วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

มีสติไม่ผิดพลาด khaosod

มีสติไม่ผิดพลาด

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ผู้มีสติย่อมมีความเจริญทุกเมื่อ ผู้มีสติย่อมได้ความสุข วันหนึ่งคืนหนึ่งของผู้มีสติเป็นวันคืนที่ดี แต่ผู้มีสติหรือความมีสติยังไม่คุ้มครองตนให้พ้นไปจากเวรภัยได้



ผู้ใดมีใจยินดีแล้วในความไม่เบียดเบียนผู้อื่นตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ใจของผู้นั้นมีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์อยู่เป็นนิตย์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรภัยต่อใครๆ



คำว่าสติ คือความระลึกได้ คู่กับคำว่าสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวอยู่เสมอ



สติเป็นไปในกิริยาที่ทำ กิริยาที่พูด กิริยาที่นึกหรือคิด คือก่อนจะทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ระลึกนึกได้ก่อนแล้ว จึงทำ จึงพูด จึงคิด บุคคลผู้ที่ทำผิด พูดผิด คิดผิด ก็เพราะขาดสติ



สติเป็นไปในกิริยาที่จำ คือ กิจการใดที่ได้ทำไว้แล้ว ถ้อยคำใดที่ได้พูดไว้แล้ว เรื่องใดๆ ที่ได้คิดตกลงใจไว้แล้ว แม้ล่วงกาลเวลาช้านาน ก็ระลึกนึกถึงกิจที่ได้ทำ คำที่ได้พูด เรื่องที่ได้คิดไว้นั้นได้ ไม่ลืมเลือน



บุคคลที่ทำแล้ว พูดแล้ว ลืมเสีย ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับกิจที่จะทำ คำที่จะพูด เรื่องที่จะคิดต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายได้ ก็เพราะขาดสติ



ส่วนสัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่เสมอนั้น เป็นไปในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด คือรู้สึกตัวอยู่เสมอว่ากำลังทำ พูด และคิดอะไรอยู่ กล่าวคือทำ พูด คิดถูกก็รู้ หรือทำ พูด คิดผิดก็รู้



เมื่อรู้ว่ากำลังทำ พูด คิดถูก ก็ให้ทำ พูด คิดอย่างนั้นๆ ต่อไป เมื่อรู้สึกตัวว่ากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดในทางที่ผิด ก็ให้หยุดเสีย ไม่ให้ทำ พูด คิดอย่างนั้นๆ ต่อไปอีก



ความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าตนมีภาวะเป็นอย่างไร มีหน้าที่ มีกิจที่จะต้องทำอะไรบ้าง ก็ให้ปฏิบัติให้สมกับภาวะและหน้าที่ที่ตนเป็นอยู่และมีอยู่นั้นๆ ไม่บกพร่อง ไม่ผิดพลาด บริบูรณ์ดี เพราะมีสัมปชัญญะควบคุมอยู่



บุคคลที่บกพร่องต่อหน้าที่ มีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งแก่ตนและคนอื่น เพราะขาดสัมปชัญญะ ไม่มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอะไรอยู่ จึงทำให้ทำ พูด และคิดไปในทางที่ผิด เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น สติและสัมปชัญญะนี้จึงมีประโยชน์แก่ทุกคน



สติและสัมปชัญญะทั้ง 2 ประการ เรียกว่าธรรมมีอุปการะมาก คือ ผู้ที่มีใจอันสติสัมปชัญญะเข้ากำกับอยู่เสมอแล้ว ย่อมประพฤติกายวาจาในทางที่ถูก ที่ควร ย่อมได้รับผลคือความสุข ความเย็นใจไม่เดือดร้อน สติสัมปชัญญะเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่คนทุกคน



ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ มีการศึกษาดี มีสมรรถภาพในการทำงานดี แต่ถ้ามีปัญญาฟุ้งไป ไม่มีสติเป็นเครื่องยับยั้ง ก็จักเป็นคนฉลาดเกินควร เข้าลักษณะที่ว่าฉลาดแต่ขาดเฉลียว กลายเป็น ผู้ทะนงว่าตนเท่านั้นสามารถ คนอื่นสู้ตนไม่ได้



เมื่อมีความทะนงตนอย่างนี้แล้ว ความผิดพลาดไม่รอบคอบนานาประการก็จะพึงเกิดมีขึ้น อันจะเป็นผลเสียหายแก่ตนและคนอื่น



