วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประพฤติดี khaosod

ประพฤติดี
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
สุจริต แปลว่า การประพฤติชอบ การประพฤติดี หมายถึง การประพฤติที่เป็นเหตุให้บุคคล เป็นคนดี เป็นที่พึงประสงค์ เป็นที่ปรารถนาของอารยชน
คนเราจะมีคุณค่า หรือมีความดีที่คนอื่นเห็นความสำคัญ ให้ความยกย่องนับถือ หรือไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมคบหาสมาคมเพราะมีดีอยู่ในตัว เช่น มีรูปร่างหน้าตาดี มีทรัพย์ดี เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือ การประพฤติดี เพราะคนที่มีความประพฤติดีเป็นพื้นฐาน แม้ดีอย่างอื่นจะบกพร่องไปบ้าง ก็ยังพอจะเอาตัวรอดเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนอื่นได้ หรือยังพอที่จะแสวงหาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเองได้ 
ผู้มีความประพฤติดีจึงเป็นผู้มีสมบัติติดตัว เรียกว่า มีอาจารสมบัติ ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักสุจริตธรรม เป็นเครื่องกำหนดวัดบุคคลว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี คือ มีพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกทางกายและทางวาจาในทางที่ดี รวมถึงความนึกคิดที่ดีอันเป็นเหตุแห่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น จำแนกตามเป็น 3 ทาง คือ
1. กายสุจริต หมายถึง การประพฤติดีทางกาย ได้แก่ การเว้นคือไม่ใช้กายทำความชั่วเลวทรามต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
2. วจีสุจริต หมายถึง การประพฤติดีทางวาจา ได้แก่ การงดเว้นคือไม่ใช้คำพูดที่ชั่วหยาบต่อผู้อื่น จำแนกเป็น 4 อย่าง คือ
1. เว้นจากการพูดเท็จ
2. เว้นจากการพูดส่อเสียด
3. เว้นจากการพูดคำหยาบ
4. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
3. มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทางใจ ได้แก่ ความรู้จักยั้งคิดไม่ปล่อยจิตให้คิดชั่วร้ายหมายปองทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้อื่น แต่ให้คิดดีถูกต้องตามหลักกุศลธรรม จำแนกเป็น 3 คือ
1. ความไม่โลภอยากได้ของเขา
2. ความไม่พยาบาทปองร้ายเขา
3. ความเห็นชอบตามคลองธรรม
สุจริต 3 อย่างนี้ เป็นธรรมที่ควรเจริญ คือ เป็นสิ่งที่ควรทำ ควรประพฤติ ควรเจริญให้เกิดมีขึ้นในตน 
การทำบุญย่อมอำนวยผลให้บุคคลผู้กระทำมีความสบายกาย สบายใจ และเมื่อตายไปแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เรียกว่า ไปดี การประพฤติสุจริตนั้นเป็นเหตุให้เกิดความสุข คือ ความสบายกาย ความสบายใจ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุคือการทำความดี 

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

เปรียบความโกรธเช่นงูพิษ khaosod


เปรียบความโกรธเช่นงูพิษ

ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


งูพิษเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรงและไม่ร้ายแรง เป็นสัตว์ที่น่ากลัวจำพวกหนึ่ง คนเห็นงูจึงต้องวิ่งหนี เพราะกลัวถูกกัด หากถูกกัดแก้ไม่หาย อาจถึงตายได้

งูพิษเราสามารถเอาชนะ หรือพอระวังได้ ส่วนคนที่มีพิษ คือความโกรธน่ากลัวมาก ความโกรธเกิดจากเหตุหลายประการ เช่น ถูกด่า ถูกนินทา ถูกกล่าวร้าย ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำลายทรัพย์สิน ถูกชนะโดยไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม และถูกรังแก เป็นต้น

ความโกรธเมื่อเกิดแล้ว ย่อมแสดงอาการทำร้ายคนอื่น ด่าว่าคนอื่นด้วยคำหยาบคาย ทำลายสิ่งของ ในขณะโกรธ สติกับปัญญาหายไปหมด ขาดความรอบคอบ ขาดความยับยั้ง

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ต้องรีบดับด้วยธรรม อย่าให้ความโกรธพ่นพิษออกมาทางปาก ทางมือ ทางเท้า คนอยู่ร่วมกันจะเดือดร้อน ธรรมเครื่องดับความโกรธมีมากมาย ขอยกตัวอย่าง 3 ประการ คือ

ความอดทนได้แก่ การระงับยับยั้งความโกรธ ที่เกิดจากการถูกด่า ถูกนินทา ถูกเขาทำร้าย ถูกเขาชนะ ถูกเขาขโมยสิ่งของไป ระงับยับยั้งกายวาจา ให้ตั้งอยู่ปกติ ไม่ทำร้ายตอบ ไม่กล่าวร้ายตอบ เป็นการห้ามปรามเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น

โยนิโสมนสิการได้แก่ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย เมื่อถูกเขาทำร้าย พูดร้าย พึงทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายว่า เมื่อวันก่อน เดือนก่อน เราเคยทำร้าย พูดร้ายต่อเขาไว้ มาวันนี้ เดือนนี้ จึงต้องประสบบ้าง อย่าโกรธเขาเลย

ทำจิตเหมือนแผ่นดิน ทำจิตเหมือนน้ำ แผ่นดินนั้น ใครๆ เอาสิ่งสกปรกรดลงก็ไม่โกรธ เอาของหอมรดลงก็ไม่ยินดี น้ำก็เช่นเดียวกัน ใครๆ เอาน้ำไปชำระสิ่งสกปรก น้ำก็ไม่โกรธ เอาของหอมประพรมน้ำก็ไม่ยินดี

เมตตาได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ความเอื้ออารีต่อคนอื่นสัตว์อื่น ผู้มาทำร้ายเรา ผู้มาด่าเรา แผ่เมตตาไปโดยเจาะจงว่า ขอจงมีความสุข อย่ามีความทุกข์ จงประสบสิ่งอันน่าปรารถนา เรียกว่า เมตตาที่แผ่ไปโดยเจาะจง เป็นเมตตาที่แผ่ไปในวงแคบ

ส่วนเมตตาที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงคือ แผ่ไปในคนและสัตว์ทั่วไป ทั้งที่เรารัก ทั้งที่เราเกลียด ทั้งที่เป็นศัตรูต่อเราว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย จงอย่ามีเวรต่อกันและกัน จงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ จงบริหารให้เป็นสุขเถิด เรียกว่า เมตตาที่แผ่ไปไม่เจาะจง เมตตาที่แผ่ไปในวงกว้าง

ผู้มีเมตตาประจำจิต ความโกรธย่อมเบาบางหมดไป เมตตาจึงเป็นเหมือนน้ำเครื่องชำระพิษคือความโกรธออกจากจิตใจ เมื่อใจปราศจากพิษคือความโกรธแล้ว ย่อมเยือกเย็น

งูเป็นสัตว์มีพิษ แต่ก็มียาแก้ได้ ส่วนคนมีพิษคือความโกรธอันเป็นพิษภายใน ต้องอาศัยธรรมเครื่องขับไล่พิษคือความโกรธ 3 ประการ คือ ความอดทน การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย และแผ่ความรักความปรารถนาดี จะทำให้ให้เป็นผู้มีจิตใจปราศจากพิษคือความโกรธ มีความสุขกาย สบายใจ