วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

สำคัญที่ความตั้งใจ khaosod

สำคัญที่ความตั้งใจ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com


ธรรมดา จิตย่อมไหลไปตามกระแสกิเลส อุปมาเหมือนน้ำไหลลงไปสู่ที่ต่ำ จิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน คิดแต่จะทำกรรมชั่วอยู่ประจำ เมื่อประจวบกับเหตุที่เหมาะแล้ว ย่อมกระทำความชั่วได้ทันที

ส่วนการ ทำกรรมดีเป็นของยาก เหมือนการพายเรือทวนกระแสน้ำ ต้องอาศัยความพยายามมาก จึงสามารถนำเรือแหวกทวนกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้สำเร็จ

ในปัจจุบันมี เหตุที่ยั่วเย้าให้เราคิดทำกรรมชั่วมากขึ้น ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ความเมตตากรุณาต่อกันก็เสื่อมไปตามลำดับ เพราะการทำกรรมชั่วเป็นเหตุ

ความเข้าใจในกฎแห่งกรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องให้ความสว่างทางจิตแก่ทุกคน ความฉลาดในกฎแห่งกรรมจะทำให้ทุกคนละเว้นจากความชั่ว ประพฤติกรรมดี ให้แข่งกันทำความดี

กรรมคืออะไร คนส่วนมากยังเข้าใจถึงเรื่องของกรรมไม่ชัดเจนนัก เข้าใจว่าเป็นเรื่องของความไม่ดีไปเสียทั้งหมด ถึงคราวเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมามักจะบ่นกันว่า เป็นกรรมของเรา เห็นใครเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนก็บ่นว่า เป็นกรรมของเขา แต่เมื่อถึงคราวที่เราเกิดความสุขสำราญขึ้นก็พูดว่าเป็นบุญของเรา เห็นคนอื่นมีความสุขมักจะพูดว่า เป็นบุญของเขา ทำให้เข้าใจว่ากรรมเป็นเรื่องของความไม่ดี บุญเป็นเรื่องของความดี บางครั้งเติมเวรเข้าไปด้วย เป็นเวรกรรมหรือกรรมเวร สลับกันไปมาอย่างนี้

กรรม แปลว่า การกระทำ ตามศัพท์แสดงให้เห็นว่า การกระทำนั้นแหละเป็นตัวกรรม โดยที่ท่านไม่ได้จำกัดว่า เป็นการทำดีหรือทำชั่ว กรรมจึงเป็นคำกลางๆ จะว่าเป็นเรื่องของความดีอย่างเดียวไม่ได้ จะว่าเป็นเรื่องของความชั่วอย่างเดียวไม่ได้

การกระทำที่ปรากฏออกมา ต้องอาศัยเจตนาคือความตั้งใจที่เกิดขึ้นภายในจิตเป็นสำคัญ พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาคือตัวกรรม สัตว์ที่กระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ย่อมมีการปรุงแต่งคือนึกคิดก่อนแล้วจึงทำ

เจตนาคือความตั้งใจเกิด ขึ้นแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการกระทำ การกระทำของคนเรามีเพียงสามทางเท่านั้น คือ การกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจ

กรรมเป็นเหตุและผลของกัน เหตุเช่นใด ผลก็เช่นนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว

กฎแห่ง กรรม เป็นกฎทั่วแก่สรรพสัตว์ที่มีอยู่ในโลกนี้ เรื่องของกรรมนี้จึงไม่ได้จำกัดแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม เมื่อท่านกระทำกรรมดีแล้ว ย่อมจะต้องได้รับผลดีทั้งนั้น และตรงกันข้ามถ้าท่านกระทำกรรมชั่วแล้ว ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ท่านจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำกรรมชั่วนั้นเหมือนกัน

กรรมคู่กับความเพียร khaosod

กรรมคู่กับความเพียร

คอลัมน์ คำพระ
ป.อ.ปยุตโต


"สอน หลักกรรมเพื่อให้รู้จักพึ่งตนเอง ไม่ฝากโชคชะตาไว้กับปัจจัยนอก ไม่ให้หวังผลจากการอ้อนวอนนอนคอยโชค ให้หวังผลจากการกระทำ ท่านจึงสอนเรื่องกรรมคู่กับความเพียร เหมือนอย่างหลักที่ยกมาให้ดูตั้งแต่ต้นที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นกรรมวาที และวิริยวาที"

