พุทธวจนะในธรรมบท
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ
นตฺถิ โทสสโม กลิ
นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ฯ๒๐๒ฯ
********
ไม่มีไฟใดเสมอด้วยราคะ
ไม่มีโทษใดเสมอด้วยโทสะ
ไม่มีทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์
ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ
********
No fire is there like lust,
No crime like hatred,
No ill like the Five Aggregates,
No higher bliss than Nibbana's peace.
วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556
วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556
พ้นภัย เพราะสัจจะ khaosod
พ้นภัย เพราะสัจจะ
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com
ความจริงใจ พูดจริง ทำจริง ความซื่อตรง ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นในสิ่งที่ตนปรารถนา สะสมความดีอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด เรียกว่า สัจจบารมี การตั้งสัจจะมี 2 วิธี
1.ตั้งสัจจอธิษฐานใจ มีความตั้งใจแน่วแน่ในการทำ พูด คิด ในสิ่งดีที่ตนปรารถนา โดยทั่วไปนิยมตั้งสัจจอธิษฐาน ต่อจากไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน หรือได้ทำบุญแล้ว จะมีคำลงท้ายหลังถวายทานหรือทำบุญต่างๆ เช่น ขอผลบุญนี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าสิ้นอาสวะกิเลส บรรลุพระนิพพานเถิด ตัวอย่าง เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนคร ถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ขณะที่ประทับนั่งบนหลังม้ากัณฐกะ ทรงอธิษฐานว่า "หากอาตมา จะข้ามห้วงโอฆสงสาร บรรลุถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาลแน่แล้ว ขอให้ม้ากัณฐกะ จงพาอาตมาข้ามแม่น้ำอโนมานทีโดยสวัสดีเถิด" แล้วทรงม้ากัณฐกะข้ามแม่น้ำไปได้โดยปลอดภัย ทรงอธิษฐานเพศบรรพชา ณ ที่นั้น
2.ตั้งสัจจะด้วยการเปล่งวาจาให้ผู้อื่นได้ยิน เป็นพยานว่าตนได้ตั้งสัจจะไว้อย่างนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้อื่น และให้เกิดความละอายแก่ใจของตน
ครั้งหนึ่ง เกิดไฟป่าไหม้มาล้อมรอบรังนกที่อาศัยอยู่ในป่า ซึ่งเป็นรังของนกคุ่มผัวเมีย มีลูกตัวเล็กๆ อาศัยอยู่ด้วย เมื่อไฟป่าได้ลุกลามมาใกล้ นกทั้งหลายพากันบินหนีไป รวมทั้งนกคุ่มที่เป็นพ่อแม่ด้วย ปล่อยให้ลูกนกคุ่มที่ยังเดิน และบินไม่ได้ รอความตายอยู่ในรัง ลูกนกคุ่มนั้นจึงได้การกล่าวสัจจวาจาโดยอ้างถึงคุณธรรมที่ได้กระทำมาในอดีตชาติ อ้างถึงคุณของพระพุทธเจ้า รวมทั้งความจริงที่เกี่ยวกับตัวเอง คือ มีปีกแต่ยังบินไม่ได้ มีเท้าแต่ยังเดินหนีไม่ได้ แล้วจึงอธิษฐานในใจว่า ขอให้อำนาจแห่งความจริงต่างๆ ที่ตนได้กล่าวไว้จงให้เกิดผลคือ ขอให้ไฟป่าที่กำลังลุกลามเข้ามาใกล้รอบตัวได้ดับลง เมื่อลูกนกตั้งสัจจะ แล้วเปลวไฟอันลุกโพลงมาใกล้จึงสงบลง ประหนึ่งเปลวไฟที่ตกลงถึงน้ำแล้วดับไป ฉะนั้น
คุณของการมีสัจจะ
- เป็นคนหนักแน่นมั่นคง
- มีความเจริญก้าวหน้า
- การงานที่ทำนั้นได้ผลดีพิเศษ
- มีคนยอมรับนับถือ และยำเกรง
- ครอบครัวมีความมั่นคง