ถ้าผู้มีปัญญาสามารถดี และมีสติเป็นเครื่องกำกับยับยั้งอยู่ด้วย ก็จักช่วยให้มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีความเสื่อม



สติที่เป็นเครื่องระลึก ก่อให้เกิดความนึกคิด ก่อนจะทำ ก่อนจะพูดเป็นเบื้องต้น เป็นเหตุให้รอบคอบ สามารถที่จะประกอบกิจน้อยใหญ่ให้เป็นไปด้วยดี ไม่มีความผิดพลาด

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำอย่างไร ได้อย่างนั้น khaosod

ทำอย่างไร ได้อย่างนั้น

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


กรรม แปลว่า กระทำทางกาย มียืนเดินนั่งนอน เป็นต้น กระทำทางวาจา คือเปล่งคำพูด กระทำทางใจ คือการนึกคิด



คำว่า กรรม เป็นคำกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว ถ้าเป็นไปในฝ่ายดี ถูก ควร เรียกว่า กุศล บุญ สุจริต ถ้าเป็นไปในฝ่ายชั่ว ผิด ไม่ควร เรียกว่า อกุศล บาป ทุจริต



คำว่า ถูก ดี ควรนั้น หมายถึง กิริยาที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิด อันเป็นไปเพื่อความเป็นประโยชน์ เป็นความสุข ความเจริญแก่ตนและบุคคลอื่น



คำว่า ชั่ว ผิด ไม่ควรนั้น หมายถึง กิริยาที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิด อันเป็นไปเพื่อความไร้ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อมแก่ตนและบุคคลอื่น



กรรม เมื่อกล่าวโดยกรรมบถ มี 10 อย่าง แบ่งเป็น กายกรรม 3 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดทางกาม วจีกรรม 4 คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ มโนกรรม 3 คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นฝ่ายดี ที่เป็นไปโดยตรงกันข้ามจากนี้ เป็นฝ่ายชั่ว



กรรมทั้ง 3 ประการนี้ เป็นเหตุเป็นผลของกัน คือ ก่อนที่จะทำและก่อนจะพูด จิตหรือใจต้องสั่งก่อน ถ้าทำหรือพูดโดยที่จิตไม่ได้สั่ง การทำหรือการพูดนั้น ยังไม่จัดเป็นกรรม เช่นคนนอนหลับละเมอ ทำหรือพูดอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นต้น ยังไม่จัดเป็นกรรม คนวิกลจริตกระทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง ตุลาการหรือศาลย่อมไม่ปรับเอาเป็นผิด เพราะเหตุที่จิตใจของคนวิกลจริต ผิดปกติธรรมดา



เจตนาในการทำและการพูดปราศจากเหตุผลหรือทำและพูดไปโดยที่ไม่มีเจตนาหรือความจงใจ



กรรมดี กรรมชั่ว ย่อมให้ผลแก่ผู้กระทำอย่างแน่นอน คือกรรมดี ได้แก่ ทำพูดคิดดี ย่อมส่งผลให้ผู้ทำกรรมนั้นมีความสุข มีความเจริญ ไม่ต้องเดือดร้อน



ส่วนกรรมชั่ว ได้แก่ ทำพูดคิดชั่ว ย่อมส่งผลให้ผู้กระทำชั่วนั้น มีความทุกข์ ประสบความเสื่อม มีความเดือดร้อนใจ



เมื่อบุคคลใดกระทำกรรมดีและกรรมชั่วอันเป็นเหตุไว้แล้ว บุคคลนั้นจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน คือทำกรรมดีไว้ จะต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วไว้ จะต้องได้รับผลชั่ว เหมือนปลูกพืชชนิดใดไว้ จะต้องได้รับผลเป็นพืชชนิดนั้นอย่างแน่นอน เช่น ปลูกมะม่วง จะต้องได้รับผลเป็นมะม่วง จะได้รับผลเป็นทุเรียนหรืออย่างอื่น เป็นไปไม่ได้



ดังพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว



กรรมดี แม้จะให้ผลเป็นความสุข น่าปรารถนา และกรรมชั่วแม้จะให้ผลเป็นความทุกข์ อันไม่น่าปรารถนา ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้ทำทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว สับสนปะปนกันอยู่ร่ำไป มิใช่มีแต่ผู้ที่กระทำกรรมดีโดยส่วนเดียว หรือมีแต่ผู้ที่กระทำกรรมชั่วโดยส่วนเดียว เข้าหลักที่ว่า ดีไม่ทั่ว ชั่วไม่หมด ทั้งนี้ก็เพราะคนดีทำกรรมดีได้ง่าย ทำกรรมชั่วได้ยาก คนชั่วทำกรรมชั่วได้ง่าย ทำกรรมดีได้ยาก



ดังพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ว่า กรรมดี อันคนดีทำได้โดยง่าย อันคนชั่วทำได้โดยยาก กรรมชั่วอันคนชั่วทำได้ง่าย อันคนดี ทำได้โดยยาก

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

ตักเตือน กล่าวโทษ khaosod

ตักเตือน กล่าวโทษ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


การว่ากล่าวตักเตือน ชี้โทษข้อบกพร่องของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องยาก ผู้ที่จะตักเตือนจะต้องคิดแล้วคิดอีกหลายรอบ เพราะกลัวว่าเตือนไปแล้วเขาจะโกรธบ้าง เหตุผลในการเตือนมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าเขาเถียงก็จะมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันเกิดขึ้น ควรจะทำอย่างไร อาจถูกด่าว่ามัวเที่ยวเตือนแต่คนอื่นอยู่ ทำไมไม่เตือน ตนเองบ้าง 



การเตือนคนอื่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เตือนจะต้องเสี่ยงหลายอย่าง การตัดสินใจเตือนผู้อื่นเป็นความเสียสละอย่างหนึ่ง ที่กล่าวนี้หมายถึงผู้เตือนด้วยความหวังดี มิใช่มุ่งร้าย



ท่านผู้รู้กล่าวว่าการชี้โทษ ว่ากล่าวตักเตือน มีอยู่ 2 ประเภท คือ 



ประเภทแรก ผู้ชี้โทษตักเตือนเพื่อต้องการหาความผิดผู้อื่นแล้วนำมาประจาน ด้วยประสงค์ให้เขาเกิดละอาย ประเภทนี้ใช้ไม่ได้ 



ประเภทที่สอง ผู้ชี้โทษตักเตือนด้วยประสงค์ความเจริญแก่ผู้ถูกเตือน ต้องการให้รู้สิ่งที่เป็นโทษ แล้วหลีกหนีงดเว้น ดำเนินในสิ่งที่เป็นคุณ 



ประเภทที่สอง นี้จัดว่าดี เมื่อเตือนใครคนนั้นไม่ควรโกรธ ควรทำความรู้สึกในท่านผู้นั้นว่า เหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ 



การชี้โทษ การตักเตือนนี้ มีธรรมเนียมปฏิบัติของภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า ปวารณา คือเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันว่า ท่านขอรับ ท่านอยู่ในฐานะพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของกระผม เป็นความดีอันยิ่งใหญ่ที่ท่านกรุณาเตือนกระผม ต่อไป ขอท่านได้โปรดเตือนกระผมอีก เมื่อกระผมได้กระทำสิ่งใดอันไม่เหมาะ ไม่ควร เป็นต้น



เมื่อเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยรีบบอกให้รู้ ขอร้องหรือบังคับให้เลิกการกระทำเช่นนั้นเสีย อาจารย์บางคนเห็นข้อบกพร่องของศิษย์แล้วไม่กล้าพูดด้วยเกรงว่าจะเสื่อมจากความรัก ความนับถือของศิษย์ เกรงว่าเธอจะเลิกปรนนิบัติเสีย การกระทำดังนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควร ส่วนอาจารย์ที่ดีนั้น เมื่อเห็นข้อบกพร่องของศิษย์แล้วจะต้องตักเตือนหรือลงโทษตามสมควรแก่โทษ 



คนมีที่อัธยาศัยเป็นบัณฑิต มักยินดีพอใจในคำว่ากล่าวตักเตือนชี้โทษของบัณฑิต และคบหาสมาคมกับบัณฑิต เหมือนแมลงผึ้งยินดีพอใจในของสะอาด มีเกสรดอกไม้ เป็นต้น 



ส่วนคนโง่มีอัธยาศัยเป็นคนพาล มักไม่ยินดี ไม่พอใจในคำว่ากล่าวตักเตือนของบัณฑิต แต่ยินดีพอใจในคำสรรเสริญเยินยอของคนพาล และคบหาสมาคมกับคนพาล เหมือนแมลงวันยินดีพอใจในของโสโครก มีกองขยะเน่าเหม็น เป็นต้น



บุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวที ย่อมระลึกอยู่เสมอถึงคำว่ากล่าวตักเตือนที่ผู้อื่นทำแก่ตนน้อมนำความดีมาไว้ในจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา จะทำให้มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ส่วนคนไม่มีความกตัญญูกตเวที ชีวิตจะมีแต่ความเสื่อมเสียอย่างเดียว

ความดีต้องรีบทำ khaaosod

ความดีต้องรีบทำ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


บุญ คือ ความดี หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ใจ เป็นไปเพื่อความเป็นประโยชน์เกื้อกูล ก่อให้เกิดความสุขความเจริญแก่ตนและบุคคลอื่น

การทำความดี ควรเป็นผู้ไม่ประมาท รีบขวนขวายประพฤติปฏิบัติตน กระทำตนให้เหมาะแก่วัยทั้งสาม คือ

1.ในวัยเริ่มต้นชีวิต ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิทยาการต่างๆ ให้มีความรู้เต็มความสามารถ ไม่เกียจคร้านหรือประมาท ไม่เหินห่างจากการศึกษาเล่าเรียน พากเพียรไม่หยุดยั้ง

2.ในวัยท่ามกลางแห่งชีวิต เมื่อมีความรู้ความสามารถดีแล้ว คิดประกอบการงานสัมมาอาชีพ ให้เป็นที่พึ่งของตนและบุคคลอื่นได้ มีวิริยอุตสาหะอดทน งานที่สุจริตไม่ผิดธรรม แม้จะเหน็ดเหนื่อยก็ยินดี

3.ในวัยบั้นปลายชีวิต เมื่อมีฐานะมั่นคงแล้ว ตั้งจิตคิดแสวงหาความสงบใจ สิ่งใดเป็นเหตุแห่งความทุกข์ความเดือดร้อน บั่นทอนความสุขกายสบายใจ พยายามละเว้นให้ห่างไกล

เมื่อประคับประคองตนให้ได้ดังกล่าวมานี้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้รักตน ประคับประคองตนให้เป็นไปด้วยดีตลอดวัยทั้งสาม เป็นผู้ประพฤติตามพระพุทธโอวาทที่ตรัสไว้ว่า หากบัณฑิตพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก พึงประคับประคองตนไว้ให้ดีตลอดวัยทั้งสาม

การบุญเพื่อให้ได้บุญนั้น ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีทำบุญ 3 ประการ คือ บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา

ทาน เป็นเหตุปัจจัยให้สังคมของมนุษย์ดำเนินไปด้วยความสวัสดี เพราะคนเราเกิดมาจะอยู่ได้ด้วยทาน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน จึงเป็นแนวทางให้เกิดความสามัคคีได้เป็นอย่างดี สมกับธรรมภาษิตว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบหาสมาคมผู้ให้นั้น เมื่อมนุษย์มีจิตใจดีที่จะให้แก่กันดังกล่าวมา สังคมของมนุษย์ก็จะเป็นไปโดยความสวัสดี

ศีล หมายถึง ความประพฤติตามปกติของคนหรืออย่างที่คนปกติเขาประพฤติกัน คือ ไม่ประทุษร้ายกันทางกาย ไม่ลักขโมยทรัพย์ ไม่ล่วงละเมิดสิทธิในคู่ครองของคนอื่น ไม่พูดเท็จหลอกลวง และไม่เสพของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ภาวนา แปลว่า ความอบรมปัญญาให้บังเกิดมีในตน ได้แก่ การพยายามทำปัญญาความรอบรู้ในสังขารทั้งปวงให้เกิดขึ้นในตน ซึ่งภาวนาถือได้ว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เมื่อทำได้แล้วจิตใจก็จะเป็นสมาธิ สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิแล้ว ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง

การทำความดีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกิจที่บัณฑิตผู้ไม่ประมาทควรรีบขวนขวายกระทำ และในขณะที่กำลังทำความดีอยู่พึงห้ามจิตไม่ให้คิดทำความชั่วทางกาย วาจา และใจ เพราะตามปกติของจิตใจย่อมแสวงหาแต่อารมณ์ใฝ่ต่ำเสมอ เปรียบเหมือนปลาที่ถูกจับโยนขึ้นบนบก ย่อมดิ้นรนกระเสือกกระสนลงสู่น้ำฉะนั้น

ถ้าทำความดีช้าไป จิตใจย่อมยินดีในความชั่ว ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากความชั่ว เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าไป จิตใจย่อมยินดีในความชั่ว

แต่ถ้ารีบทำแต่ความดีแล้ว จิตใจก็ย่อมน้อมไปในความดียิ่งๆ ขึ้นไป