วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วิธีสร้างเสริมบารมี khaosod

วิธีสร้างเสริมบารมี

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


ในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ ตรัสว่า การทำความดีทุกครั้ง ให้ตั้งจิตปรารถนาพ้นจากความทุกข์ ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุด ความปรารถนาทุกอย่างดังกล่าวมา จะสำเร็จได้ด้วยบารมีเท่านั้น

การสะสมความดีอยู่เสมอเพื่อความเป็นเลิศ หรือการสะสมความดีเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด เรียกว่า บารมี

ความเป็นเลิศหรือการบรรลุจุดหมายสูงสุดนั้น จัดว่าเป็นผลเกิดจากการทำความดีอย่างต่อเนื่อง เหตุที่ทำให้เกิดบารมี สืบเนื่องจากความคิดที่จะสร้างบารมีนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นผู้ที่เห็นความเป็นเลิศหรือการบรรลุจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นผลอันน่าปรารถนา น่าพึงพอใจแล้ว ต้องการจะสร้างบารมี และมีบารมีมากๆ ที่สำคัญต้องกำหนดให้ได้ก่อนว่าเราจะสะสมความดีอย่างไร จึงจะสามารถให้ผลเป็นบารมีได้

เริ่มต้นที่เหตุ คือ การสะสมความดีอย่างต่อเนื่อง เพราะบารมีเป็นผลของการกระทำความดีเท่านั้น ยกตัวอย่างเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน บางคนต้องการมีบารมีในเรื่องบริวาร ต้องการมีมิตรสหายที่ดี จะต้องมีวิธีสะสมความดีตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา คือ เป็นคนมีน้ำใจ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่มีประโยชน์ หรือให้คำแนะนำที่ดีงามถูกต้อง แก่ทุกคนที่เรารู้จักเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ตามฐานะและโอกาสที่เหมาะสม

เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ สามารถครองใจ เป็นที่รักเคารพนับถือ ของคนทั้งหลายได้ จะได้รับความสะดวกสบายจากมิตรสหาย บริวาร ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใด เดินทางไปที่ไหน จะมีแต่คนช่วยเหลือเกื้อกูล คอยจัดเตรียมต้อนรับอย่างดี เหมือนคนเฝ้ารอคอยต้อนรับญาติผู้เป็นที่รักซึ่งจากกันไปนานแสนนาน

หรือบางคนต้องการมีบารมีทางปัญญา คือความเป็นเลิศในวิชาความรู้ จะต้องใช้หลักธรรมที่ให้ถึงความสำเร็จ เช่น ต้องมีคุณธรรมคืออิทธิบาท ในการสร้างเสริมบารมี ถึงความเป็นเลิศในวิชาความรู้ ต้องใฝ่ใจสนใจต่อการศึกษา ค้นคว้าสิ่งที่ต้องการจะรู้ให้มากยิ่งขึ้น ต้องมีความขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอยแม้มีอุปสรรค ต้องมีจิตฝักใฝ่ ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปที่อื่น และต้องหมั่นไตร่ตรอง ตรวจสอบ ถึงข้อบกพร่องซึ่งอาจจะมีบ้าง หมั่นหาวิธีแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อปฏิบัติได้ดังกล่าวมานี้ รับรองได้ว่า ความเป็นเลิศในด้านวิชาความรู้ จะเกิดมีได้เพราะสร้างเสริมบารมีที่ถูกต้องนั่นเอง ซึ่งบางคน ฉลาดรอบรู้มาก สามารถเป็นผู้นำความคิด ระดับโลก ระดับประเทศ หรือเป็นผู้นำระดับต่างๆ ในสถานที่นั้นๆ

แบบอย่างพระบารมี พระพุทธเจ้า พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ได้รับการศึกษาศิลปวิทยาจากครูผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ทรงเป็นนักเรียนที่ดี ตั้งใจเรียน เชื่อฟังคำสอนของครู สามารถเรียนจบหลักสูตร ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในวิชาการถึง 18 สาขา ต่อมาทรงเลือกวิธีสร้างเสริมบารมีเพื่อความเป็นเลิศ เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด ด้วยการออกบวช ทรงตั้งใจศึกษาและปฏิบัติ

