัย ความสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ เรียกว่า อธิสีลสิกขา (เรียกง่ายๆ ว่า ศีล)



2.การฝึกฝนพัฒนาทางจิตใจ การปลูกฝังคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิต เรียกว่า อธิจิตตสิกขา (เรียกง่ายๆ ว่า สมาธิ)



3.การฝึกฝนพัฒนาทางปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ทำให้แก้ไขปัญหาไปตามแนวทางเหตุผล รู้เท่าทันโลกและชีวิต จนสามารถทำจิตใจให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งต่างๆ ดับกิเลส ดับทุกข์ได้ เป็นอยู่ด้วยจิตใจอิสระผ่องใสเบิกบาน เรียกว่า อธิปัญญาสิกขา (เรียกง่ายๆ ว่า ปัญญา)



หลักการศึกษา 3 ประการนี้ จัดวางขึ้นไว้โดยอาศัยหลักปฏิบัติที่เรียกว่า วิธีแก้ปัญหาของอารยชนเป็นพื้นฐาน วิธีแก้ปัญหาแบบอารยชนนี้ เรียกตามคำบาลีว่า อริยมรรค แปลว่า ทางดำเนินสู่ความดับทุกข์ ที่ทำให้เป็นอริยชน หรือวิธีดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ



อริยมรรค นี้ มีองค์ประกอบที่เป็นเนื้อหา หรือรายละเอียดของการปฏิบัติ 8 ประการ คือ



1.ทัศนะ ความคิดเห็น แนวคิด ความเชื่อถือ ทัศนคติ ค่านิยมต่างๆ ที่ดีงามถูกต้อง มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือตรงตามสภาวะ เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)



2.ความคิด ความดำริตริตรอง หรือคิดการต่างๆ ที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เศร้าหมองขุ่นมัว เป็นไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์สุข เช่น คิดในทางเสียสละ หวังดี มีไมตรี ช่วยเหลือเกื้อกูล และความคิดที่บริสุทธิ์ อิงสัจจะ อิงธรรม ไม่เอนเอียงด้วยความเห็นแก่ตัว ความคิดจะได้จะเอา หรือความเคียดแค้นชิงชัง มุ่งร้ายคิดทำลาย เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)



3.การพูด หรือการแสดงออกทางวาจาที่สุจริต ไม่ทำร้ายผู้อื่น ตรงความจริง ไม่โกหกหลอกลวง ไม่ส่อเสียด ไม่ให้ร้ายป้ายสี ไม่หยาบคาย ไม่เหลวไหล ไม่เพ้อเจ้อเลื่อนลอย แต่สุภาพ นิ่มนวล ชวนให้เกิดไมตรีสามัคคีกัน ถ้อยคำที่มีเหตุผล เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ก่อประโยชน์ เรียกว่า สัมมาวาจา (วาจาชอบ)



4.การกระทำที่ดีงามสุจริต เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีงาม ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดี ทำให้สังคมสงบสุข คือ การกระทำหรือทำการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่เป็นไปเพื่อการทำลายชีวิตร่างกาย การทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น การล่วงละเมิดสิทธิในคู่ครอง หรือของรักของหวงแหนของผู้อื่น เรียกว่า สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)



5.การประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ ผู้อื่น เรียกว่า สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ)



6.การเพียรพยายามในทางที่ดีงามชอบธรรม คือ เพียรหลีกเว้นป้องกันสิ่งชั่วร้ายอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น เพียรละเลิก กำจัดสิ่งชั่วร้ายอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรสร้างสรรค์สิ่งดีงาม หรือกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรส่งเสริมพัฒนาสิ่งดีงาม หรือกุศลธรรมที่เกิดมีแล้ว ให้เพิ่มพูนเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปจนเพียบพร้อมไพบูลย์ เรียกว่า สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)



7.การมีสติกำกับตัว คุมใจไว้ให้อยู่กับสิ่งที่เกี่ยวข้องต้องทำในเวลานั้นๆ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน ระลึกได้ถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ หรือธรรมที่ต้องใช้ในเรื่องนั้นๆ เวลานั้นๆ ไม่หลงใหลเลื่อนลอย ไม่ละเลยหรือปล่อยตัวเผอเรอ โดยเฉพาะสติที่กำกับทันต่อพฤติกรรมของร่างกาย ความรู้สึก สภาพจิตใจ และความนึกคิดของตน ไม่ปล่อยให้อารมณ์ที่เย้ายวนหรือยั่วยุ มาฉุดกระชากให้หลุดหลงเลื่อนลอยไปเสีย เรียกว่า สัมมาสติ (ระลึกชอบ)