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

ทำชั่วได้ชั่ว khaosod

ทำชั่วได้ชั่ว

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด


คน ทั้งหลายเมื่อทำความชั่วแล้ว ไม่ต้องการได้รับผลชั่ว คอยนึกคิด อธิษฐานว่า ขออย่าให้ผลชั่วตกมาถึงเราเลย ถ้าจะให้ผล ก็ขอให้ยืดเวลาไปให้นานที่สุดท่าที่จะนานได้

กรรมชั่วที่บุคคลทำแล้ว จะให้ผลเร็วหรือช้า มากหรือน้อยอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยประกอบในเวลานั้นว่า เปิดโอกาสให้กรรมชั่วให้ผลมากน้อยเพียงใด

เหตุปัจจัยประกอบที่จะให้กรรมชั่วให้ผลเร็วหรือช้า มากหรือน้อยนี่เอง ท่านเรียกว่า วิบัติ เป็นเหตุปัจจัยอันอำนวยหรือเปิดช่องให้กรรมชั่วให้ผลได้มาก ปิดกั้นโอกาสแห่งกรรมดี

วิบัติ หมายถึง ข้อเสีย หรือจุดอ่อน ความไม่สมประกอบ ความไม่ถูกต้อง สิ่งที่เมื่อมีหรือบังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดอุปสรรคขัดข้อง ท่านจำแนกไว้ 4 ประการ คือ

1. คติวิบัติ กำเนิดเสีย เกิดในที่อันไม่เหมาะสมแก่ความเจริญรุ่งเรือง ทางดำเนินชีวิตไม่ดี สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้ทำความดี ไม่เปิดทางให้ทำความดี แต่เปิดทางให้ความชั่วต่างๆ เกิดขึ้น

2. อุปธิวิบัติ หมายถึง ร่างกาย คือ ได้ร่างกายที่พิการ ไม่งดงาม บุคลิกภาพหรือสุขภาพไม่ดี ไม่เอื้ออำนวยให้ทำความดี แต่กลับเปิดทางให้แก่กรรมชั่วและผลชั่ว

3. กาลวิบัติ บุคคลบางคนเกิดในกาลอันไม่สมควร เช่น เกิดในสมัยที่โลกกำลังเสื่อม ไม่เจริญ บ้านเมืองมีแต่ภัยพิบัติ สังคมกำลังเสื่อม คนชั่วได้รับการยกย่อง คนดีถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ผู้เกิดในกาลเช่นนี้ ในสังคมเช่นนี้ มีอุปสรรคมากในการทำความดี แม้ทำความดีแล้ว จะให้ความดีให้ผลปรากฏชัดในขณะนั้น เวลานั้นก็ยาก 4. ปโยควิบัติ หมายถึง ความพยายามเสีย ถึงแม้จะมีความพยายาม แต่ก็ใช้ความพยายามไปในทางที่เสีย ใช้ไปในทางที่ผิด เป็นมิจฉาวายามะ เช่น ความพยายามของโจร ความพยายามของผู้มุ่งทำความชั่ว ยิ่งพยายามมากก็ยิ่งผิดมาก ไม่มีผลไปในทางที่ดี ก่อโทษทุกข์ให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนและผู้อื่น เหมือนคนเดินทางผิด ยิ่งเดินไปมากเท่าใด ก็ห่างจุดหมายปลายทางออกไปทุกที

ดังนั้น บุคคลผู้ประกอบด้วยวิบัติ 4 ประการดังกล่าวมา ก็จะทำให้ความสำเร็จแห่งชีวิตลดน้อยลง การที่คนทั่วไปต้องประสบวิบัติอยู่เป็นอันมาก เช่น ความลำบากยากจน ความพิการ โรคร้ายไข้เจ็บ ความขัดแย้ง ความไม่สมหวังในสิ่งประสงค์ เรื่องนี้ หลักพระพุทธศาสนาบอกว่า ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่เป็นไปตามความต้องการของคนใดคนหนึ่งนั่นเอง



พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9)

เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.com