ในที่สุดก็สามารถบรรลุจุดหมายสูงสุด ตามที่มุ่งหวัง ค้นพบสัจธรรม ทางแห่งความพ้นทุกข์ด้วยพระองค์เอง และสอนผู้อื่นให้เข้าใจ สามารถปฏิบัติตามพร้อมบรรลุจุดหมายสูงสุด เหมือนพระพุทธองค์เช่นกัน ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชาวโลกเกิดขึ้น

เพราะอาศัยพระบารมีของพระพุทธองค์โดยแท้

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทานบารมี khaosod

ทานบารมี

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากจะทรงสะสมความดีเพื่อถึงความเป็นเลิศ บรรลุจุดหมายสูงสุดด้วยพระองค์เองแล้ว ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ สั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามและได้ผลตามพระองค์ด้วย



คุณธรรมที่พระพุทธองค์สะสมบำเพ็ญมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุสนับสนุนให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มี 10 ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ที่นิยมเรียกว่า บารมี 10 ในที่นี้จะขออธิบายเฉพาะทานบารมีเพียงอย่างเดียว เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเพื่อทราบถึงวิธีปฏิบัติให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น



ทาน คือ การให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเสียสละ โดยสรุปมี 2 ประเภท คือ



1.อามิสทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ เพื่อบูชาคุณของผู้ที่ควรบูชา เช่น ให้เพื่อบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือบิดามารดา ครูอาจารย์ ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ยากไร้ หรือผู้ประสบภัยต่างๆ



2.ธรรมทาน หมายถึง การให้ธรรมะเป็นทาน การสอนแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องแก่ผู้อื่น ให้รู้ผิดชอบชั่วดี รู้สิ่งที่มีคุณมีโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้ข้อคิด ให้กำลังใจ



ธรรมทานจัดว่าเลิศกว่าอามิสทาน เพราะผู้ที่จะสอนคนอื่นให้เข้าใจได้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในธรรมนั้นอย่างดีก่อน จึงจะแนะนำพร่ำสอนคนอื่นได้ แต่คนที่ฉลาด ย่อมพิจารณาให้ทาน 2 ประเภทนี้ ตามโอกาสที่เหมาะสม เพราะการให้อามิสทาน ช่วยให้ขัดเกลาจิตใจให้ลดละจากความตระหนี่ ส่วนธรรมทานมีประโยชน์ในการพัฒนาปัญญา ช่วยคลายทุกข์ ดับทุกข์ได้ ทั้งยังเป็นคุณธรรมที่เป็นประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งต้องการความมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน



ลักษณะของการให้ทาน เพื่อเป็นบารมี คือ



การให้ทานต้องทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ปราศจากความตระหนี่ ทั้งเวลาก่อนให้ทาน ขณะให้ทาน และหลังจากให้ทาน ไม่ว่าจะให้แก่ผู้ทรงศีล หรือให้แก่คนไม่มีศีล ก็ทำจิตให้ผ่องใสทั้ง 3 เวลา



ให้ทานด้วยความจริงใจ เมื่อมีสิ่งของจะมากหรือน้อยก็ตาม ก็ควรให้ทาน



ให้ทานด้วยสิ่งของที่ดีมีคุณภาพ ไม่มีโทษ



สิ่งของที่จะให้ ต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์



ในขณะที่ให้ทานเพื่อบูชาคุณ เช่น ถวายแก่พระภิกษุและสามเณรผู้ทรงศีล ต้องมีความเคารพนอบน้อมด้วยกาย วาจา และใจ



ให้ทานเพื่อสงเคราะห์คนยากไร้ หรือประสบภัยทั่วไป ใจก็ยินดี



รักษามารยาทให้ดีงาม ไม่แสดงอาการดูหมิ่นวัตถุสิ่งของที่ให้ว่ามีน้อย



ให้ทานประกอบด้วยปัญญา เพื่อเข้าถึงธรรมให้สูงยิ่งขึ้น



ทานบารมีนี้ มีอยู่ 3 ระดับ คือ



1.สละวัตถุสิ่งของเพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้รับ เป็นทานบารมีระดับสามัญ



2.สละเลือดเนื้ออวัยวะร่างกายแต่ไม่ถึงชีวิต เป็นทานบารมีระดับกลาง



3.ยอมสละได้แม้ชีวิต เพื่อดำรงไว้ซึ่งธรรม เป็นทานบารมี ระดับสูง