8.ความมีจิตตั้งมั่น จิตใจดำเนินอยู่ในกิจในงาน หรือในสิ่งที่กำหนด (อารมณ์) ได้สม่ำเสมอ แน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกหวั่นไหว บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว นุ่มนวล ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่กระด้าง เข้มแข็ง เอางาน ไม่หดหู่ท้อแท้ พร้อมที่จะใช้งานทางปัญญาอย่างได้ผลดี เรียกว่า สัมมาสมาธิ (จิตมั่นชอบ)

วิธีคิดตามหลัก พุทธธรรม (4) khaosod

วิธีคิดตามหลัก พุทธธรรม (4)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ฐานะของความคิด



ในกระบวนการของการศึกษา หรือการพัฒนาปัญญา



ก่อนจะพูดกันต่อไปในเรื่องวิธีคิด ขอทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับฐานะของความคิดในกระบวนการของการศึกษา โดยเฉพาะ ในการพัฒนาปัญญา ที่เป็นแกนกลางของการศึกษานั้นก่อน



ก) จุดเริ่มของการศึกษา และความไร้การศึกษา



ตัวแท้ของการศึกษา คือการพัฒนาตนโดยมีการพัฒนาปัญญาเป็นแกนกลางนั้น เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปภายในตัวบุคคล แกนนำของกระบวนการแห่งการศึกษา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น แนวความคิด ทัศนคติ ค่านิยมที่ถูกต้องดีงาม เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม สอดคล้องกับความเป็นจริง เรียกสั้นๆ ว่า สัมมาทิฏฐิ



เมื่อรู้เข้าใจ คิดเห็นดีงาม ถูกต้องตรงตามความจริงแล้ว การคิด การพูด การกระทำ และการแสดงออกหรือปฏิบัติการต่างๆ ก็ถูกต้องดีงาม เกื้อกูล นำไปสู่การดับทุกข์ แก้ไขปัญหาได้



ในทางตรงกันข้าม ถ้ารู้เข้าใจคิดเห็นผิด มีค่านิยม ทัศนคติ แนวความคิดที่ผิด ที่เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ แล้ว การคิด การพูด การกระทำ การแสดงออก และปฏิบัติการต่างๆ ก็พลอยดำเนินไปในทางที่ผิดพลาดด้วย แทนที่จะแก้ปัญหาดับทุกข์ได้ ก็กลายเป็นก่อทุกข์ สั่งสมปัญหา ให้เพิ่มพูนร้ายแรงยิ่งขึ้น



สัมมาทิฏฐิ นั้น แยกได้เป็น 2 ระดับ คือ



1.ทัศนะ ความคิดเห็น แนวความคิด ทฤษฎี ความเชื่อถือ ความนิยม ค่านิยม จำพวกที่เชื่อหรือยอมรับรู้การกระทำ และผลการ กระทำของตน หรือสร้างความสำนึกในความรับผิดชอบต่อการ กระทำของตน พูดอย่างชาวบ้านว่า เห็นชอบตามคลองธรรม เรียกสั้นๆ ว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ เป็น สัมมาทิฏฐิระดับโลกีย์ เป็นขั้นจริยธรรม



2.ทัศนะ แนวความคิด ที่มองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมัน หรือตามที่มันเป็น ไม่เอนเอียงไปตามความชอบความชังของตน หรือตามที่อยากให้มันเป็นอยากไม่ให้มันเป็น ความรู้ความเข้าใจสอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งธรรมดา เรียกสั้นๆ ว่า สัจจานุโลมิกญาณ เป็น สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ เป็นขั้นสัจธรรม



มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด หลงผิด ก็มี 2 ระดับ เช่นเดียวกัน คือ ทัศนะ แนวความคิด ค่านิยม ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่ยอมรับการกระทำของตน กับความไม่รู้ไม่เข้าใจโลกและชีวิตตามสภาวะ หลงมองสร้างภาพไปตามความอยากให้เป็น และอยากไม่ให้เป็นของตนเอง



อย่างไรก็ดี กระบวนการของการศึกษาภายในตัวบุคคล จะเริ่มต้นและดำเนินไปได้ ต้องอาศัยการติดต่อเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม และอิทธิพลจากภายนอกเป็นแรงผลักดัน หรือเป็นปัจจัยก่อตัว ถ้าได้รับการถ่ายทอดแนะนำชักจูง เรียนรู้จากแหล่งความรู้ความคิดที่ถูกต้อง หรือรู้จักเลือก รู้จักมอง รู้จักเกี่ยวข้อง พิจารณาโลกและชีวิตในทางที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิด สัมมาทิฏฐิ นำไปสู่การศึกษาที่ถูกต้อง หรือมีการศึกษา