- ทำดีได้โดยไม่ท้อถอย
โทษของการขาดสัจจะ
- เป็นคนเหลวไหล ไร้สาระ
- ชีวิตตกต่ำ มีแต่ความล้มเหลว
- คนเหยียดหยาม ไม่ยอมรับนับถือ
- หาความเจริญได้ยาก
- หาความสุขในครอบครัวได้ยาก
ผู้ที่สามารถรักษาสัจจะได้จนเป็นนิสัย เท่ากับได้มีโอกาสสะสมสัจจบารมีของตนให้มากขึ้นโดยลำดับ จนมีพลังแสดงผลให้ได้ทันตาเห็น
วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556
ความจริงใจ khaosod
ความจริงใจ
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com
พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "..ผู้ที่มีปัญญาที่สามารถจะทำการงานสำคัญๆ ให้ยึดเป็นหลักเป็นกำลังของบ้านเมืองต่อไปได้นั้น จะต้องเป็นผู้หนักแน่นในสัจจะ คือต้องมีความจริง พร้อมทั้งในคำพูด ในการกระทำ ทั้งในบุคคลอื่น และในตนเอง สิ่งใดที่ตั้งใจจริงต้องปฏิบัติให้ได้ โดยเคร่งครัดครบถ้วน.."
สัจจะ คือความจริงใจ พูดจริง ทำจริง ความซื่อตรง ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นในสิ่งที่ตนปรารถนา สะสมความดีอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด เรียกว่าสัจบารมี สัจจะนี้มีลักษณะ 6 ประการ คือ
1. ความจริง ความซื่อตรงต่อบุคคล
2. ความจริง ความซื่อตรงต่อเวลา
3. ความจริง ความซื่อตรงต่อวาจา
4. ความจริง ความซื่อตรงต่อหน้าที่
5. ความจริง ความซื่อตรงต่อความดี
6. ความจริง ความซื่อตรงต่อตนเอง
1. ความจริง ความซื่อตรงต่อบุคคล คือมีความซื่อสัตย์ จริงใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตน เช่น บิดามารดา ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนๆ ไม่คิดคดโกง ไม่คิดหลอกลวง ไม่คิดนินทาว่าร้ายใครทั้งต่อหน้าและลับหลัง
2. ความจริง ความซื่อตรงต่อเวลา คือเป็นคนตรงต่อเวลา ได้นัดหมายกับใคร เวลาใด แล้วไม่ผิดนัด ไปตรงตามเวลา หรือตั้งใจจะทำอะไรแล้วลงมือปฏิบัติตามเวลาที่กำหนดไว้
3. ความจริง ความซื่อตรงต่อวาจา คือได้รับปากสัญญากับใครไว้ว่าจะทำสิ่งที่ดี สุจริตธรรม และจะไม่กระทำสิ่งไม่ดี แล้วกระทำตามที่ได้ตั้งสัจวาจาเอาไว้ โดยไม่บิดพลิ้ว หรือหลีกเลี่ยงโดยไม่ทำตามที่สัญญาไว้
4. ความจริง ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ของตน ไม่ยอมให้สิ่งต่างๆ มาเป็นอุปสรรค ให้การปฏิบัติหน้าที่เสียหาย ไม่เปิดโอกาสให้ตนเองมีมิตรสหายบริวารเครือญาติมีช่องทางทำการอันเป็นทุจริต เบียดบังภาษีอากรอันเป็นของประเทศชาติมาเป็นของตนเอง หรือไม่ปล่อยให้งานคั่งค้าง ใส่ใจงานในหน้าที่เป็นสำคัญ
5. ความจริง ความซื่อตรงต่อความดี คือความซื่อสัตย์ จริงใจต่อความดีที่ทำไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ยังมั่นคงในความดี ไม่มีหวั่นไหว เสมอต้นเสมอปลาย ร่วมรักษาขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอันดีงาม ผู้ที่มีความซื่อตรงต่อความดีเป็นคนที่น่าสรรเสริญ
6. ความจริง ความซื่อตรงต่อตนเอง คือการไม่โกหกตนเอง ซื่อตรงต่อความคิดที่ดีของตน ซึ่งเป็นความตั้งใจเดิมตามอุดมการณ์เป็นสำคัญ ไม่ยอมให้สิ่งต่างๆ มาทำให้ความตั้งใจ ความซื่อตรงต้องโอนเอน หวั่นไหวได้
สัจจะจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญสำหรับชีวิต เป็นหลักประกันให้ได้รับความไว้วางใจ และได้รับมอบหมายปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญ จะดำเนินกิจการใดๆ ก็ตามจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เพราะได้รับการสนับสนุนและยกย่องนับถือจากคนทั้งหลาย
วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556
ทางแห่งความก้าวหน้าในชีวิต khaosod
ทางแห่งความก้าวหน้าในชีวิต
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com
ธรรมะเป็นเหมือนดวงประทีปส่องทางดำเนินชีวิตให้สว่างไสว เป็นประดุจล้อนำรถไปสู่จุดหมาย ผู้ปฏิบัติธรรมจึงมีความเจริญก้าวหน้า ดำเนินชีวิตอย่างไม่ผิดพลาดสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ เกียรติยศ ชื่อเสียง และความสุข นำเสนอหลักธรรมเพื่อความเจริญก้าวหน้า 4 ประการ คือ
1. อยู่อาศัยในถิ่นฐานที่ดี
2. คบคนดีเป็นมิตร
3. ตั้งตนไว้โดยชอบ
4. เคยทำบุญไว้ก่อน
อยู่อาศัยในถิ่นฐานที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ที่อยู่อาศัยสะดวกสบายในการประกอบสัมมาอาชีพ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ปราศจากภัยพิบัติอันตราย การคมนาคมไปมาสะดวก ประชาชนเป็นคนดีมีศีลธรรม จึงสามารถดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าได้
คบคนดีเป็นมิตร คนดีนั้นมีลักษณะทำดี พูดดี คิดดี การคบสมาคมกับคนดีเป็นมงคลสำหรับชีวิต มีแต่ความเจริญก้าวหน้า เพราะจะได้รับคำแนะนำที่ดี เป็นประโยชน์ทั้งสอง คือของตนและของผู้อื่น กิริยามารยาทของคนดี เป็นเหตุจูงใจให้เราทำดี เป็นตัวอย่างที่ดี ดังภาษิตที่ว่า คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล
ตั้งตนไว้โดยชอบ คือ วางตัวให้เหมาะสมตามวัย ตามหน้าที่ และตามความถูกต้อง เช่น เป็นเด็กต้องวางตัวให้ดีอ่อนน้อมถ่อมตนเหมาะสมกับวัยเด็ก เป็นผู้ใหญ่ต้องมีจิตใจเมตตากรุณาเหมาะสมที่เป็นผู้ใหญ่ วัยทำงานตั้งใจทำหน้าที่การงานให้ดีทุ่มเทกายใจเต็มกำลังความรู้ความสามารถ โดยมุ่งความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ เชื่อมั่นเสมอว่าทำดีต้องมีผลดีเป็นสิ่งตอบแทน หากทุกคนทุกเพศวัยมีธรรมประจำใจ เช่นนี้ ชีวิตจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าสมปรารถนาได้
เคยทำบุญไว้ก่อน ผู้เคยทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ เช่น การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เรียกว่าได้ทำบุญไว้ก่อน บุญจะสนับสนุนให้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีร่างกายสมส่วน มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่ต้องการ เป็นเหตุให้มีโอกาสได้ทำความดีมีความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป
ธรรมะ 4 ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นเหตุให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองพรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติ บริวารสมบัติ มีความสุขกายสบายใจ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)