วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ออกพรรษา-ปวารณากัน khaosod

ออกพรรษา-ปวารณากัน

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com


วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้วทำปวารณากัน วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการจำพรรษาของพระสงฆ์



คำว่า ปวารณา หมายความว่า ยอมให้ใช้ ยอมให้ขอ และยอมให้ว่ากล่าว ตักเตือน



ธรรมดาคนโดยทั่วไปย่อมจะมีการพูด การคิด การทำ ผิดไปจากความชอบธรรม จารีตประเพณี ระเบียบวินัยบ้าง



พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษามากรูปด้วยกัน บางรูปอาจจะประพฤติปฏิบัติผิดไปจากธรรมวินัยบ้าง ถ้าไม่ยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือน หรือไม่มีการกล่าวตักเตือน ก็จะเข้าใจว่า ความประพฤติของตนถูกต้อง และจะประพฤติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ความเสื่อมเสียก็จะเกิดขึ้น แก่หมู่คณะ จึงทำให้เกิดการแตกสามัคคี



ดังมีเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี 2 พวก คือ พวกพระวินัยธร และพวกพระธรรมกถึก ถือทิฏฐิมานะเข้าหากัน แม้พระพุทธเจ้าจะทรงชี้โทษแห่งความแตกสามัคคี ทรงขอร้องให้ปรองดองกัน ภิกษุเหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง เพราะอาศัยเหตุเพียงน้ำชำระที่เหลือไว้ในภาชนะที่เวจกุฎีนิดเดียวเท่านั้นเป็นตัวอย่าง



พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุทำปวารณาแก่กันและกัน เพื่อว่ากล่าวตักเตือนให้เกิดสติ ในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัยข้อบกพร่อง ข้อรังเกียจของกันและกัน โดยถือหลักที่ว่า ผู้ชี้โทษคือผู้ชี้หนทางแห่งขุมทรัพย์ให้



เมื่อได้ปวารณา หรือให้โอกาสแก่กันและกันไว้ จะได้ว่ากล่าวตักเตือนได้สนิทใจ ไม่ต้องระแวงว่า ฝ่ายที่ถูกว่ากล่าวตักเตือนจะโกรธ ตรงตามพระพุทธประสงค์ที่จะให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ด้วยกัน ด้วยความรัก ความห่วงใย และความสามัคคี



การทำปวารณานั้นพึงมีการประชุมสงฆ์ ประกาศ ให้สงฆ์ทราบมีใจความว่า วันนี้เป็นวันปวารณา หากพร้อมแล้ว ขอให้ทำปวารณากัน และกล่าวคำปวารณามีใจความว่า ขอปวารณาต่อสงฆ์ หากได้ยิน หรือสงสัยว่ามีความประพฤติบกพร่องหรือน่ารังเกียจ ขอให้อนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน เมื่อได้ทราบแล้ว จักได้แก้ไขปรับปรุงให้ดีต่อไป



เมื่อภิกษุเข้าพรรษาแล้ว อยู่ถ้วนกำหนดไตรมาส ตามพระบรมพุทธานุญาต จนได้ปวารณาแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ 5 ประการ คือ 1.เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา 2.เที่ยวจาริกไปไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับ 3.ฉันคณะโภชน์และปรัมประโภชน์ได้ 4.เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา และ 5.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ อานิสงส์ทั้ง 5 นี้ ท่านให้นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปถึงวันเพ็ญเดือน 12 รวมเป็นเวลา 1 เดือน



นอกจากนี้แล้วยังได้โอกาสเพื่อจะกรานกฐิน ต่อไป



พิธีกรรมสำหรับพระภิกษุนี้ คฤหัสถ์ควรนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น เพราะการอยู่รวมกันเป็นหมู่ เป็นคณะ ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ไม่มากก็น้อย ถ้าได้ให้โอกาสว่ากล่าวตักเตือนกันและกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความหวังดี ก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นสุข

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ธรรมที่ควรประพฤติ khaosod

ธรรมที่ควรประพฤติ

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร /www.watdevaraj.com


ธรรมในทางพระพุทธศาสนา ที่ควรประพฤติ 3 ประการ คือ

1.ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่ตนเอง

2.ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่ญาติ

3.ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก

ประการที่ 1 ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ได้แก่ การปลูกฝังตนเองให้สมบูรณ์ ด้วยกำลังความรู้ กำลังความสามารถ มีสมรรถภาพพอที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้

มีคำกล่าวไว้ว่า เกิดมาเป็นคน ต้องทำตนให้มีดี เกิดมาทั้งที ต้องทำดีให้กับตน โดยการบำเพ็ญตนให้เป็นคนมีพลังสมบูรณ์ 4 ประการ คือ

มีพลังกาย รวมถึงสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์

มีพลังทรัพย์ โภคสมบัติเพียบพร้อม

มีพลังสติปัญญา คือ การศึกษาบริบูรณ์

และมีพลังความดี ไม่ขาดตกบกพร่อง

ผู้ปลูกฝังสร้างตนเอง ให้มีพลังทั้ง 4 ประการนี้ได้อย่างสมบูรณ์ จัดเป็นคนมีประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น เพราะพลังเหล่านี้ ล้วนเป็นมหาเสน่ห์มหานิยม ทำให้คนชื่นชมเป็นอย่างดี

ประการที่ 2 ความประพฤติ เป็นประโยชน์แก่ญาติ ได้แก่ การช่วยสงเคราะห์อนุเคราะห์ผู้ที่เป็นญาติทั้งหลาย ทั้งที่เป็นญาติร่วมวงศ์ตระกูล และทั้งที่เป็นญาติโดยความคุ้นเคยกัน ได้แก่ มิตรสหายทั้งหลาย โดยที่สุด เป็นญาติโดยเกิดมาร่วมโลกเดียวกัน ช่วยให้พวกเขาได้รับประโยชน์และความสุข ตามสมควรแก่อัตภาพและฐานะของตน

ด้วยว่าการสงเคราะห์ญาติทั้งหลายนี้ จัดเป็นอุดมมงคล เป็นมูลเหตุให้ถึงความเจริญก้าวหน้าอย่างสูงสุดประการหนึ่ง

ประการที่ 3 ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นธรรมดาว่า ผู้เกิดมาในโลก ย่อมมีหลายชั้นหลายระดับ หลายฐานะ อยู่ร่วมกันเป็นสังคมมนุษย์ รวมกันเป็นพวกเป็นหมู่ เป็นประเทศชาติ

ฉะนั้น คนดีจึงมีหลายชั้นตามประโยชน์ที่กระทำ กล่าวคือ ใครบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์และความสุขแก่ตัวคนเดียว คนนั้นก็เป็นคนดีสำหรับตัวเอง ใครบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ความสุข แก่คนทั้งครอบครัว แก่คนทั้งหมู่บ้าน แก่คนทั้งประเทศ แก่คนทั้งโลก คนนั้นก็เป็นคนดีของครอบครัว ของหมู่บ้าน ของประเทศ และของโลกโดยลำดับ

บุคคลใดได้บำเพ็ญตนให้เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่มหาชนและแก่โลก ด้วยคุณธรรม 3 ประการดังกล่าวข้างต้น บุคคลนั้นย่อมได้รับความชื่นชม นิยมยกย่องสรรเสริญ เคารพ นับถือ เป็นที่ปรารถนาของสังคมหมู่มาก แม้ในหมู่เทวดาทุกชั้นฟ้า ก็ปรารถนาบุคคลนั้น