แต่ตรงข้าม ถ้าได้รับถ่ายทอดแนะนำชักจูง ได้รับอิทธิพลภายนอกที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักพิจารณา ไม่รู้เท่าทันประสบการณ์ต่างๆ ก็จะทำให้เกิด มิจฉาทิฏฐิ นำไปสู่การศึกษาที่ผิด หรือความไร้การศึกษา



โดยสรุป แหล่งที่มาเบื้องต้นของการศึกษา เรียกว่า ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ มี 2 อย่าง คือ



1.ปัจจัยภายนอก เรียกว่า ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น หรือเสียงบอกจากผู้อื่น ได้แก่ การรับถ่ายทอด หรืออิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนที่คบหา หนังสือ สื่อมวลชน และวัฒนธรรม ซึ่งให้ข่าวสารที่ถูกต้อง สั่งสอนอบรม แนะนำชักจูงไปในทางที่ดีงาม



2.ปัจจัยภายใน เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย หมายถึง การคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด หรือคิดเป็น



ในทำนองเดียวกัน แหล่งที่มาของการศึกษาที่ผิด หรือความไร้การศึกษา ที่เรียกว่า ปัจจัยแห่งมิจฉาทิฏฐิ ก็มี 2 อย่างเหมือนกัน คือ ปรโตโฆสะ เสียงบอกจากภายนอกที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง และ อโยนิโสมนสิการ การทำในใจไม่แยบคาย การไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น หรือการขาดโยนิโสมนสิการนั่นเอง

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (2) khaosod

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (2)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

คัดย่อตัดมา

การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้ผลดีนั้น ครอบคลุมถึงการปฏิบัติถูกต้องที่เป็นส่วนย่อยของการดำเนินชีวิตนั้น มากมายหลายแง่หลายด้านด้วยกัน กล่าวโดยสรุป คือ



ก) ในแง่ของการล่วงพ้นปัญหา ได้แก่ แก้ปัญหาเป็น



ข) ในแง่ของการทำกรรม ได้แก่ คิดเป็น พูดเป็น/สื่อสารเป็น ทำเป็น



ค) ในแง่ของการรับรู้ ได้แก่ ดูเป็น ฟังเป็น ดมเป็น ลิ้มเป็น สัมผัสเป็น คิดเป็น



ง) ในแง่ของการเสพหรือบริโภค ได้แก่ กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น เสวนา-คบหาเป็น

วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

บำเพ็ญตบะ khaosod

บำเพ็ญตบะ ประพฤติพรหมจรรย์

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ตบะ แปลว่า ทำให้ร้อน การบำเพ็ญตบะ หมายความถึง การทำให้กิเลสความรุ่มร้อนต่างๆ หมดไปหรือเบาบาง



ลักษณะการบำเพ็ญตบะ ได้แก่



การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลง ติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง 6



การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากร่วมประเวณีหรือกามกิจทั้งปวง



การปฏิบัติธรรม คือ การรู้และเข้าใจในหลักธรรม เช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา



อานิสงส์การบำเพ็ญตบะนั้น จะทำให้เลิกเป็นคนเอาแต่ใจตัวได้ในเร็ววัน ทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตัว ทำให้มงคลข้อต้นๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นกับเรา ทำให้เข้าถึงนิพพานได้เร็ว ดังพุทธภาษิตว่า ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยอดเยี่ยม



พรหมจรรย์ หมายถึง การประพฤติธรรมอันประเสริฐ คือการละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน



ลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ คือ



ให้ทานบริจาคทาน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของเงินทองของมีค่า หรือมีปัญญาช่วยชี้แนะช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร



รักษาศีล 5 ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา หรือเสพสิ่งเสพติดให้โทษ มีพรหมวิหาร มีเมตตากับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน งดเว้นจากการเสพกาม เสพเมถุน ยินดีในคู่ครองของตน คือการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว เพียรพยายามละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น



รักษาศีล 8 ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมาหรือเสพติดสิ่งเสพให้โทษ ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่นอนสูงที่นอนใหญ่ หรูหรา



มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค



ศึกษาปฏิบัติในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง



อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์ ทำให้ปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่มีกังวลหรือระแวง เป็นอิสระ มีเวลามากในการทำความดี เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ได้โดยง่าย



กามทั้งหลายมีโทษมากมีทุกข์มาก มีความพอใจน้อย เป็นบ่อเกิดแห่งความทะเลาะวิวาทกัน ความชั่วเป็นอันมาก เกิดขึ้นเพราะกามเป็นเหตุ ควรเร่งประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้เกิดสุขสมบูรณ์ดีและมั่นคง